การเงิน

5 เรื่องการเงิน บัญชี ภาษี ที่มือใหม่เปิดบริษัทต้องรู้ !

7 ก.ค. 67
5 เรื่องการเงิน บัญชี ภาษี  ที่มือใหม่เปิดบริษัทต้องรู้ !
ไฮไลท์ Highlight
นายหนอม เปิดบริษัทเพื่อขายของออนไลน์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ ขายได้ยอดหลายล้าน แต่ต้องรอลูกค้าจ่ายเงินในอีก 30-60 วันข้างหน้าหลังจากที่ขายได้ ในขณะที่ต้องจ่ายค่าแรงตัดเย็บเสื้อผ้า ค่าวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายขนส่ง ค่าแรงแอดมิน ค่าโฆษณา ฯลฯ ไว้ก่อนแล้ว ถ้าจะรอลูกค้าจ่ายเงินมาแล้วค่อยเริ่มรอบใหม่ แบบนี้อาจจะไม่ทันการ ดังนั้นเงินสดสำรองที่ใช้หมุนเวียนในกิจการจำเป็นมาก ๆ  และในทางกลับกัน กำไรที่มี ถ้าเก็บหนี้ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ เกิดลูกค้ารายใหญ่พิโรธจ่ายเงินล่าช้า หรือไม่จ่ายขึ้นมา แบบนี้ก็บอกเลยว่า กำไรที่มองเห็นช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าลูกค้าไม่ช่วยจ่ายเงินให้ตรงเวลา เฮ้อ 

ช่วงนี้มีหลายคนมาปรึกษาผมเกี่ยวกับเรื่องของการ “ จดบริษัท ” (หมายถึงจดบริษัทใหม่ ไม่ใช่จดเลิกนะครับ ฮา) โดยเฉพาะคนที่กำลังทำธุรกิจของตัวเองในรูปแบบบุคคล ที่อยากจะเปลี่ยนมาลองอีกสนามหนึ่งที่ใหญ่กว่า อย่างเช่นการเป็น “ นิติบุคคล ” (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน)

ในฐานะคนที่ทำงานด้านการเงิน บัญชี และภาษี ไปจนถึงเพิ่งเปิดบริษัทเล็ก ๆ ของตัวเองมาครบรอบ 1 ปีเต็ม ผมมีความคิดเห็นและข้อแนะนำสั้น ๆ 5 ข้อ เพื่อเอาไปพิจารณาตัดสินใจตามนี้ครับ 

1.แยกเงินส่วนตัวออกมา

สำหรับคนที่ตัดสินใจจะจดบริษัท ข้อแรกที่มักจะผิดพลาด คือ การไม่แยกเงินส่วนตัวออกมา แต่ความเป็นจริงแล้ว การแยกเงินที่ว่านี้ คือ แยกระหว่าง เงินส่วนตัวที่เราใช้ กับ เงินลงทุนในบริษัทใหม่ที่เราจะเปิดออกจากกันให้เด็ดขาดเลยครับ และนั่นหมายความว่า เราควรวางแผนเงินสำรองใช้ส่วนตัวให้เพียงพอ เพราะถ้าหากบริษัทเป็นไร ไม่รอด ไม่ถึงฝั่งฝัน แต่ชีวิตเรามันต้องไปต่อ ดังนั้นแยกเงินตัวเองให้รอดประมาณนึงไว้ก่อน เผื่อมีอะไรเกิดขึ้นไม่เป็นอย่างที่คิด เราจะได้ถอยหลังกลับทัน!

2.ทุนจดบริษัทให้ดูจากเงินหมุนเวียนเริ่มแรก

คนส่วนใหญ่มักจะแนะนำให้จดบริษัทด้วยทุนจำนวน 1 ล้านบาท ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเลขนี้มาจากไหน แต่เห็นเขาแนะนำกันบ่อย ๆ ซึ่งถ้าให้แนะนำ ผมคิดว่าทุนจดทะเบียนที่ดี ควรเป็นเงินทีต้องการใช้หมุนเวียนเริ่มแรก และมีเงินจริง ๆ ให้เพียงพอในวันแรกที่จดบริษัท โดยหลักการสำคัญให้พิจารณาจาก

  • เงินลงทุนเริ่มแรก : แยกตามสัดส่วนการถือหุ้นที่เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ลงทุน (ผู้ถือหุ้น) และสัดส่วนที่ตกลงกันไว้ เงินจำนวนนี้อาจจะพิจารณาไปถึงส่วนที่เป็นสินทรัพย์ที่ต้องลงทุนอุปกรณ์ หรือสินค้าที่ต้องใช้ในการเริ่มต้นบริษัทในวันแรก ๆ 
  • เงินหมุนเวียนที่ต้องใช้ก่อนจะมีรายได้ : ลองพิจารณาว่าบริษัทเราจะมีรายได้เร็วแค่ไหน จดบริษัทไปตอนนี้ รายได้จะเข้ามาเมื่อไร เพราะนั่นคือ สิ่งที่บอกเราว่า เราจะต้องสำรองเงินหมุนเวียนสำหรับรายจ่ายที่เกี่ยวข้องไว้นานแค่ไหน เช่น ค่าเช่า ค่าแรง ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการเริ่มต้นบริษัทตอนแรก 
  • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ข้อกำหนดในการทำธุรกิจ ความมั่นคง หรือ ความน่าเชื่อถือที่ต้องการ ฯลฯ

ย้ำอีกที เผื่อว่ามีใครอ่านข้าม ทุนที่ใช้จดทะเบียนควรเป็นเงินจริง ๆ ไม่ใช่จดไปงั้น ๆ แม้ว่าจะไม่มีใครขอดูเงินคุณในวันแรกที่ตั้งบริษัทก็ตาม แต่ไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้เด็ดขาดครับผม 

3.เงินสด กำไร ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน 

ขายได้ ขายดี แต่ไม่มีเงินเหลือ คำนี้หลายคนคงเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ดังนั้น แยกให้ดีระหว่างเงินที่ต้องมีเพื่อหมุนเวียน กับ กำไรที่ได้รับจากธุรกิจ และเพื่อให้เห็นภาพ ลองคิดตามตัวอย่างนี้กันครับ

นายหนอม เปิดบริษัทเพื่อขายของออนไลน์ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ ขายได้ยอดหลายล้าน แต่ต้องรอลูกค้าจ่ายเงินในอีก 30-60 วันข้างหน้าหลังจากที่ขายได้ ในขณะที่ต้องจ่ายค่าแรงตัดเย็บเสื้อผ้า ค่าวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายขนส่ง ค่าแรงแอดมิน ค่าโฆษณา ฯลฯ ไว้ก่อนแล้ว ถ้าจะรอลูกค้าจ่ายเงินมาแล้วค่อยเริ่มรอบใหม่ แบบนี้อาจจะไม่ทันการ ดังนั้นเงินสดสำรองที่ใช้หมุนเวียนในกิจการจำเป็นมาก ๆ 

และในทางกลับกัน กำไรที่มี ถ้าเก็บหนี้ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ เกิดลูกค้ารายใหญ่พิโรธจ่ายเงินล่าช้า หรือไม่จ่ายขึ้นมา แบบนี้ก็บอกเลยว่า กำไรที่มองเห็นช่วยอะไรไม่ได้ ถ้าลูกค้าไม่ช่วยจ่ายเงินให้ตรงเวลา เฮ้อ 

อีกอย่างที่จำเป็นมาก ๆ ในการทำความเข้าใจ คือ การเข้าใจภาพรวมของธุรกิจว่าเป็นลักษณะไหน มีเงินทุนหมุนเวียนเท่าไร และต้องสำรองไว้ให้ดี เพราะถ้าหากไม่มีเงินขึ้นมาจริง ๆ ก็จะวิ่งวนไปที่เงินของเรา 

เอ้า… ถ้าแบบนั้นอ่านข้อแรกซ้ำอีกทีไว้เลย จะได้ไม่พลาด ฮือออ 

4.เตรียมตัวเรื่องภาษี 

บอกตรง ๆ ว่าการเตรียมตัวเรื่องภาษีที่ดี ไม่ใช่การเตรียมจ่ายภาษีให้น้อยที่สุด แต่เป็นการเตรียมตัวทำความเข้าใจภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา เพราะธุรกิจแต่ละประเภทแตกต่างกันไป และมีภาษีที่เกี่ยวข้องในแต่ละรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งแนะนำให้ตั้งคำถามดี ๆ สัก 3 ข้อย่อยในตอนเริ่มธุรกิจตามนี้ครับ

  • ธุรกิจเราต้องจด VAT ไหม ถ้าต้องจด จะจดเมื่อไร และต้องทำอะไรบ้างหลังจากจด VAT
  • ธุรกิจเรามีรายได้แบบไหน ค่าใช้จ่ายแบบใด (เน้นตรงค่าใช้จ่าย) ทุกครั้งที่มีรายการค้า (ซื้อ ขาย รับ จ่าย) ต้องออกเอกสารอะไรแบบไหนยังไงบ้าง และเอกสารแบบไหนใช้ได้ แบบไหนใช้ไม่ได้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ธุรกิจเราจ่ายอะไรต้องหักภาษีไว้บ้าง (ภาษี หัก ณ ที่จ่าย) ค่าเช่า ค่าบริการ ค่าฟรีแลนซ์ เงินเดือน ต้องหักภาษีไว้กี่ % หักอย่างไร หักแบบไหน หักแล้วต้องออกเอกสารอะไรบ้าง ?

หลายคนคิดว่าจ้างบัญชีทำเอาก็ได้ ถือว่าเป็นความคิดที่ดี แต่ก็ต้องคุยกับบัญชีและมีความรู้ไว้บ้าง เพราะบางธุรกิจที่เสียหายก็เพราะเชื่อบัญชี แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ต้องทำคืออะไร ดังนั้นทำความเข้าใจเรื่องนี้ไว้บ้างจะดีมาก ๆ ครับ

5.จ้างบัญชีที่ดี

ถ้าจะให้ลงบัญชีเอง ทำความเข้าใจทุกอย่างเองเรื่องบัญชีทั้งหมด เดบิตอะไร เครดิตแบบไหน ก็อาจจะหนักไปสำหรับเจ้าของธุรกิจ และจากเรื่องภาษีในข้อ 4 หลายคนก็พอจะมองออกว่า บัญชีสำคัญมาก ๆ ในการทำธุรกิจ ดังนั้นการจ้างนักบัญชีทีดี จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ ไม่สิ เรียกว่าต้องทำเลยต่างหาก 

อย่าไปคิดว่า บัญชีมีหน้าที่แค่ทำงบการเงินและยื่นภาษีเท่านั้น แต่ให้มองว่ามันคือการจดบันทึกไดอารี่ให้ธุรกิจ บันทึกทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เพื่อให้เรารู้ว่าธุรกิจกำลังไปในทิศทางไหน และเราจะได้ใช้ข้อมูลนั้นในการตัดสินใจอย่างถูกต้อง

แต่ก็อย่างที่บอกแหละว่า หาความรู้ไว้บ้าง เหมือนเวลาเราไม่สบายไปหาหมอ เรายังค้นหาโรคที่เป็น วิธีการรักษา อาการ เพื่อเช็คว่าหมอพูดถูกหรือเปล่า เรื่องบัญชีก็เช่นกัน ทำความเข้าใจไว้บ้าง เพื่อให้คุยกับบัญชีรู้เรื่อง และวางแผนธุรกิจได้อย่างถูกต้อง

สำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่ แนะนำให้เช็คงบการเงินของธุรกิจประจำปี และการยื่นภาษีต่าง ๆ เพราะทุกครั้งที่นักบัญชีทำงานให้ เราควรตรวจสอบได้และสอบถามข้อมูลที่ควรรู้ เพื่อให้เรารู้ว่าธุรกิจเราไปได้ดีหรือเปล่า และนอกจากนั้นยังช่วยให้เราโปร่งใส (หากมีผู้ร่วมหุ้น หรือ หุ้นส่วน) ในการตรวจสอบอีกด้วยครับ 

สุดท้ายหวังว่าบทความจะเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ อย่าลืมว่า การทำธุรกิจก็เหมือนการเดินทาง มีทั้งขึ้นเขาลงห้วย เจออุปสรรคและต่อสู้อีกมากมาย แต่ถ้าเรามีความรู้ก็เหมือนมีเข็มทิศ ที่จะช่วยให้เราเดินทางได้ง่ายขึ้นและไปถึงจุดหมายได้ไวขึ้นนั่นเองครับผม

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT