อินไซต์เศรษฐกิจ

วิจัยฝรั่งชี้ "ไทย" เป็นพื้นที่เลี้ยงไก่แห่งแรกในโลก 3,670 ปีก่อน!

10 มิ.ย. 65
วิจัยฝรั่งชี้ "ไทย" เป็นพื้นที่เลี้ยงไก่แห่งแรกในโลก 3,670 ปีก่อน!

รู้หรือไม่! "ประเทศไทย" เป็นพื้นที่เลี้ยงไก่แห่งแรกในโลก งานวิจัยของต่างชาติชี้พิกัดอยู่ที่บ้านโนนวัด โคราช ย้อนกลับไปถึงยุคหินใหม่ 3,670 ปี และไก่เลี้ยงยุคแรกก็ไม่ได้เลี้ยงเอาไว้กิน!


เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดเผยงานวิจัยใหม่ล่าสุดที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ PNAS และ Antiquity ว่า มีการค้นพบหลักฐานเก่าแก่บ่งชี้ว่า ไก่ป่าอาจถูกมนุษย์นำมาเป็นสัตว์เลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์จนกลายมาเป็น "ไก่บ้าน" ครั้งแรก "ที่ประเทศไทย" ในช่วงรอยต่อระหว่างปลายยุคหินใหม่กับยุคสำริด ระหว่าง 1,650 - 1,250 ปีก่อนคริสตกาล (หรือประมาณ 3,670 ปีก่อน)   
  

การค้นพบนี้นับเป็นการหักล้างข้อสันนิษฐานเดิมๆ ก่อนหน้านี้ว่า พื้นที่เลี้ยงไก่แห่งแรกของโลกอาจอยู่ในแถบเอเชีย ยุโรปตะวันออก หรือแถบเมโสโปเตเมีย
  

หลักฐานที่ค้นพบก็คือ กระดูกไก่บ้านอายุเก่าแก่ประมาณ 3,670 ปี ที่พบในหลุมฝังศพของแหล่งโบราณคดี บ้านโนนวัด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา โดยหลักฐานนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่ทราบกันอยู่เดิมแล้วว่า ไก่ป่า (Red junglefowl) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นบรรพบุรุษของไก่บ้านหลากสายพันธุ์ที่ผู้คนทั่วโลกเลี้ยงกันอยู่ทุกวันนี้

chic

จุดเริ่มต้นนี้มาจากการที่นักวิจัยและนักโบราณคดีเขาสงสัยว่า "ไก่" ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญมากทั่วโลกในทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงในบ้านมาตั้งแต่เมื่อไร


ทีมวิจัยจึงได้ทำการตรวจสอบอายุของซากกระดูกไก่ที่พบตามแหล่งโบราณคดีทั่วโลก 600 แห่ง ใน 89 ประเทศเสียใหม่ ทำให้พบว่า มีการคาดคะเนอายุของกระดูกไก่โบราณจากแถบยูเรเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือ "ผิดพลาด" อันเป็นที่มาของความเข้าใจผิดก่อนหน้านี้ว่า ภูมิภาคดังกล่าวคือแหล่งกำเนิดของไก่บ้านที่มีอายุเก่าแก่ราว 6,000 - 10,000 ปี


ทีมวิจัยพบว่า ซากกระดูกที่พบในโบราณสพถานแห่งหนึ่งในประเทศบัลแกเรีย ซึ่งเคยประเมินว่ามีอายุ 7,500 ปีนั้น เมื่อนำมาตรวจสอบใหม่โดยการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (Radiocarbon dating) กลับพบว่า มีอายุประมาณ 1959 - 1985 เท่านั้น


ในทางตรงกันข้าม หลังฐานที่เก่าแก่ที่สุดคือหลักฐานที่พบใน "โคราช" ที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ต่างหาก โดยมีอายุในช่วง 1,650 - 1,250 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 3,670 ปีก่อน

060622_bb_chicken-domesticati

ดร. โอฟีลี เลอบราสเซอร์ จากศูนย์มานุษยชีววิทยาและจีโนมิกส์แห่งนครตูลูส ฝรั่งเศส บอกว่าพบกระดูกไก่บ้านจากยุคโบราณจำนวนมากที่แหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ประเทศไทย ทั้งยังพบว่าไก่เหล่านั้นถูกฝังอย่างระมัดระวังรวมกับร่างมนุษย์ในหลุมศพ โดยไม่พบร่องรอยว่ามันถูกเชือดแต่อย่างใด


หลักฐานที่พบนี้ จึงพอจะบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับไก่บ้านในเชิง "พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์" มากกว่าจะเป็นการเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหาร


วัฒนธรรมการฝังไก่ที่เลี้ยงไว้ในหลุมศพของมนุษย์โบราณนั้น พบในช่วงยุคสำริดและยุคเหล็กของยุโรปเช่นกัน โดยไก่ถูกมองว่าเป็น "สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถนำทางวิญญาณมนุษย์ไปสู่ปรโลกได้" อย่างไรก็ตาม ความเชื่อดังกล่าวได้เสื่อมสูญไปและเริ่มมีการเลี้ยงไก่เพื่อกินเนื้อและไข่เป็นอาหาร ในยุคของจักรวรรดิโรมันโบราณ

istock-1217649450

ดร. เลอบราสเซอร์ยังสันนิษฐานว่า ไก่ป่าในอดีตละทิ้งที่อยู่อาศัยบนต้นไม้ของมัน และลงมาหากินบนพื้นดินใกล้บ้านเรือนของมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังเริ่มมีการทำนาปลูกข้าวแบบแห้ง (dry rice) โดยเมล็ดข้าวคือสิ่งล่อใจให้ไก่ป่าเข้าใกล้คน ก่อนจะเกิดการคัดเลือกปรับปรุงสายพันธุ์จนกลายเป็นไก่บ้าน ในทำนองเดียวกับที่สุนัขป่าบางตัวถูกคัดเลือกโดยมนุษย์และกลายมาเป็นสุนัขบ้านนั่นเอง


ที่มา: บีบีซีไทย, PNAS, Sciencenews, Newscientist

advertisement

SPOTLIGHT