Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดวิสัยทัศน์ความยั่งยืน 5 CEO บริษัทใหญ่ของประเทศไทย ในงาน SX2022
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เปิดวิสัยทัศน์ความยั่งยืน 5 CEO บริษัทใหญ่ของประเทศไทย ในงาน SX2022

1 ต.ค. 65
19:17 น.
|
1.5K
แชร์

สรุปไฮไลต์สำคัญจากเวทีเสวนา "Leading Sustainable Business" ที่รวม 5 CEO ชั้นนำของเมืองไทย ในงานมหกรรมความยั่งยืน Sustainability Expo 2022 วันที่ 1 ต.ค. 2565

 

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CP Group)

404940

"จริงๆ แล้ว เราจะอยู่ได้ยั่งยืนต่อเมื่อโลกอยู่ได้อย่างยั่งยืน บริษัทและองค์กรจะยั่งยืนก็ต่อเมื่อประเทศชาติและสังคมอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วย มันมีความเชื่อมโยงกันหมด"

เราจะเป็นคนที่มีเป้าหมาย มีวัตถุประสงค์ในชีวิต หรือว่าเราจะเป็นองค์กรที่มีเป้าหมาย มีวัตถุประสงค์ขององค์กร มีเส้นทางการเดินทางขององค์กรอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

ปกติเราตั้งเป้าหมายองค์กรว่า ทำอย่างไรถึงจะเติบโต จะกินส่วนแบ่งตลาด สร้างผลกำไรคืนผู้ถือหุ้นอย่างไร ขณะเดียวกันก็รับผิดชอบทำเรื่อง CSR ไปด้วย แต่เราไม่เคยตั้งเป้าหมายจริงๆ เรื่องการรับผิดชอบต่อความยั่งยืนของโลกและของตัวเราเองว่าคืออะไร ในเรื่องเศรษฐกิจเราทำเต็มที่ และเศรษฐกิจของเราถูกขับเคลื่อนแบบบริโภคนิยม แต่เราไม่ได้ดูของเสียที่ถูกขับออกมา หรือเราทำลายไปสร้างทดแทนไม่ทัน ซึ่งมันไม่ยั่งยืน 

เมื่อช่วง 5 ปีก่อนที่ได้ขึ้นเป็นซีอีโอ คุณศุภชัยได้ตั้งเป้าหมายความยั่งยืนควบคู่ไปกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจว่า  ภายใน 10 ปี จะเป็นท็อป 20 ของโลกด้านเศรษฐกิจ และท็อป 20 ของโลกในด้านความยั่งยืน ให้คู่ขนานเป็นเนื้อเดียวกันกับการทำธุรกิจ ซึ่งการที่ตั้งเป้าหมายคู่กันแบบนี้จะทำให้องค์กรและบรรดาผู้บริหารได้รู้ว่าต้องไปทำคู่กันพร้อมๆ กับการดำเนินธุรกิจ และจากวันนั้นที่ถูกขับออกจาก Global Compact มาวันนี้ก็ทำให้ ซีพี กรุ๊ป ได้อยู่ในกลุ่มท็อป 38 ของบริษัทที่ยั่งยืนของโลกในกลุ่ม Global Compact leading company แล้ว 

อย่างไรก็ตาม นี่ยังเป็นเพียงแค่ตัวชี้วัดด้านเดียวเท่านั้น เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราคุยกันเรื่อง Neutral Carbon 2030 และ Zero waste 2030 ในอาณาเขตบริเวณของการดำเนินธุรกิจเรา แต่เมื่อไม่นานมานี้ ประเด็นที่คุยไปถึงขั้น Net Zero แล้ว (ไม่ใช่แค่ลดคาร์บอน แต่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์) ซึ่งหมายความว่าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ถ้าเราปล่อยคาร์บอนออกมาเท่าไร เราก็ต้องชดเชยในปริมาณเท่ากัน  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราตั้งเป้าหมายเหมือนกันของปี 2050 ซึ่งการตั้งเป้าหมายในชีวิตหรือในองงค์กรนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่และท้าทายว่า  บริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยวัตถุประสงค์ที่ดีต่อส่วนรวม ย่อมเป็นองค์กรที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เรียกว่าเป็นความท้าทายในอีก 27 ปี ที่เราจะมุ่งไปสู่การเป็น Net zero 

ตอนนี้กำลังจะเกิดการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ขึ้นในปี 2024 จะมีการคิดกลับไปถึงต้นน้ำ ถ้าทำกระบวนการไม่ดีก็จะต้องมีการเสียภาษี


ทั้งนี้ คุณศุภชัยได้ให้คำแนะนำ 5 ขั้นตอน สำหรับการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืน คือ 

  1. ตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัด ถ้าไม่มั่นใจก็มีหลายองค์กรที่ทำเรื่องนี้อยู่ เช่น UNGP ประเทศไทย 
  2. การมีส่วนร่วม (Engagement) ของพนักงาน ผู้บริหาร ไปจนถึงหุ้นส่วนธุรกิจ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  3. มีผู้ขับเคลื่อน ผู้นำสูงสุดต้องขับเคลื่อน และวางคนทำงานให้ถูกต้อง (Put the right man on the right job)
  4. สนับสนุนคนทำงาน (Empowerment) โดยอาจสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้คนคิด คนทำ คนปฏิบัติจริง ซึ่งรวมถึงเรื่อง "ทุน" ด้วย 
  5. สร้างนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในยุคข้อมูลและเทคโนโลยีทุกวันนี้ 

"สิ่งที่อยากทำต่อไปก็คือ เรื่องของการศึกษา การศึกษาวันนี้ยังเป็นแบบ 2.0 อยู่ คือสร้างคนไปทำงานโรงงาน และสร้างนักวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเราเริ่มสร้างเด็กที่คำนึงถึงความยั่งยืน และสร้างวิชาการที่แก้ยั่งยืนได้ก็จะเป็นอนาคต เด็กรุ่นต่อไปถ้าเขามีเครื่องไม้เครื่องมือ เขาจะเก่งกว่าเราไม่รู้กี่เท่าแบบ exponential และจะเป็นคนที่เปลี่ยนโลก"



คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)


134227

เล่าย้อนกลับไปถึงแรงบันดาลใจในการเดินหน้าองค์กรด้วยความยั่งยืน มีจุดเริ่มต้นจากคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ได้เริ่มต้นสร้างธุรกิจ มาราว 65  ปีที่ผ่านมาจากสินค้าคือบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ขวดแก้วหมุนเวียน เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี และ เติบโต ขยายมาเรื่อย ๆ  

ความยั่งยืนแท้จริงแล้วเป็นมิติใหม่ แต่เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวผู้คนมาก หลายคนอาจจะได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่องค์การสหประชาติได้หยิบยกศัพท์ให้มีความเป็นสากล ว่า Sustainability และมีการกำหนดเป้าหมายความยั่งยืน SDGs Sustain Development Goals ทั้งหมด 17 ข้อขึ้นมาเป็นวาระแห่งปี 2030 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า มองว่าศักยภาพของธุรกิจไทยมีความพร้อม แต่หลังจาก 2030-2045 ยังไม่รู้ได้ว่า UN จะมีการกำหนดเป้าหมายในกับประเทศสมาชิกอย่างไร  

หากมองดูปัญหาพบว่าความวุ่นวายของโลกมาจากการบริโภค  consumerism  ทำให้ภาคธุรกิจเกิดขึ้นมาตอบสนองความต้องการ แต่หลังจากปี 2030 แล้วความยั่งยืนต้องเริ่มจากความเป็นปัจเจก หรือตัวบุคคลเพราะเป็นผู้ที่สร้างผลกระทบดังนั้นจึงมีคำถามว่า  หากประเทศ องค์กร ประกาศไปสู่เป้าหมาย  Net Zero แล้วตัวเรารายบุคคล ได้ปฏิบัติไปด้วยหรือไม่ ซึ่งนั่นคือ สิ่งที่จะทำให้ความยั่งยืนสำเร็จได้ ต้องมีการหลอมรวมกันทุกภาคส่วน ด้านไทยเบฟเองก็เคยวางเป้าหมายการเป็น   Net Zero  ในปี 2040  หรือพ.ศ.2583   

ทั้งนี้หากได้ทำหน้าที่ในฐานะองค์กรคนไทย อยากน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ทุกคนตระหนักรู้และนำไปปฏิบัติใช้ เพราะเป็นหลักการที่ให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจก ทั้งความพอเพียง และหลักการความคิด ซึ่ง SEP For SDGs คือ sufficiency Economy เพื่อ Sustainable development Goals  

งาน SX 2022 คือการรวมพลังของภาคธุรกิจ (Collaboration) ถือเป็นมิติใหม่หลังจากนี้ เพราะในยุคการบริโภคทำให้เราเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติไปอย่างมาก และเราทุกคนมีโลกใบเดียวเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร  คนมีชีวิต โลกก็มีชีวิต เราจะรักษาคุณภาพชีวิตของเราและโลกได้อย่างไร เหมือนดั่งคอนเซ็ปท์งานในปีนี้ Good Balance Better World สมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า

 


คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

971001


ไทยยูเนี่ยน (TU) ได้เริ่มดำเนินการเกี่ยวกับ Sustainability อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับในเรื่องของการค้ามนุษย์ในอันดับต่ำสุด (Tier 3) หรือได้รับใบเหลืองจากฝั่งยุโรปในเรื่องของการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และในแง่ของการทำปลาทูน่ากระป๋องก็ถูกคู่ค้ารวมถึงองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กรีนพีซ โจมตีในเรื่องการทำประมงที่ไม่เหมาะสม ทำให้ทาง TU เกิดการตระหนักอย่างจริงจัง 

แม้ในอดีตคิดเพียงว่าแก้ปัญหาภายในก็เพียงพอ แต่แท้จริงแล้วการแก้ปัญหาต้องแก้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไปจนถึงคู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำในเรื่องของการจัดการแรงงานโดยเฉพาะแรงงานต่างชาติ บริษัทจึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงแต่แรงงานในบริษัทเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงแรงงานในกลุ่มคู่ค้าอีกด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการซื้อวัตถุดิบที่ถูกต้อง โดยการให้ความรู้ความเข้าใจกับชาวประมงทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือการบริหารจัดการฟาร์มที่ถูกต้อง รวมไปถึงเรื่องของ Sustainable packaging โดยเฉพาะเรื่องของพลาสติก ซึ่งมีการใช้งานค่อนข้างเยอะและไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้เอง จึงจำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต โดยทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ TU ทำมาตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่หัวข้อใหม่ที่ทางบริษัทได้ให้ความสำคัญในตอนนี้เกี่ยวกับ Sustainability คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change และได้ประกาศนโยบาย Net Zero ในปี  2050 ซึ่งถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ แต่ข้อดีของการทำเรื่องเหล่านี้คือเรื่องของ Innovation

เรื่อง Sustainability สำหรับในธุรกิจของ TU ถือเป็น License to Operate ถ้าไม่ทำเรื่องนี้จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อีกทั้งยังเป็นความต้องการของคู่ค้าของเราทั้งหมดที่ต้องการเห็นเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

 


คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

801439

ในปัจจุบันการเปลี่ยนองค์กรให้มีความยั่งยืนมีความท้าทาย 3 ประการด้วยกันคือ 


1. ทำอย่างไรให้ทุกคนในองค์กรมีวิสัยทัศน์ ความเข้าใจ และเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนร่วมกัน 

2. ทำอย่างไรให้การลงทุนเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในการสร้างทั้งผลกระทบที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยเรื่องความยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างผลกำไร และส่งผลกระทบที่ดีในด้านการเงินของบริษัท

3. ทำอย่างไร ให้การพูดกับปฏิบัติเป็นไปในทางเดียวกัน

   
คุณรุ่งโรจน์ กล่าวว่าการสร้างวิสัยทัศน์เรื่องยั่งยืนร่วมกันเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ทำได้ เพราะทางด้าน SCG เอง ก็มีอุดมการณ์ด้านความยั่งยืนที่พนักงานในบริษัทต้องยึดถืออยู่แล้ว 4 ประการคือ ความเป็นธรรม ความเป็นเลิศ การให้ความสำคัญกับคุณค่าของคน และการถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งทำให้คนทั้งองค์กรมีเป้าหมาย มีแนวทางในการปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนในองค์กรเกิดผลสำเร็จ

แต่สิ่งที่ทุกบริษัทประสบปัญหาร่วมกันคือเรื่องผลกระทบ หรือแรงกระเพื่อมของการลงทุนเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในองค์กร เพราะในหลายๆ ครั้งภาคธุรกิจต้องเลือกว่าจะให้การลงทุนเกิดผลในด้านไหน ถ้าเลือกลงทุนเพื่อกำไรก็อาจจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเลือกลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมก็อาจจะทำร้ายผลกำไร

แต่ในกรณีนี้ เขามองว่าภาคธุรกิจอาจมองหาทางลงทุนที่จะทำให้เกิดผลทั้งสองทางได้ โดยยกตัวอย่างแผนการลงทุนในพลังงานทางเลือกของ SCG ที่วางแผนจะลดการใช้พลังงานฟอสซิลในโรงปูนให้เหลือ 0% ในอีก 7-8 ปีข้างหน้า และให้ 80-90% ของพลังงานเหล่านั้นเป็นพลังงานสะอาดทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะช่วยด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะปัจจุบันพลังงานฟอสซิลราคาแพงมาก 

นอกจากนี้ อีกความท้าทายหนึ่งที่สำคัญคือการลงมือปฏิบัติให้ได้เหมือนที่พูดประกาศไว้ เพราะการประกาศเป้าหมาย หรือประกาศแผนนั้นง่าย แต่การจะลงมือกระทำให้ได้ผลจริงในระยะเวลาที่กำหนดนั้นยาก ซับซ้อน และต้องการความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย แต่วิธีที่ช่วยให้ SCG วางแผนปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการตั้ง ‘เป้าหมายระยะสั้น’ และตั้งระบบติดตามผล เช่น SCG ที่ตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% จากปริมาณการบ่อยคาร์บอนปี 2020 ภายในปี 2030 และเมื่อมีเป้าหมายระยะสั้นแล้วบริษัทต่างๆ ก็จะสามารถวางแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจนและทำได้จริงได้ ซึ่งจะทำให้ความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นบรรลุผลได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด

นอกจากนี เขายังกล่าวอีกด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงให้บริษัทมีความยั่งยืนนั้นไม่ได้ทำได้ด้วยการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ เพียงอย่างเดียว เพราะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางคงไม่มีเงินทุนพอจะลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนเหมือนบริษัทใหญ่ๆ ได้

แต่สิ่งที่บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางทำได้ก็คือ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าในเรื่องของความยั่งยืน หาคำตอบว่า pain point ที่ทำให้ลูกค้ายังไม่สามารถบริโภคอย่างยั่งยืนได้คืออะไร ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของตัวสินค้า การใช้งาน การรีไซเคิล และหานวัตกรรมที่มีอยู่นำมาใช้ช่วยแก้ pain point ของลูกค้าตรงนี้

เขาเชื่อว่าหากบริษัทเล็กๆ สามารถปรับเปลี่ยนจนเกิดเคสความสำเร็จที่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนได้แล้ว การเปลี่ยนแปลงในบริษัทเล็กๆ เหล่านี้ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง และทำให้การประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ ‘ถึงจะทำยาก’ แต่ ‘ทำได้’

 


ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

923002

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้ผสานเรื่องความยั่งยืนเข้าเป็น 1 ใน 3 กลยุทธ์หลักขององค์กร ควบคู่ไปกับความสามารถในการแข่งกัน โดย GC ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘Chemistry for Better Living’

การเป็นอยู่ที่ดีนี้ อาจหมายถึง ชีวิตดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น สุขภาพดีขึ้น แต่คุณภาพชีวิตดีไม่พอ ต้องหมายรวมถึงกระบวนการที่ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ด้วย ที่จะต้องใช้ทรัพยากรน้อย ดีต่อโลก เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจยังต้องมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อให้สอดคล้องกับคอนเซปต์ของความยั่งยืน สร้างสมดุลทั้ง ‘เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม’ 

การสร้างความยั่งยืนไม่ควรสำเร็จเพียงแค่กับองค์กรใหญ่เท่านั้น แต่ต้องสามารถขยายความเข้าใจ ขยายความช่วยเหลือไปยังองค์กรที่เล็กกว่า และสนับสนุนให้ชุมชนใกล้เคียงมีส่วนร่วมด้วย โดยอาจเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากการสอนเด็กเล็กๆ ให้ตระหนักรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะและรีไซเคิล โดยสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พวกเขาเป็นกำลังสำคัญที่จะทำสิ่งที่ใหญ่ขึ้นต่อไป

 

 

 

 

 

 

แชร์

เปิดวิสัยทัศน์ความยั่งยืน 5 CEO บริษัทใหญ่ของประเทศไทย ในงาน SX2022