Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จับตาโดมิโน "วิกฤตศรีลังกา" ใครเสี่ยงเบี้ยวหนี้รายต่อไป?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

จับตาโดมิโน "วิกฤตศรีลังกา" ใครเสี่ยงเบี้ยวหนี้รายต่อไป?

12 ก.ค. 65
10:17 น.
|
2.4K
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในศรีลังกา อาจจะขยายวงลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่มีความเปราะบางไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการ "แบกหนี้" ท่วมถึงเกือบ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ จากผลพวงของการกู้ยืมกันอย่างหนักในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำตลอดหลายปีที่ผ่านมา

"ศรีลังกา" นับเป็นประเทศแรกที่หยุดจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรต่างประเทศ เป็นรายแรกของปี 2022 นี้ ซึ่งถือเป็นการ "ผิดนัดชำระหนี้" (Default) และเป็นการสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจประเทศได้อย่างชัดเจนที่สุดรูปแบบหนึ่ง

โดยปกติแล้ว ไม่มีประเทศไหนยอมเสียเครดิตถูกขึ้นบัญชีผิดนัดชำระหนี้กันง่ายๆ เพราะเป้นปัญหาที่ต้องจ่ายคืนกลับในราคาแพง หนี้เดิมที่เบี้ยวดอกเบี้ย หรือทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นนั้น ก็ต้องไปต่อสู้ถูกฟ้องร้องในชั้นศาล มีการยึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้คืนตามที่ศาลเห็นสมควร

ส่วนจะขอกู้ใหม่ก็ไม่ง่ายแล้ว เพราะเมื่อเบี้ยวหนี้ ก็จะถูกบริษัทจัดอันดับเครดิตต่างๆ เช่น Fitch, S&P หรือ Moody's ปรับลดอันดับเครดิตลง ทำให้ต้นทุนกู้ยืมรอบใหม่ทั้งแพงขึ้นและยากขึ้น

ในทางปฏิบัตินั้น จึงแทบไม่มีประเทศไหนปล่อยให้ตัวเองเดินมาถึงขั้นติดบัญชีดำเบี้ยวหนี้ จะไปกู้ยืมแบบทวิภาคีกับประเทศที่สนิทกันก็ว่าไป เพราะการเบี้ยวหนี้ถือเป็นการยอมรับ "ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง" เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ อาร์เจนติน่า และยังเป็นปัญหาคาราคาซังมาจนถึงทุกวันนี้

ประเด็นที่น่ากังวลก็คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในศรีลังกา อาจจะขยายวงลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่มีความเปราะบางไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการ "แบกหนี้" ท่วมถึงเกือบ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ จากผลพวงของการกู้ยืมกันอย่างหนักในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำตลอดหลายปีที่ผ่านมา

artboard1(31)

สำนักข่าว Bloomberg ได้เปิดเผยการจัดอันดับประเทศที่เสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งพบว่าหลายประเทศ เช่น เอลซัลวาดอร์ กาน่า อียิปต์ ตูนีเซีย และปากีสถาน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เมื่อมองจากดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงมากกว่า 10% ขึ้นไป (ยิ่งดอกเบี้ยสูง ยิ่งสะท้อนความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงเบี้ยวหนี้)

รายงานระบุว่า เฉพาะช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่มีบอนด์ยีลด์สูงกว่า 10% เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว หรือมีทั้งหมด 19 ประเทศ และยังเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันถึงกว่า 900 ล้านคนอีกด้วย

ในจำนวนประเทศที่มีปัญหาเหล่านี้ มีหนี้พันธบัตรรวมกันมากถึง 2.37 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 8.5 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 17% ของพันธบัตร(สกุลต่างประเทศ) ในตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด

แม้จะไม่ใช่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่หรือสำคัญกับซัพพลายเชนโลกมากกว่า เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม แต่มันก็เป็นการสะท้อนถึง "ความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ" ของการเปลี่ยนยุคสมัยการเงินจากยุคดอกเบี้ยต่ำไปสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ที่มาพร้อมกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยไปด้วย เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ได้แกร่งพอที่จะรองรับการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่แบกทั้งหนี้และเงินเฟ้อไปพร้อมกัน โดยที่ "ทุนสำรองระหว่างประเทศ" (เงินสกุลต่างประเทศ) มีน้อยกว่า และยังอ่อนค่ากว่ามากเมื่อเทียบดอลลาร์และสกุลเงินหลักอื่นๆ

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ศรีลังกา เพราะประเทศพึ่งพาเงินดอลลาร์จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่เมื่อเจอโควิดก็ช็อตหนัก ส่วนการส่งออกนั้นก็ย่ำแย่ ทำให้ประเทศไม่มีเงินสกุลต่างประเทศมากพอที่จะนำเข้าสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมัน และวัตถุดิบต่างๆ ที่สำคัญ ทำให้ประเทศเผชิญ "วิกฤตเศรษฐกิจ" อย่างหนัก เมื่อคนไม่มีกิน ไม่มีใช้ ถึงขั้นอดอยาก สถานการณ์ก็ลุกลามกลายเป็น "วิกฤตชาติ" ประชาชนถึงขั้นบุกไล่ประธานาธิบดีถึงบ้านพัก รัฐบาลต้องลาออกยกชุดเพราะไม่แก้ปัญหาหรือบริหารจัดการประเทศได้

หากสถานการณ์เช่นในศรีลังกา ลุกลามออกไปสู่ประเทศอื่นๆ เช่น กลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงเบี้ยวหนี้ตามที่ระบุไว้ข้างต้น เราอาจได้เห็นวิกฤตรอบใหม่ที่มาเยือนก่อนความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของโลกตะวันตก ก็เป็นได้

แชร์
จับตาโดมิโน "วิกฤตศรีลังกา" ใครเสี่ยงเบี้ยวหนี้รายต่อไป?