หูตั้ง ขนหนา หางเป็นพวง ปากแหลม และดุหวงถิ่น อาจจะเป็นลักษณะเด่นของสุนัขพันธุ์บางแก้วที่คนไทยรู้จักดีข่าวใหญ่ตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา สมาคมชมรมสุนัขบางแก้ว และชาวบ้านบางระกำ จังหวัดพิษณุโลกได้แถลงข่าวแสดงความยินดีที่สุนัขบางแก้วได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสายพันธุ์ระดับโลก
หมาไทยสายพันธุ์“บางแก้ว”ได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนสายพันธุ์สุนัขโลกจากคณะกรรมการสหพันธุ์สุนัขนานาชาติ (FCI – The Fédération cynologique internationale) ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กลายเป็นสุนัขสายพันธุ์ไทยที่ 2 ต่อจาก “หลังอาน” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้วก่อนหน้านี้
สหพันธุ์สุนัขนานาชาติ หรือ FCI คืออะไร
FCI คือ องค์กรสุนัขโลกที่มีสมาชิกและพันธมิตรใน 98 ประเทศทั่วโลก จะทำหน้าที่ในการให้การรับรองมาตรฐานสายพันธุ์ของสุนัขจากแหล่งต่างๆ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีขึ้น เป็นเกณฑ์ในการการประกวด การตัดสินว่าเป็นสุนัขพันธุ์แท้หรือไม่ ซึ่งในเว็บไซต์ของ FCI ได้ให้การยอมรับสุนัขทั้งหมด 355 สายพันธุ์ ใน 10 หมวด SPOTLIGHT จะพาไปรู้จัก “สุนัขบางแก้ว”ของไทยว่าถูกขึ้นทะเบียนเป็นสุนัขโลกในหมวดไหนอย่างไร
FCI แบ่งสุนัขเป็น 10 กลุ่ม ตามลักษณะของสุนัข
1.Sheepdogs and cattle dogs หรือ กลุ่มสุนัขต้อนแกะ
2.กลุ่มสายพันธุ์ Pinschers and schnauzers - molossoid /Swiss mountain /cattle dogs
3.กลุ่มสายพันธุ์ Terriers (เทอเรีย)
4.กลุ่มสายพันธุ์ Dachshunds (ดัชชุน)
5.กลุ่มสายพันธุ์ Spitz and primitive types (บางแก้ว และ ไทยหลังอาน อยู่ในกลุ่มที่5)
6.กลุ่มสายพันธุ์ เซนท์ฮาวด์และสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง7Pointers and setters
8.กลุ่มสายพันธุ์ รีทรีฟเวอร์
9.กลุ่มสายพันธุ์ สุนัขเล็ก
10.กลุ่มสายพันธุ์ Sighthounds
สำหรับกลุ่มสายพันธุ์ที่ 5 Spitz and primitive types
บางแก้ว และ ไทยหลังอาน อยู่ในกลุ่มนี้ โดยในกลุ่ม5 มีการแตกย่อยออกเป็น 7 Section
Section 1 : Nordic Sledge Dogs
Section 2 : Nordic Hunting Dogs
Section 3 : Nordic Watchdogs and Herders
Section 4 : European Spitz
Section 5 : Asian Spitz and related breeds
Section 6 : Primitive type
Section 7 : Primitive type - Hunting Dogs
**บางแก้ว เป็นSection ที่ 5 สุนัขสายพันธุ์อาเซียน ส่วนหลังอาน เป็น Section ที่ 6 Primitive type**
ลักษณะสำคัญของสุนัขบางแก้วแท้
โดยลักษณะสำคัญของบางแก้วที่ถูกเผยแพร่ใน FCI คือ บางแก้วมีลักษณะเป็นสุนัขขนยาว หนา และมักมีขนสีขาว หูแหลมและปากแหลม หางมักจะม้วนตั้งขึ้นหรือห้อยลงมา หากขนาดเล็กมีลักษณะคล้ายกับสุนัขจิ้งจอก ในขณะที่สายพันธุ์ที่ใหญ่กว่านั้นคล้ายกับหมาป่า
ย้อนประวัติสุนัขพันธุ์บางแก้วถือกำเนิดเมื่อ 160 ที่ผ่านมา
ข้อมูลจากวารสารสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสต์ เรื่อง กำเนิดและประวัติของสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วOrigin and History of the Thai Bangkaew dog โดย อุคเดช บุญประกอบ ระบุว่า ต้นกำเนิดของสุนัขบางแก้วยังคงเป็นเพียงคำบอกเล่าของคนรุ่นปัจจุบันเป็นหลัก โดยอาศัยข้อมูลตามความเชื่อและการรับฟังเรื่องเล่าสืบทอดต่อกันมา แต่ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างชัดเจน จึงเป็นไปได้ว่าข้อมูลบางส่วนอาจขาดหายไป
จากข้อมูลพบว่า “บรรพบุรุษรุ่นแรกของสุนัขบางแก้วถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ วัดบางแก้ว บ้านบางแก้ว ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อหลวงปู่ มาก สุวัณณโชโต (เมธาวี) เจ้าอาวาส วัดบางแก้ว (ช่วงเวลาประมาณ พ.ศ. 2405) หรือ 160 ปีที่แล้ว เลี้ยงสุนัขบ้านพันธุ์ไทยเพศเมียและสุนัขดังกล่าวได้รับการผสมข้ามสายพันธุ์จากสุนัขป่าเพศผู้ ตามคำบอกเล่าเชื่อกันว่าเป็น สุนัขจิ้งจอก หรือ หมาใน เพราะไม่มีสุนัขป่า วูล์ฟ (wolf) ที่มีชีวิตเคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงให้กำเนิดสุนัขพันธุ์ ไทยที่มีหน้าแหลม หูเล็กตั้งชัน ขนยาว หางเป็นพวง และดุมาก นั่นคือบรรพบุรุษของสุนัขบางแก้ว
เริ่มเป็นที่นิยมในวงกว้างเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
หลังจากนั้นชาวบ้านบางแก้ว บางระกำ และใกล้เคียงก็นิยมเลี้ยงสุนัขพันธุ์ดังกล่าวจนเรียกว่าเป็นสุนัขบางแก้วตามถิ่นกำเนิด ต่อมาเมื่อมีเจ้าหน้าที่และประชาชนจากภายนอกเข้ามาพบเห็นสุนัขบางแก้วที่มีลักษณะรูปร่างสวยงามนิสัยดุ และรักเจ้าของ จึงเกิดความประทับใจและต้องการนำไปเลี้ยง
ซึ่งจากคำบอกเล่าระบุว่า “สมัยนั้นผู้มาขอลูกสุนัขบางแก้วไปเลี้ยงต้องแลกด้วยกระสุนปืนลูกซอง 1 กล่อง” เมื่อมีการนำสุนัขบางแก้วออกจากลุ่มนำบางแก้วไปสู่สังคมภายนอก จึงเป็นผลให้กิติศัพท์ชื่อเสียงของสุนัขบางแก้วเป็นที่รู้จัก มีผู้คนเลี้ยงสุนัขบางแก้วเพิ่มมากขึ้นจนในที่สุดรู้จักกันอย่างกว้างขวาง และผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้สุนัขบางแก้วเป็นที่รู้จักของสังคมภายนอก ก็คือการเริ่มจากการทำงานประสานกันระหว่างนายยุทธศักดิ์ ศศิมณฑล สมัยดำรงตำแหน่งเป็นปศุสัตว์อำเภอบางระกำ และนายสัตวแพทย์ นิสิต ตั้งตระการพงษ์ สมัยดำรงตำแหน่งเป็นปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปีพ.ศ. 2525 หรือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
ต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนท้องถิ่น
นายนิยม ช่างพินิจ อดีตนายกสมาคมชมรมสุนัขบางแก้ว จังหวัดพิษณุโลก พร้อมชาวบ้านบางระกำ จัดแถลงข่าวว่า “จากที่เรามองสุนัขบางแก้วเป็นสุนัขธรรมดา แต่วันนี้ไม่ธรรมดาอีกต่อไป เพราะทั่วโลกวันนี้ยอมรับในตัวสายพันธุ์สุนัขบางแก้วแล้ว หลังจากนี้เรารวมชาวบ้านท่านางงาม ไม่อยากให้เสียโอกาส เพราะเรามีต้นทุนจากแหล่งต้นกำเนิดอยู่ที่นี่ เป็นความภาคภูมิใจที่ซื้อสุนัขบางแก้วจากถิ่นกำเนิดเลยนะ ชาวบ้านจะมีรายได้ดีจากการเลี้ยงสุนัขบางแก้วเป็นสัตว์เศรษฐกิจ” โดยปัจจุบันราคาสุนัขบางแก้วอยู่ที่ 3-4 พันบาทต่อตัว แต่สำหรับสุนัขที่ผ่านเวทีการประกวด ได้รับการขึ้นทะเบียนของคอก อาจสูงถึง 5-7 หมื่นบาท
“ผมภูมิใจมาก ต้องขอขอบคุณนักวิชาการที่ไปต่อยอด ศึกษาพัฒนาสายพันธุ์ สุขภาพจิตของสุนัข ผมเคยซื้อสุนัขบางแก้วฝากผู้ใหญ่ ต้องบอกว่าอย่าขังไว้ เพราะสายพันธุ์เป็นสุนัขป่าสุนัขจิ้งจอก มีความดุอยู่ในสายเลือดแม้จะมีความรักเจ้าของ แต่เวลาแขกมาบ้านก็อาจถูกกัด เพราะความที่สุนัขรักและหวงเจ้าของ ถ้าไม่รู้นิสัยใจคอสุนัขก็จะเลี้ยงยาก แต่ปัจจุบันสุนัขบางแก้วได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาตลอดกว่า 20 ปี ทำให้เป็นสุนัขที่ไม่ดุมากนัก” นายนิยมกล่าวทิ้งท้าย
สัตว์เลี้ยง นอกจากจะเป็นเพื่อน เป็นสมาชิกในครอบครัวแล้ว ยุคสมัยปัจจบันกลายเป็นธุรกิจที่มูลค่าสูงมากในแต่ละปี เกิดการต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้มากมาย การที่ประเทศไทยมีสายพันธุ์สุนัขที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกจึงเป็นโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจมากขึ้นเช่นกัน