การเงิน

รู้ทัน 3 ความหวั่นไหว ก่อนพอร์ตลงทุนจะไหวหวั่น

18 มิ.ย. 66
รู้ทัน 3 ความหวั่นไหว ก่อนพอร์ตลงทุนจะไหวหวั่น
ไฮไลท์ Highlight
  • ในโลกการลงทุนแล้ว อารมณ์ ‘หวั่นไหว’ นี่เองครับ ที่ทำให้นักลงทุนไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมานักต่อนักแล้ว เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังหวั่นไหวอยู่ และตัดสินใจคล้อยตามไปกับสิ่งเร้า ที่เข้ามากระตุ้น

  • ภาพรวมเป็นสิ่งสำคัญ คุณต้องแยกให้ออกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นกับส่วนไหนอย่าให้ความหวั่นไหว มาทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด แต่ทำให้มัน เป็นเซนเซอร์ ที่คอยเตือนให้คุณ หยุดคิด และหาวิธีรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น 'อย่างมีเหตุผล'

หากพูดถึงคำว่า ‘ความหวั่นไหว’ ทำให้คุณนึกถึงอะไรครับ หลายคนอาจจะนึกถึง 'รักครั้งแรก' ใช่มั้ยครับ ผมเดาจากการลองค้นหาคำว่า ‘ความหวั่นไหว’ ใน Google ดู เนื้อหาแรกๆ ที่จะปรากฎขึ้นจะเป็นเรื่องของความรักทั้งนั้นเลย

ความรู้สึกที่อยู่ดีๆ เราก็มีคำถามที่ไม่มีคำตอบอยู่ในหัวเต็มไปหมด แล้วเรายังไม่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง รู้สึกไม่เป็นตัวเองสุดๆ สับสน วุ่นวาย รู้สึกควบคุมไม่ได้ และไม่แน่นอนเอาเสียเลย

สภาวะอารมณ์ ‘หวั่นไหว’ คือ ความรู้สึกที่ไม่แน่นอน จนทำให้คุณเองสามารถคล้อยตามสิ่งที่เข้ามา ‘กระตุ้น’ ได้ง่าย หรือที่เราจะเรียกว่าสิ่งเร้าครับ

แต่ในโลกการลงทุนแล้ว อารมณ์ ‘หวั่นไหว’ นี่เองครับ ที่ทำให้นักลงทุนไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมานักต่อนักแล้ว เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังหวั่นไหวอยู่ และตัดสินใจคล้อยตามไปกับสิ่งเร้า ที่เข้ามากระตุ้น

 แล้วความ ‘หวั่นไหว’ มันสร้างอารมณ์ให้ตลาดหุ้นได้ได้อย่างไร ? 

ก่อนที่ตลาดจะรู้สึกหวั่นไหว นักลงทุนจะต้องหวั่นไหวก่อนครับ และการที่นักลงทุนหวั่นไหวพร้อมกันเป็นจำนวนมากนั่นเอง ที่ทำให้ตลาดหวั่นไหว และผันผวนได้ ตลาดหุ้นทุกตลาด หากเจอของแรงอย่าง ความไม่มั่นคง อะไรที่ยังไม่มี หรือไม่เห็นคำตอบสุดท้ายที่ชัดเจน จะสร้างความลังเลให้กับนักลงทุนครับ...เมื่อนักลงทุนหวั่นไหว ก็อาจจะมีผลต่ออารมณ์โดยรวมของตลาด จนมีแรงเทขายกันเป็นเทน้ำเทท่าก็ได้เหมือนกันครับ

แล้วอะไรที่ทำให้นักลงทุนหวั่นไหวได้บ้าง? วันนี้ผมจะขอสรุป 3 สิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้นต่อมหวั่นไหวของนักลงทุน จนทำให้ตลาดเต้นแรงกว่าจังหวะหัวใจ ดังนี้ครับ

  1.  การเมือง 

เห็นได้ชัดว่าส่งผลต่อนักลงทุนและตลาด และส่งผลมาโดยตลอด ไม่มากก็น้อย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกันเลยทีเดียว อย่างในการเลือกตั้ง 8 ครั้งหลังสุด (ปี 2539 2544 2548 2549 2550 2554 2557 2562) ตลาดหุ้นปรับตัวเป็นลบ หลังเลือกตั้งผ่านไป 1 เดือน สูงถึง 6 ครั้ง! คิดเป็น 75% ของทั้งหมด  บางครั้งคำว่า ‘การเมือง’ อาจจะทำให้คุณรู้สึกว่าไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันใกล้ตัวมากกว่าที่คิดครับ เรียกว่าอยู่รอบตัวไปหมด

ถ้าให้ลองนึกดูก็แทบไม่มีนโยบายไหนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือตลาดหุ้นเลยเช่น นโยบายที่เคยมีเกี่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ก็ยังช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวได้ และที่คุ้นเคยกันดีเลย นั่นก็คือ นโยบายการเงินการคลัง การเพิ่มลดดอกเบี้ย ปรับอัตราภาษี ที่ล้วนแต่กระทบเศรษฐกิจโดยตรงทั้งสิ้น เห็นได้ว่าแทบจะทุกนโยบายที่เกิดขึ้นจากภาครัฐ ล้วนหวนกลับมามีผลต่อเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นและนักลงทุนครับ

ดังนั้นเมื่อมีความไม่แน่นอนทางการเมือง หรือมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่นักลงทุนจะเกิดความหวั่นไหว จากสิ่งเร้าทางการเมืองเหล่านี้…

เหตุการณ์ต่อมา เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก หรือแทบจะควบคุมไม่ได้เลย แถมดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับการลงทุนเลยด้วยซ้ำ แต่กลับส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและตลาดหุ้นอย่างมาก

การเมืองไทย

  1.  ดินฟ้าอากาศ 

ใครจะไปเชื่อครับว่า ‘ฝนตกแดดออก’ จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ตลาดหุ้นหวั่นไหวได้ ไม่ว่าจะเป็น ช่วงฝนแล้งอย่างตอนนี้ที่ร้อนจนแทบจะระเหยเป็นไอ ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกรับประทานอาหารในร้านที่มีแอร์ แทนการนั่งรับลมร้อน หรือช่วงที่ฝนตกหนัก จนแทบจะท่วมกันอยู่ทุกปี ก็สร้างแผลใจจนเกิดเป็นความหวั่นไหวไม่น้อยครับ เพียงแค่ฝนตกหนักติดต่อกันสัก 3 วัน โรงงานหรือบริษัทหลายแห่ง ต่างก็ต้องเตรียมการรับมือกันให้วุ่นแล้ว

‘น้ำท่วม’ ดูจะเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนเห็นภาพชัดที่สุดครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่อาจจะดูเกินจริงแต่จริง คือถ้าใครที่น้ำเคยท่วมบ้าน ฝนตกติดต่อกันหลายวัน ข่าวออกมาว่ามีแนวโน้มว่าน้ำจะท่วม บอกได้เลยครับว่า ต้องคิดเตรียมการแล้วว่าถ้าท่วมจะทำอย่างไร

การใช้จ่ายในช่วงนั้นก็คงจะต้องรัดกุมมากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ฉุกเฉิน จนบางคนถึงกับต้องขายหุ้นเพื่อเตรียมเงินสดรอไว้เลยทีเดียว อย่างเช่นในปี 2565 ที่ผ่านมา ที่มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติ เนื่องจากฤดูฝนเริ่มต้นเร็ว ซึ่งแม้จะน้อยกว่าปี 2554 แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ก็ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงราว 5% ในระยะเวลาแค่ 2 เดือน

น้ำท่วมไทย

และเหตุการณ์สุดท้าย ที่ถือเป็นสุดยอดตัวร้าย เลยก็ว่าได้ครับ

  1.  ข่าวสาร หรือเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง 

เพราะไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือน้ำท่วม ต่างก็ถูกแพร่กระจายไปสู่นักลงทุนในรูปแบบของ ‘ข่าวสาร’ ครับ อย่างเช่นข่าวการก่อการร้ายที่ราชประสงค์ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 และมีเหตุการณ์ต่อเนื่องในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ตลาดหุ้นปรับตัวลงราว 7% จึงจะกลับมาฟื้นตัวในอีก 2 สัปดาห์

และยิ่งสมัยนี้มีสื่อโซเชียลมีเดียมากมาย ที่นอกจากจะทำให้ได้รับข่าวสารอย่างรวดเร็วแล้ว บางข่าวที่เราไม่ได้สนใจก็ยังมาเข้าตา บางครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ความถูกต้องด้วยซ้ำ กลับกลายเป็นข่าวดังภายในชั่วข้ามคืน และยิ่งเรื่องอะไรที่มีความเห็นของชาวเน็ตเข้ามาเกี่ยวด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีอิทธิพลครับ เห็นได้จากที่หลายๆ บริษัท หุ้นตกเพียงเพราะชาวเน็ตไม่พอใจ ซึ่งผู้บริหารบริษัทใหญ่ๆ ต่างก็เคยปวดหัวกับเหตุการณ์เหล่านี้มาแล้ว

นี่ยังไม่นับเรื่องที่เป็น ข่าวจริงๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจ เกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่นักลงทุนให้ความสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่ครับจนในบางครั้ง ข่าวที่เฉพาะเจาะจงแค่กับ 1 บริษัท กลับทำให้นักลงทุนพากันหวั่นไหวจนกลายเป็นกระทบทั้งอุตสาหกรรม หรือกระทบทั้งตลาดได้ง่ายๆ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของ 3 สิ่งที่มากระตุ้นเท่านั้นครับ ยังคงมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้นักลงทุนหวั่นไหวได้ จนพาลไปทำให้ตลาดผันผวนด้วย

ข่าวสาร

ลงทุนอย่างมีสติ ยาวิเศษป้องกันสิ่งเร้า ที่จะเข้ามากระตุ้นหัวใจ

สาเหตุที่ สิ่งเร้าเหล่านี้ กระตุ้นให้คุณหวั่นไหวได้ เป็นเพราะคุณปล่อยให้มันมาเล่นกับอารมณ์ของคุณจนลืมมองถึงเหตุและผลจริงๆ ของมันครับดังนั้นเมื่อมีอะไรเข้ามาที่ทำให้คุณรู้สึกสับสน และหวั่นไหว สิ่งที่คุณควรทำคือ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ครับ ทุกสิ่งเร้าสร้างผลกระทบได้หลายรูปแบบ อาจกระทบกับตลาดในระยะสั้น บ้างกระทบกับตลาดแบบอ้อมๆ หรืออาจจจะเป็นตัวพลิกเกมไปเลยก็ได้เช่นกัน

คิดอย่างมีสติ วิเคราะห์ถึงเหตุผล แยกแยะให้ได้เมื่อคุณรู้สึก ‘หวั่นไหว’ ให้เริ่มคิดครับ ว่าเหตุการณ์นั้นคืออะไร และวิเคราะห์ว่ามันจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของคุณยังไงบ้าง จากนั้นจึงแยกแยะครับว่า มันส่งผลกระทบแค่ไหน และเมื่อไหร่ สำคัญเลยคือ ต้องอย่าเหมารวมครับ

ในการลงทุนระยะยาว ภาพรวมเป็นสิ่งสำคัญ คุณต้องแยกให้ออกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นกับส่วนไหนอย่าให้ความหวั่นไหว มาทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาด แต่ทำให้มัน เป็นเซนเซอร์ ที่คอยเตือนให้คุณ หยุดคิด และหาวิธีรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น 'อย่างมีเหตุผล'

เพราะในการลงทุนระยะยาว ยังมีอะไรอีกมากครับ ที่จะเข้ามาทำให้คุณหวั่นไหวจนใจเต้น ตัดความรู้สึกที่ไม่จำเป็นออก แล้วโฟกัสที่เป้าหมาย และย้ายตัวเองไปสู่ความสำเร็จครับ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

advertisement

SPOTLIGHT