Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ย้อนรอยการพัฒนาเศรษฐกิจสิงค์โปร์ ผ่าน 3 นายกฯ ทำไมสิงคโปร์ถึงเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ใน 60 ปี?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ย้อนรอยการพัฒนาเศรษฐกิจสิงค์โปร์ ผ่าน 3 นายกฯ ทำไมสิงคโปร์ถึงเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ใน 60 ปี?

28 พ.ค. 67
15:10 น.
|
1.4K
แชร์

ในที่สุดในวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ‘สิงคโปร์’ ก็มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว นั่นก็คือ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ (Lawrence Wong) นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของสิงคโปร์ที่มารับหน้าที่ต่อจากลีเซียนลุง ดูแลเศรษฐกิจของหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากจำนวนนายกรัฐมนตรี หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่าเป็นตัวเลขที่น้อย แต่แท้จริงแล้ว สิงคโปร์เป็นประเทศที่อายุยังน้อยมาก เพราะเพิ่งได้รับเอกราชมาเมื่อปี 1965 ทำให้มีอายุยังไม่ถึง 59 ปี ซึ่งเมื่อนับเป็นอายุคนก็ยังไม่เกษียณอายุทำงานเสียด้วยซ้ำ

afp__20240515__34rm9g9__v2__h

แต่แม้จะอายุยังน้อย มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติไม่มาก และมีพื้นที่เพียง 710 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่ากรุงเทพมหานคร สิงคโปร์กลับสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว และใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปีในการเปลี่ยนจากประเทศรายได้ต่ำมาเป็นประเทศที่มีรายได้สูงเป็นอันดับสามของโลกในปัจจุบัน

โดยหลังจากได้รับเอกราชเพียง 26 ปี ในปี 1991 รายได้ต่อหัวของสิงคโปร์ได้ทะลุระดับ 14,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว ซึ่งเกินระดับรายได้ของประเทศรายได้สูงของธนาคารโลก ก่อนจะขึ้นมาเป็น 47,236.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวในปี 2010 และขึ้นเกือบอีกเท่ามาเป็น 82,807.63 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวในปี 2022 ขณะที่ไทยอยู่ที่ 6,909.96 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวเท่านั้น

สิงคโปร์ทำอย่างไรจึงกลายมาเป็นประเทศรายได้สูงได้ในเวลาไม่ถึง 60 ปี?

เพื่อหาคำตอบ ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนรอยดูพัฒนาการการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาะเล็กๆ แห่งนี้กัน ผ่านการทำงานของนายกรัฐมนตรี 3 คนของสิงคโปร์ คือ ลีกวนยู (Lee Kuan Yew), โก๊ะจ๊กตง (Goh Chok Tong) และลีเซียนลุง (Lee Hsien Loong) 

ประตูเชื่อมตะวันตกสู่ตะวันออก เมืองท่าชั้นเอกของอาณานิคมอังกฤษ

ก่อนไปพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในยุคปัจจุบัน ต้องย้อนกลับไปดูการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในช่วงที่ยังเป็นอาณานิคมกันก่อนว่าได้สร้างรากฐานไว้สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ของสิงคโปร์ไว้อย่างไรบ้าง

ก่อนที่จะมาเป็นประเทศที่มีเอกราชในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสิงคโปร์เริ่มตึ้นขึ้นในปี 1819 หลังเซอร์ โธมัส แสตมฟอร์ด ราฟเฟิลส (Sir Thomas Stamford Raffles) ได้เดินทางมาถึงเกาะสิงคโปร์ และตั้งเกาะแห่งนี้เป็นท่าการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) เพราะมองว่ามีที่ตั้งที่เหมาะเป็นทางผ่านของสินค้าอังกฤษสู่อาเซียน คืออยู่ระหว่างคาบสมุทรมลายู และหมู่เกาะต่างๆ พอดี

การอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ ทำให้สิงคโปร์กลายสภาพจากเกาะชาวประมงที่มีผู้อยู่อาศัยเพียงประมาณ 150 คน กลายเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค และเมืองท่าเสรีปลอดภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในระบบเศรษฐกิจเอเชียและตะวันตกขณะนั้น ทำให้เรือจากทั่วโลกสามารถค้าขายได้อย่างเสรีในสิงคโปร์ โดยมีการกำหนดภาษีสำหรับสินค้าบางประเภทเท่านั้น คือ ยาสูบ ฝิ่น แอลกอฮอลล์ และปิโตรเลียม

our-history-longlongtime-rect

ในช่วงนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจสำคัญของสิงคโปร์คือการให้บริการท่าเรือ และการซื้อสินค้าเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศอื่น ทั้งจากอาเซียนและจีนไปสู่อินเดียและยุโรป และในทางกลับกัน

กิจกรรมเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทำให้มีประชากรจากจีน อินเดีย และประเทศอาหรับอพยพเข้าไปตั้งรกรากทำงานในสิงคโปร์เป็นจำนวนมาก โดยในปี 1836 สิงคโปร์มีประชากรเพิ่มเป็นถึง 30,000 คน ซึ่งการที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติและภาษาเข้าไปอยู่ในสิงคโปร์นี้เอง จะเป็นปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์มีจุดเด่นและข้อได้เปรียบในด้านคุณภาพและความหลากหลายของแรงงานในอนาคต

ในปี 1869 การค้าของสิงคโปร์คึกคักขึ้นไปอีกหลังจากมีการขุดคลองสุเอซ ซึ่งช่วยร่นระยะทางเดินเรือให้เรือสินค้าไม่ต้องเดินทางข้ามแหลมกู้ดโฮป ทำให้การขนส่งสินค้าจากตะวันตกมาเอเชียทำได้ง่ายขึ้น และทำให้สิงคโปร์เป็นทางผ่านของสินค้าสำคัญมากมาย เช่น ยางพารา ดีบุก ฝ้าย ผ้าขนสัตว์ และฝิ่น

การเปิดคลองสุเอซส่งผลให้มูลค่าการค้าของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจาก 70.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 1870 มาเป็น 653.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในปี 1915 และ 1,886.7 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ในปี 1926

โดยปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ในช่วงปี 1819-1942 ได้แก่ 

  • ทำเลที่ตั้ง เนื่องจากสิงคโปร์ตั้งอยู่ตรงทางเข้าช่องแคบมะละกา จึงสามารถควบคุมหนึ่งในสองประตูการค้าระดับโลกระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ได้ นอกจากนี้ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ยังเป็นอ่าวจอดเรือตามธรรมชาติ เป็นท่าเรือขนส่งและกระจายสินค้าเชื่อมฝั่งตะวันออกกับตะวันตกระหว่างอินเดียกับจีน และเป็นจุดรวบรวมสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • นโยบายท่าเรือปลอดภาษี เนื่องจากสิงคโปร์ไม่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ต้องจ่ายเมื่อเข้าเมือง หรือจ่ายให้กับท่าเรือและอู่เรือ โดยมีการกำหนดภาษีศุลกากรเฉพาะสินค้าเพียงบางประเภท
  • ความหลากหลายเป็นสากล และสังคมพหุลักษณ์ เพราะเมื่อสิงคโปร์ได้รับการพัฒนาเป็นเมืองท่าขนส่งสินค้าและศูนย์กลางการค้า เศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองก็ดึงดูดให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม มาอาศัยอยู่ร่วมกัน 

historical-development-07

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 จุดเปลี่ยนจากเมืองท่าสู่ประเทศอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ในปี 1941 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อสิงคโปร์ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น เศรษฐกิจสิงคโปร์ประสบภาวะชะงักงันอย่างรุนแรงจากภาวะสงคราม จนแม้ในปี 1945 หลังสิงคโปร์กลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกครั้ง เหล่าชนชั้นนำของสิงคโปร์ก็รู้ว่าประเทศจะพึ่งการค้าขายในฐานะเมืองท่าต่อไปไม่ได้อีกแล้ว

ในช่วง 20 ปีระหว่างปี 1945-1965 นี้เอง การเปลี่ยนแปลงสำคัญของการเมืองและเศรษฐกิจสิงคโปร์  จึงเกิดขึ้น ในด้านการเมืองคือการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอาณานิคมไปสู่การได้รับเอกราชและก่อตั้งสาธารณรัฐสิงคโปร์  และในด้านเศรษฐกิจ คือการเริ่มสร้างอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจแบบนำเข้าเพื่อส่งออกอย่างที่ผ่านมา

การเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการขึ้นมามีอำนาจของ ‘พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party)’ ที่นำโดย ‘ลีกวนยู (Lee Kuan Yew)’ ซึ่งจะกลายมาเป็นพรรคที่ครองอำนาจการเมืองเดียวของสิงคโปร์ตั้งแต่ได้รับเอกราชจนถึงปัจจุบัน

‘ลีกวนยู’ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในปี 1959 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สิงคโปร์ได้เอกราชจากอังกฤษ และกลายเป็นเมืองหนึ่งของมาเลเซีย และได้เริ่มดำเนินนโยบายแทรกแซงการค้าทันทีเพื่อสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจและปั้นอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ

afp__20150323__arp4109389__v3

โดยในช่วงแรกรัฐบาลได้ดำเนินยุทธศาสตร์และนโยบายการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ด้วยการจำกัดการนำเข้าเพื่อสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในประเทศ และเข้าร่วมกับสหพันธรัฐมาเลเซียเพื่อสร้างตลาดการค้าภายในครอบคลุมทั่วมาลายาและป้องกันอุตสาหกรรมแรกเกิด

ในปี 1959 รัฐบาลได้ออกบทบัญญัติ 2 ฉบับคือ ‘บทบัญญัติอุตสาหกรรมรุ่นบุกเบิก’ และ ‘บทบัญญัติส่งเสริมการขยายตัวทางอุตสาหกรรม’ เพื่อละเว้นภาษีเป็นระยะเวลา 2-5 ปี ให้กับบริษัทต่างๆ ที่ลงทุนในสิงคโปร์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมาก (Labor-intensive Industries) และธุรกิจปิโตรเลียม

ในปี 1961 รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Development Board: EDB) ขึ้นมาเพื่อ ส่งเสริมการก่อตั้งอุตสาหกรรมใหม่และอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยมีอำนาจในการคัดเลือกและอนุมัติสิทธิพิเศษให้กับบริษัทรุ่นบุกเบิกที่ต้องการเข้ามาตั้งโรงงานหรือทำธุรกิจใหม่ในสิงคโปร์

ในช่วงนี้ เศรษฐกิจของสิงคโปร์พึ่งพาการผลิต การส่งออก และการท่องเที่ยว ซึ่งเน้นพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำเป็นหลัก และอุตสาหกรรมที่เติบโตในช่วงนี้ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเงิน อุตสาหกรรมประกันภัย อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมโรงกลั่น ที่มีผู้บุกเบิกคือ ‘เชลล์’ ซึ่งมองว่าสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการกลั่นและกระจายผลิตภัณฑ์ทางปิโตรเลียมที่ดี

นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้มีการเร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยการตั้ง ‘การเคหะแห่งชาติสิงคโปร์’ เพื่อสร้างที่พักอาศัยราคาถูกให้กับประชาชนที่ยังมีรายได้ต่ำในประเทศ รวมไปถึงสร้างและพัฒนาทุนมนุษย์ โดยนำระบบการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (Bilingualism) มาใช้ และจัดการศึกษาระดับประถมแบบทั่วหน้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
merpatiflats2

 

1966-1973: จากประเทศอุตสาหกรรมสู่ประเทศส่งออก

ทั้งนี้ แม้สิงคโปร์จะประสบความสำเร็จในการการลดการพึ่งพาการนำเข้า และกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้ การผลิตสินค้าป้อนตลาดภายในประเทศ และพื้นที่ใกล้ๆ ก็ไม่สามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ ทำให้สิงคโปร์มีปัญหาการว่างงานสูงในขณะนั้น

ดังนั้น หลังจากปี 1965 มาซึ่งเป็นปีที่สิงคโปร์ได้รับเอกราชจากมาเลเซีย รัฐบาล ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของลีกวนยูได้ดำเนินนโยบายเพื่อมุ่งขยายการส่งออก บอร์ด EDB ออกมาตรการดึงดูดให้โรงงานการผลิตเพื่อการส่งออกมาตั้งในสิงคโปร์ ทั้งด้วยทำเลที่ตั้งที่เหมาะกับการเป็นท่าเรือกระจายสินค้า โครงสร้างพื้นฐานในการขนส่ง และแรงงานราคาถูกจำนวนมาก

ต่อมาในปี 1967 รัฐบาลยังได้ออก Economic Expansion Incentives Act เพื่อลดภาษีให้กับบริษัทผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ปัจจัยนี้ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และการย้ายฐานการผลิตเสื้อผ้าจากประเทศเอเชียอื่นๆ มายังสิงคโปร์ ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศมาที่สิงคโปร์เพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ โดยในช่วงปี 1968-1973 การลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมการผลิตของสิงคโปร์มีมูลค่ารวมมากว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ 

การขยายตัวของภาคการผลิตและส่งออก ทำให้ภาคการเงินและการประกันภัยของสิงคโปร์ได้รับประโยชน์ไปด้วยในฐานะหนึ่งในศูนย์กลางการค้าหลักระหว่างตะวันตกและตะวันออก 

โดยในปี 1968 Bank of America ได้ตั้งตลาดและสกุลเงินดอลลาร์เอเชียขึ้นในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นมาเป็นค่าเงินสำคัญในตลาดการเงิน ในฐานะที่เป็นสกุลเงินของศูนย์กลางการค้าสำคัญ

ความสำเร็จของการขยายเศรษฐกิจในช่วงนี้ทำให้รายได้ของชาวสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มจาก 516.53 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวในปี 1965 ขึ้นมาเป็น 1,685.46 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวในปี 1973 และทำให้สิงคโปร์เริ่มขาดแคลนแรงงาน และต้องเปิดรับแรงงานจากต่างประเทศเข้าไปทำงาน

1970s: จากอุตสาหกรรมการผลิตสินค้ามูลค่าต่ำ สู่สินค้ามูลค่าสูง

หลังจากที่สิงคโปร์ได้สร้างอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกจนค่อนข้างแข็งแรงแล้ว ในช่วงปี 1973-1984 รัฐบาลสิงคโปร์ซึ่งยังอยู่ภายใต้การนำของลีกวนยูก็เริ่มตั้งเป้าขยายอุตสาหกรรมการผลิตระดับสูงที่ใช้แรงงานทักษะสูงขึ้น เช่น การผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และยา เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับคนในประเทศ

ในช่วงกลางปี 1970s คณะกรรมการการพัฒนาสิงคโปร์ได้ออกมาตรการยกเว้นภาษี 5 ปีให้กับบริษัทที่มีเทคโนโลยีระดับสูงเข้ามาตั้งโรงงานและสำนักงานในสิงคโปร์ รวมไปถึงออกนโยบายสนับสนุนในโรงงานต่างๆ พัฒนาทักษะแรงงานในด้านเทคโนโลยี และให้นำเครื่องจักรกลเข้าไปช่วยทำงานมากยิ่งขึ้น

นโยบายเหล่านี้ทำให้ในช่วงนี้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการดึงดูดบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับสูง เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ แพคเกจซอฟต์แวร์ เซมิคอนดักเตอร์ และแผ่นซิลิกอนเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ รวมถึง การตั้งสำนักงานในสิงคโปร์เพื่อดูแลการทำงานของโรงงาน เพราะมองว่าที่ตั้งของสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและส่งออก อีกทั้งยังมีแรงงานที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษา 

ในขณะเดียวกันเพื่อผลิตแรงงานที่มีความสามารถ สิงคโปร์ก็เร่งพัฒนาระบบการศึกษาอย่างมากด้วยในช่วงนี้ เช่น การตั้งศูนย์ฝึกอาชีพระหว่าง EDB และบริษัทต่างๆ ที่เข้าไปตั้งฐานการผลิตในสิงคโปร์ การตั้งโรงเรียนอาชีวะและเทคนิค เช่น สถาบันญี่ปุ่น-สิงคโปร์, สถาบันฝรั่งเศส-สิงคโปร์, สถาบันเยอรมนี-สิงคโปร์ ที่ในภายหลังจะยุบรวมกันเป็น วิทยาลัยอาชีวะ นันยาง โพลีเทคนิค ในปี 1993 รวมไปถึงมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ในปี 1980

 cq5dam.web.1280.1280

 

1980s-1990s: จากการผลิตเน้นแรงงานสู่เครื่องจักรและเทคโนโลยี

ในช่วงปี 1980-1989 สิงคโปร์เริ่มใช้แผนปฏิวัติอุตสาหกรรมฉบับที่ 2 เพื่อที่จะเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศจากที่พึ่งพาแรงงาน หรือ labor-intensive มาเป็น capital-intensive หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในการผลิต และใช้แรงงานน้อย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ด้านชีวะการแพทย์ต่างๆ

ในช่วงนี้ สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้ามูลค่าสูง ขณะที่บริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตสินค้ามูลค่าต่ำไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ยังตั้งสำนักงานภูมิภาคที่สิงคโปร์

ก่อนที่ในช่วงปี 1990s ถึงช่วงต้นช่วงปี 2000s ซึ่งรัฐบาลของสิงคโปร์เปลี่ยนมาอยู่ในการดูแลของนายกรัฐมนตรีคนที่สองหรือ ‘โก๊ะจ๊กตง’ แล้ว แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ เงินลงทุน และการสนับสนุนจากรัฐบาลจะเบี่ยงมาที่การคิดค้นและสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เพื่อเสริมขีดการแข่งขันในโลกธุรกิจที่ต้องพึ่งพาระบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงนี้รัฐบาลสิงคโปร์มีการจัดตั้งสำนักงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและวิจัย เพื่อส่งเสริมการค้นคว้า รวมไปถึงสร้างสภาวิจัยต่างๆ เช่น สภาวิจัยชีวการแพทย์ สภาวิจัยวิศวกรรมศาสตร์ รวมไปถึงการให้ทุนการศึกษาบุคคลไปเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ และภายในประเทศ เพื่อผลิตบุคลากรทักษะสูงมารองรับนโยบายการวิจัยและพัฒนาของประเทศ

afp__19970610__sahk9706090335

การดำเนินนโยบายเหล่านี้ ทำให้เมื่อ ‘ลีเซียนลุง’ ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2004 สิงคโปร์ก็กลายเป็นประเทศศูนย์กลางการผลิตสินค้ามูลค่าสูงและการเงินที่สำคัญของโลก และพร้อมที่จะพัฒนาต่อไปด้วยแรงงานทักษะสูง ที่จะมาสร้างนวัตกรรมมูลค่าสูงให้กับประเทศ ซึ่งทำให้สิงคโปร์ยังมีข้อได้เปรียบเหนือประเทศอื่นแม้มีทรัพยากรธรรมชาติน้อยกว่า คล้ายกับสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจโตได้หลักๆ ด้วยการขายเทคโนโลยีที่ประเทศอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้

ในการดูแลของลีเซียนลุง สิงคโปร์กลายเป็นฐานที่ตั้งของสตาร์ทอัพมากมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Grab, Lazada, Sea (เจ้าของ Shopee) ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูง และมีอิทธิพลสูงมากในตลาดอาเซียนปัจจุบัน

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังพัฒนาอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองท่องเที่ยว ทั้งด้วยการปรับปรุงสนามบินชางงีให้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ การปรับเมืองให้มีพื้นที่สีเขียว และการดึงอีเวนท์การแสดงและการแข่งขันกีฬาเข้าไปจัดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขัน Formula One หรือล่าสุดก็คือการแสดงของนักร้องสาวเทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับสิงคโปร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นเพราะรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งสาธารณะ และสถานที่จัดงานให้ทันสมัยและมีมาตรฐานระดับโลก
afp__20090925__par2794509__v1

 

สรุปกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ การพัฒนาที่ถูกที่ถูกเวลา

จากกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะเห็นได้ว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตั้งที่ทำให้สิงคโปร์มีชื่อเสียง โครงสร้างพื้นฐาน และความเชี่ยวชาญมานานในฐานะเมืองท่า และโครงสร้างประชากรสังคมที่มีความหลากหลายและได้เปรียบทางด้านภาษา

ทั้งนี้ ในสิงคโปร์สมัยใหม่ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะ ‘นโยบายด้านภาษี’ เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจเข้าไปในประเทศ ที่ถูกวางแผนมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเรียกได้ว่า ‘ถูกเวลา’ สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในขณะนั้น

ในช่วงหลังสงครามที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวและขยายตัว ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น สิงคโปร์เดินหมากถูกด้วยการสร้างอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพแรงงาน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น ทำให้การขยับขั้นขึ้นมาผลิตสินค้ามูลค่าสูงที่มีความซับซ้อนในช่วงปี 1980s-1990s เป็นไปอย่างราบรื่น 

จากแผนการพัฒนาที่มีการสืบทอดมาเรื่อยๆ อย่างไม่ขาดตอนโดยนายกรัฐมนตรีจากพรรคเดียว สิงคโปร์กลายสภาพจากประเทศรายได้ต่ำมาเป็นรายได้สูงในเพียงชั่วอายุคนเดียว คือจากเพียง 428.06 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวในปี 1960 มาเป็น 14,502.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว ซึ่งเกินระดับรายได้ของประเทศรายได้สูง ในปี 1991 ก่อนจะขึ้นมาเป็น 47,236.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวในปี 2010 และขึ้นเกือบอีกเท่ามาเป็น 82,807.63 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวในปี 2022 ขณะที่ไทยอยู่ที่ 6,909.96 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัวเท่านั้น

ปัจจุบัน รายได้หลักของสิงคโปร์มาจากการค้าส่ง ภาคการผลิต และการเงินและประกันภัยที่สร้างรายได้ 22.3%, 18.6% และ 13.8% ของ GDP ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ ชิปเซ็ต น้ำมันที่ผ่านกระบวนการกลั่นแล้ว และเครื่องมือสำหรับผลิตชิปเซ็ต หรือเซมิคอนดักเตอร์



 

อ้างอิง: IMF 1, IMF 2, FEP Financial Club, Petir

แชร์

ย้อนรอยการพัฒนาเศรษฐกิจสิงค์โปร์ ผ่าน 3 นายกฯ ทำไมสิงคโปร์ถึงเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ใน 60 ปี?