Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
นักเศรษฐศาสตร์ ภาคเอกชน นักวิเคราะห์ขานรับ กนง.ลดดอกเบี้ยส่งผลดีต่อศก.
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

นักเศรษฐศาสตร์ ภาคเอกชน นักวิเคราะห์ขานรับ กนง.ลดดอกเบี้ยส่งผลดีต่อศก.

17 ต.ค. 67
07:38 น.
|
1.3K
แชร์

นับว่าเป็นการเซอร์ไพร์สกันไปตามๆ กัน เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% มาอยู่ที่ 2.25% โดย กนง.จุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลางยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ทำให้เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี

SPOTLIGHT ได้รวบรวมหลากหลายมุมมองจากทั้งนักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัย ภาคเอกชน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มองอย่างไร? จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยอย่างไร? ข้อดีของการลดดอกเบี้ยมีอะไรบ้าง?

นักเศรษฐศาสตร์ ภาคเอกชน นักวิเคราะห์ขานรับ แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวม

[หอการค้าไทย ชี้ลดดอกเบี้ยครั้งนี้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ]

คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า “การปรับลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติในครั้งนี้ ภาพออกมาดี ที่นโยบายการคลังกับนโยบายการเงิน สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วโลกได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกก็อยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลาย ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้

โดยเชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้ชัดในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเฉพาะค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออกและภาคท่องเที่ยวแข่งขันได้ดีขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และประชาชนต้องแบกรับ การลดครั้งนี้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวเร็วขึ้น 

[กรุงไทย มองดอกเบี้ยนโยบายแตะ 2.00%]

คุณพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า “มติ 5-2 ของ กนง.ให้ลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ถือว่าเซอร์ไพรส์พอสมควร เนื่องจากคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของ กนง. ไม่ได้ต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ แต่เป็นไปได้ว่า กนง.ได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ทำให้ กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง เพื่อบรรเทาภาระหนี้ หลัง กนง.มั่นใจว่ากระบวนการปรับลดหนี้ครัวเรือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการลดดอกเบี้ย”

แม้ในการประชุมครั้งนี้ กนง.จะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป แต่ทว่า มองว่า มีโอกาสที่ กนง.จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.00% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ หากโดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดสงครามการค้าในปีหน้า จนกระทบต่อการค้าโลกและภาคการส่งออกของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ 

นอกจากนี้ ยังไม่ปิดโอกาสที่ กนง.อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีหน้า สู่ระดับ 1.50%-1.75% ได้ แม้ว่า กนง.จะย้ำว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ โดยต้องไม่ต่ำเกินไป จนสร้างปัญหาในระยะยาว 

จึงประเมินว่า หาก Real Neutral Rate ของไทยลดลงสู่ระดับ 0.25% จากแถว 0.50% ตามศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลง นั่นอาจสะท้อนว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมและเป็นกลางของไทยอาจอยู่แถว 2.00%-2.25% บนคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อแถว 2% ดังนั้น หากแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลงหนัก เช่น เศรษฐกิจจีนแทบไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน หลังทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ล่าสุด กนง. ก็สามารถลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้จากระดับที่เป็นกลางดังกล่าว เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ 

อนึ่ง ต้องจับตาการส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายอย่างใกล้ชิด ในงานสัมนา Monetary Policy Forum วันที่ 30 ตุลาคม รวมถึงผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน และแนวโน้มเศรษฐกิจหลักรวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.

[กรุงศรี คงประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ไว้ที่ 2.4%]

โดยคุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “SPOTLIGHT” ว่า การปรับลดดอกเบี้ยของกนง.ในครั้งนี้ ได้สร้างความประหลาดใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากในแถลงข่าวแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่เปลี่ยนจากที่ กนง ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ แต่เข้าใจได้เว่า จะพราะเป็นเรื่องภาวะการเงินตึงตัว และต้องการช่วยบรรเทาภาระหนี้

ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ กรุงศรีฯ ยังคงประมาณการ จีดีพี ปีนี้ไว้ที่ 2.4%  ส่วนค่าเงินบาท อ่อนจาก 33.3 ก่อนประกาศ ขึ้นไป 33.4 แล้วแข็งค่ากลับลงมาที่ 33.2 ตามราคาทองคำตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นนะคะ

[บล.กสิกรไทย ระบุลดดอกเบี้ย ดันหุ้นไทยขึ้นได้ 20-25 จุด]

คุณสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ครั้งนี้ ถือว่าเซอร์ไพร์สตลาด เนื่องจากคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค.2567 ซึ่งเหตุหลักเป็นเรื่องของหนี้ครัวเรือนเป็นหลัก ขณะที่มุมมองของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อยังมีมุมมองที่เหมือนเดิม แต่ก็เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ 

โดยมีมุมมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ มีดังนี้

  1. ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ ไม่นับรวมญี่ปุ่นนั้น ส่วนต่างค่อนข้างกว้าง ซึ่งขณะนี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น
  2. จะช่วยให้ค่าเงินบาทมีโอกาสปรับอ่อนค่าลง จากก่อนหน้านี้ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ส่งออกได้เม็ดเงินในรูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้น และเอื้อประโยชน์ให้การท่องเที่ยวไทย ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น
  3. เป็นผลดีกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนได้
  4. สถานการณ์น้ำท่วมของประเทศในขณะนี้ คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยก็จะช่วยหนุนเศรษฐกิจ

ดังนั้น มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น มีโอกาสที่จะปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 2.00% ซึ่งประเมินว่า เมื่อครั้งนี้ดอกเบี้ยลดแล้ว ในการประชุมครั้งหน้าจะหยุดลดดอกเบี้ย และมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งประมาณกลางปี 2568 

อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.10% ก็มีโอกาสส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับเพิ่มขึ้นได้ 20-25 จุด ซึ่งบล.กสิกรไทย วางเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยไว้ที่ 1,600 จุดในปี 2568 ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มโรงไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ อาทิเช่น GPSC ORI และ MTC

[ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินกนง.ลดดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมครั้งหน้า ธ.ค.]

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง ท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อที่ปรับด้อยลงโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง สะท้อนมุมมองว่า กนง.ให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินเพิ่มขึ้น โดย กนง.เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงยังอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ ซึ่งกนง. ยังมีมุมมองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากเดิม 

โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.7% ในปี 2567 และ ที่ 2.9% ในปี 2568 ขณะที่มองเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบล่างของเงินเฟ้อ ทำให้กนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงมาอยู่ที่ 2.25% สวนทางตลาดคาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายกนง.ในช่วงปลายปีนี้ และมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งกนง.ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.5% ในปี 2567 และ 1.2% ในปี 2568

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุมครั้งหน้าในเดือนธ.ค. 2567 แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ และมองมีโอกาสที่กนง.อาจปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งหน้า หากความกังวลของกนง.เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ยังไม่คลี่คลายลง

อย่างไรก็ดี หากธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดดอกเบี้ยตาม รวมถึง หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามคาด ก็มีโอกาสที่กนง.อาจคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งกนง.คงพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากข้อมูลที่ออกมาระหว่างทางเป็นสำคัญ รวมถึง คงต้องติดตามมาตรการทางการคลังที่อาจออกมาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หลังจากผลการประชุมกนง. ออกมาค่าเงินบาทขยับอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาอยู่ที่ราว 33.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยตอบรับด้วยการปรับขึ้นจากระดับ 1,467 จุดมาอยู่เหนือระดับ 1,480 จุด

กล่าวโดยสรุป คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ในครั้งนี้ ได้สร้างความเซอร์ไพร์สให้กับตลาดเป็นอย่างมาก เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นได้จากที่อยู่ในแดนลบ กลับขึ้นมาอยู่ในแดนเขียวทันทีหลังจากที่มีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเกือบ 23 จุด

โดยในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ มีความน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เมื่อประมาณการเศรษฐกิจภาพรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีการลดดอกเบี้ยลง ทำให้หลายฝ่ายมีการตั้งคำถามว่า แบงก์ชาติยังมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอยู่หรือไม่? หรือแบงก์ชาติเชื่อว่า การปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาระหนี้ครัวเรือนได้จริงๆ 

ดังนั้น จากนี้ไปคงต้องติดตามดูธนาคารพาณิชย์จะขานรับและตอบสนองกับการลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ได้มากน้อยแค่ไหน และมีความรวดเร็วหรือไม่ อย่างไร? ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงใช่ไหม?

แชร์
นักเศรษฐศาสตร์ ภาคเอกชน นักวิเคราะห์ขานรับ กนง.ลดดอกเบี้ยส่งผลดีต่อศก.