Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
แบงก์แห่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุด 0.25% เช็คอัตราล่าสุดที่นี่
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

แบงก์แห่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุด 0.25% เช็คอัตราล่าสุดที่นี่

23 ต.ค. 67
13:44 น.
|
1.5K
แชร์

หลังจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.50% มาที่ 2.25% เมื่อการประชุมวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ขณะนี้บรรดาธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐต่างพร้อมใจกันประกาศอัตราดอกเบี้ยนเงินกู้ลงสูงสุดคือ  0.25% โดยเกือบทุกแบงก์ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ใหม่มีผล 1 พ.ย.67 ยกเว้น ธนาคารกรุงเทพ ที่ให้มีผลในวันที่ 24 ต.ค.67

สำรวจอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ล่าสุด 

จากการรวบรวมข้อมูลของ SPOTLIGHT พบว่า ธนาคารส่วนใหญ่จะลดดอกเบี้ยต่ำสุด 0.10% ถึง 0.25% ยกเว้นธนาคารกรุงเทพ ที่ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงต่ำสุด ที่  0.05 %/ปีและลดดอกเบี้ยสูงสุดที่ 0.20%

แบงก์ลดดอกเบี้ย

ธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate - MLR) ต่ำที่สุด คือ ธ.ก.ส. อยู่ที่ 6.125%  สูงสุดคือ ทีเอ็มบีธนชาติ 7.60% ต่อปี   ส่วนธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate - MOR) ต่ำที่สุดคือธนาคารอาคารสงเคราะห์ อยู่ที่ 6.40%ต่อปี   สูงสุดคือ SME D Bannk 7.80% ต่อปี  และธนาคารที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate - MRR)  ต่ำที่สุด คือ เอ็กซิมแบงก์  MRR เทียบเท่ากับอัตราดอกเบี้ย Prime Rate อยู่ที่ 6.35%  สูงสุดคือ  SME D Bannk 7.80% ต่อปี

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันธนาคารต่างๆยังไม่ได้มีการปรับลดลงแต่อย่างใด โดยบางธนาคารระบุว่าจะคงระดับเดิมให้ได้นานที่สุด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน ภาระดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อยลดลง 1,300 ล้านบาท 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลไกการส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ปรับผ่อนคลายลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาสู่ตลาดสินเชื่อ คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 40.9% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย

ขณะที่ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจปรับลดลงเกือบ 1,300 ล้านบาท (คำนวณผลของภาระดอกเบี้ยที่จะปรับลดลงเฉพาะช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2567 โดยยังไม่ได้นับรวมสินเชื่อส่วนที่จะเข้าสู่ช่วงการปรับอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า

แบงก์ลดดอกเบี้ย

แต่อย่างไรก็ตามการลดดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้อาจไม่มีผลทำให้ค่างวดผ่อนของลูกหนี้ในแต่ละเดือนเปลี่ยนแปลง คือไม่ได้ทำให้สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ของลูกหนี้ปรับลดลงในทันที เนื่องจากลักษณะสัญญาสินเชื่อทั่วไปของลูกหนี้รายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกันในช่วงสัญญาอัตราดอกเบี้ยลอยตัว และสินเชื่อเพื่อการลงทุนในกรณีของสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs จะมีการกำหนดยอดผ่อนต่อเดือนที่คงที่ (ประกอบด้วยผ่อนดอกเบี้ย+เงินต้น) ซึ่งการลดดอกเบี้ยจะมีผลในการลดยอดผ่อนดอกเบี้ย แต่ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินจะเพิ่มยอดหักเงินต้นให้ ดังนั้น ประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับจะอยู่ในรูปของการปิดสัญญาหนี้ก้อนนั้นได้เร็วขึ้นแต่ลูกหนี้ยังต้องสำรองเงินเพื่อรองรับการผ่อนชำระเงินงวดในแต่ละเดือนไว้เช่นเดิม และในทางปฏิบัติ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขนาด 0.25% น่าจะยังไม่มีผลต่อการปรับค่างวดผ่อนหนี้ในแต่ละเดือน 

ทั้งนี้คำแนะนำของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า หากลูกหนี้ต้องการลดภาระรายจ่ายโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องอาศัยการลดค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่  หมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ หมวดที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน และหมวดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะและการเดินทาง

ขณะที่ 3 ลำดับแรกของต้นทุนภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ได้แก่ หมวดวัตถุดิบ หมวดแรงงาน และหมวดค่าเช่าสถานที่ต่างๆ ซึ่งรายการค่าใช้จ่ายดังกล่าวล้วนเป็นหมวดที่ใหญ่กว่ารายจ่ายดอกเบี้ยอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับภาพรวมทั้งปี 2567 อัตราการเติบโตของสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยอาจปิดปี 2567 ในระดับไม่เกิน 1.5% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่เริ่มปรับลดลงมาตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่ประเมินว่า ทั้งผู้กู้รายย่อยและภาคธุรกิจจะพิจารณาปัจจัยแวดล้อมในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะสถานการณ์และแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมในระยะข้างหน้า ที่กระทบแผนการลงทุน การบริโภค รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต ก่อนที่จะเบิกใช้สินเชื่อด้วยเช่นกัน

หลายธนาคารต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางไปจนถึงสิ้นปี 2567

  • ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย คงดอกเบี้ยเงินฝาก ลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% และต่ออายุโครงการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางถึงสิ้นปี 2567 โดยนายจงรัก รัตนเพียร ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารพร้อมตอบรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.50% เป็น 2.25% โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสูงสุด 0.25% เพื่อช่วยดูแลและเพิ่มสภาพคล่องโดยการแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการรายเล็กที่รายได้ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวและภาระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ธนาคารยังขยายระยะเวลาสำหรับโครงการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบางไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติมให้สามารถปรับตัวในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วนและยังคงมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย

ฟากของธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ออกมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคลและ SME รายย่อย ตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2567 ถึง 15 พฤศจิกายน 2567 นั้น ธนาคารได้พิจารณาขยายมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2567

  • ธนาคารกรุงไทย

ส่วนธนาคารกรุงไทย ขานรับมาตรการภาครัฐ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR MLR และ MRR พร้อมต่ออายุมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สำหรับมาตรการพิเศษในการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่ม ได้แก่

1.ลูกค้าสินเชื่อบุคคลรายย่อยที่ยังอยู่ในมาตรการความช่วยเหลือของธนาคารฯ ทั้งสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อส่วนบุคคล

2.ลูกค้าสินเชื่อบ้านที่มีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท

3.ลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME รายย่อยที่มีรายได้กิจการต่อเดือนไม่เกิน 2 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่15 พฤศจิกายน 2567 นั้น เนื่องจากลูกหนี้ กลุ่มเปราะบางดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวและปรับตัวได้ช้า ตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ซึ่งลูกหนี้ กลุ่มเปราะบางเหล่านี้อาจมีระดับหนี้ที่สูง ความสามารถในการมีรายได้ในระดับที่ยังไม่เพียงพอกับรายจ่ายอย่างเหมาะสม และยังอยู่ระหว่างที่ภาครัฐกำลังเร่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ธนาคารจึงยังมีการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมดังกล่าวต่อเนื่องออกไปอีกจนถึง 31 มีนาคม 2568 จากมาตรการดังกล่าว ธนาคารสามารถช่วยลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าได้มากกว่า 3 แสนบัญชี ต่อเนื่องออก ไปอีก คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมมากกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้อัตโนมัติสำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางทั้ง 3 กลุ่มที่มียอดสินเชื่อกับธนาคาร ณ 31 มีนาคม 2567

  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 

ด้าน ธ.ก.ส.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุดร้อยละ 0.25 พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ส่งเสริมวินัยการออม ซึ่งนายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธ.ก.ส. ระบุ พร้อมสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ ในการดูแลปัญหาหนี้สิน พัฒนาคุณภาพชีวิต และรายได้ของ เกษตรกรอย่างยั่งยืน ผ่านมาตรการและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคาร อาทิ มาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย โครงการหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. ควบคู่กับการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและ การประกอบอาชีพ เช่น สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร ระยะที่ 2 สินเชื่อแทนคุณ และสินเชื่อเงินด่วนคนดี สำหรับ สมาชิก อสม. และ อสส. และมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับหนี้นอกระบบ เป็นต้น

  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

ปิดท้ายที่ SME D Bank ช่วยผู้ประกอบการลดภาระ ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ลงสูงสุด 0.25% มีผล 1 พ.ย. 67 ควบคู่เสิร์ฟสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หนุนยกระดับสู่ธุรกิจสีเขียวเติบโตเข้มแข็งยั่งยืน โดยนายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เสริมว่า นอกจากการลดอัตราดอกเบี้ยแล้วธนาคารยังพร้อมบริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดภาระ มีสภาพคล่องเพียงพอ  และสนับสนุนให้เดินหน้าสู่ธุรกิจสีเขียวเติบโตอย่างยั่งยืน เช่น สินเชื่อ "SME Green Productivity"  ช่วยยกระดับเพิ่มผลิตภาพให้ธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม   อัตราดอกเบี้ยเพียง 3% ต่อปี คงที่ตลอด 3 ปีแรก   เงินสูงสุด 10 ล้านบาท  ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี อีกทั้ง ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน  มีหรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ก็กู้ได้ ควบคู่บริการด้านการพัฒนา ผ่านแพลตฟอร์ม “DX by SME D Bank” (dx.smebank.co.th)  เสริมแกร่งธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ครบถ้วนในจุดเดียว

แชร์
แบงก์แห่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ สูงสุด 0.25% เช็คอัตราล่าสุดที่นี่