Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เงินบาทไทยเดือนก.ย.อ่อนสุดในเอเซีย 3.7% ไตรมาส 4 คาด 34.50-37.00 บาท
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เงินบาทไทยเดือนก.ย.อ่อนสุดในเอเซีย 3.7% ไตรมาส 4 คาด 34.50-37.00 บาท

27 ก.ย. 66
12:15 น.
|
786
แชร์

ขณะนี้สถานการณ์ค่าเงินบาทไทยเป็นที่น่าจับตามองของทุกคนในประเทศ ทั้งผู้ประกอบการเล็กใหญ่ ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ แม้แต่ผู้ที่มีการลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา ผู้ลงทุนทอง เมื่อค่าเงินบาทของไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปรับตัวอ่อนค่า จนหลายคนสงสัยว่า ค่าเงินบาทไทย “เสื่อมค่า” แล้วจริงหรือ 

วันนี้! SPOTLIGHT จะพามาฟังความเห็นจากผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ไทยที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน โดยตรงมีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไร?

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ SPOTLIGHT ว่า “ค่าเงินบาทไทยยังไม่ถือว่าเป็นการเสื่อมค่า ต้องเรียกว่า “อ่อนค่า” มากกว่าสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเซีย โดยเดือนก.ย.ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ไป  3.7% ไม่รวมค่าเงินเยนของญี่ปุ่น เนื่องจากค่าเงินเยนถือเป็นกลุ่มสกุลเงินหลัก”

โดยจากตัวเลขความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานั้น พบว่า

อันดับ 1 เงินบาท ไทย อ่อนค่าลง 3.7% มากที่สุด

อันดับ 2 เงินวอน เกาหลี อ่อนค่าลง 1.93%

อันดับ 3 เงินรูปี  อินโดนีเซีย อ่อนค่าลง 1.68%

อันดับ 4 ดอง เวียดนาม อ่อนค่าลง 1.24%

อันดับ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ อ่อนค่าลง 1.19%

กรุงศรีมอง​​ไตรมาส 4 เงินบาทผันผวนกรอบ 34.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ อ่อนกว่าคาด

โดยระยะสั้น ค่าเงินบาทและค่าเงินสกุลอื่นๆ จะปรับตัวอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ ขณะที่ตลาดตอบรับสัญญาณตรึงดอกเบี้ยสูงยาวนานของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) โดยผู้ร่วมตลาดคาดว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า เทียบกับการคาดการณ์เดิมที่อาจเริ่มลดดอกเบี้ยลงต้นปี 

อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้น 11 สัปดาห์ติดต่อกัน สะท้อนข่าวร้ายของสกุลเงินต่างๆไปมากพอสมควรแล้ว

หากเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น คาดว่าเงินบาทจะพลิกทิศทางกลับมาแข็งค่าได้บ้าง อีกทั้ง ปลายปีเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวซึ่งรัฐบาลพยายามสนับสนุนเต็มที่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นกดดันค่าเงินบาทยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก กระแสเงินทุนไหลออก รวมถึงการที่นักลงทุนไม่แน่ใจว่าการก่อหนี้ภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นนั้นคุ้มค่ากับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด โดยวางเป้าหมายปิดสิ้นปี 2023 ที่ราว 35 บาท

กรุงไทยเชื่อเงินบาทไม่อ่อนค่าถึง 37-38 บาท/ดอลลาร์แล้ว

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า “เบื้องต้นประเมินว่า เงินบาทอาจจะไม่ได้อ่อนค่ากลับไปแถว 37-38 บาทต่อดอลลาร์ เหมือนปีก่อน ตราบใดที่ เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย มากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot”

ทั้งนี้ เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ หากตลาดการเงินเผชิญภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ซึ่งมักจะทำให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จากความต้องการถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย 

โดยมองแนวต้านเงินบาทในระยะสั้นแถว 36.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่ต้องยอมรับว่า หากมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติม จนเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับดังกล่าว ก็มีความเสี่ยงที่เงินบาทจะอ่อนค่าต่อได้เร็วไปแถว 36.75-36.85 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นแนวต้านถัดไป 

3 เหตุผลที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ นอกเหนือจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ คือ 

  1. มีเงินไหลเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หากราคาทองคำปรับฐานต่อเนื่อง ซึ่งมักจะเกิดขึ้น ในจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
  2. แรงขายสินทรัพย์ไทย โดยนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย และบอนด์ไทยรวมแล้วเกือบ 3 แสนล้านบาท เป็นการขายหุ้นไทยแล้วประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และบอนด์ไทยขายสุทธิประมาณ 1.4 แสนล้านบาท 

ทั้งนี้ เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ อาจชะลอลงมากขึ้น หลังดัชนี SET ได้ย่อตัวใกล้โซนแนวรับสำคัญ ซึ่งทำให้ในเชิง valuation หุ้นไทยถือว่า ไม่แพงและถูกกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา 

อย่างไรก็ดี แรงขายบอนด์ไทยอาจยังมีอยู่บ้าง จนกว่า นักลงทุนต่างชาติจะคลายกังวลประเด็นความเสี่ยงเสถียรภาพการคลังของไทย และที่สำคัญต้องเห็นบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หยุดปรับตัวขึ้นหรือย่อตัวลง

    3. ราคาน้ำมันดิบ ยังปรับตัวสูงขึ้นต่อ สร้างความกังวลต่อแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ที่อาจเกิดดุลน้อยลง หรือ อาจเสี่ยงขาดดุลได้ หากราคาน้ำมันดิบทรงตัวเหนือระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลขึ้นไป

ประเมินสิ้นปี ค่าเงินแข็งค่าขึ้นระดับ  33.75-34.25 บาท/ดอลลาร์ 

นายพูน กล่าวต่ออีกว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้นได้ไม่ยาก ตามการอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ เพราประเมินว่าภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ต่างจากเฟดชัดเจน ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุลตามช่วงพีคซีซั่นของการท่องเที่ยว และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาตที่จะกลับเข้าตลาดทุนไทยบ้าง 

โดยกรุงไทยประเมินค่าเงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าใกล้ระดับ 33.75-34.25 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นปี ได้ (ปรับอ่อนค่าลง จากเดิม มองไว้ แถว 32.80 บาทต่อดอลลาร์)

แชร์
เงินบาทไทยเดือนก.ย.อ่อนสุดในเอเซีย 3.7% ไตรมาส 4 คาด 34.50-37.00 บาท