Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
อุตสาหกรรมแฟชั่น กำลังปล่อยคาร์บอนฯมากกว่า อุตสาหกรรมการบิน
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

อุตสาหกรรมแฟชั่น กำลังปล่อยคาร์บอนฯมากกว่า อุตสาหกรรมการบิน

10 มิ.ย. 67
16:47 น.
|
362
แชร์

ความตื่นตัวของภาคธุรกิจต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นในเกือบทุกอุตสาหกรรมแล้ว แต่การเปลี่ยนผ่านธุรกิจเดิมไปสู่พลังงานสะอาดของแต่ละอุตสาหกรรม อาจใช้เวลาแตกต่างกันไป หนึ่งในอุตสาหกรรมที่กำลังต้องเร่งปรับตัวอย่างหนักคือ  อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ที่มีข้อมูลพบว่า มีส่วนในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่า อุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศและการขนส่งทางเรือเสียอีก 

ข้อมูลนี้มาจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า โดยเฉลี่ยอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (ไม่รวมรองเท้า) นี้มักปล่อยคาร์บอนฯ สูง ประมาณ1,700 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี  หรือมีสัดส่วนประมาณ 6-8% ของการปล่อยคาร์บอนฯ ทั่วโลก ซึ่งมากกว่าการปล่อยจากอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกัน (2-3%) 

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า จากข้อมูลล่าสุดในปี 2020  อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีอัตราการปล่อยคาร์บอนฯ อยู่ที่ 4% ซึ่งยังคงสูงกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือที่ 2% ซึ่ง International Labour Organization  (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) ได้เปรียบเทียบต่าง ๆ พบว่าการปล่อยคาร์บอนฯ และมลพิษส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอ มาจากกระบวนการย้อมและการตกแต่ง ตามด้วยการเตรียมเส้นด้าย การผลิตเส้นใย และการผลิตผ้า โดยยังไม่รวมถึงการขนส่ง แต่คาดการณ์ว่ายังอยู่ในสัดส่วนที่ไม่ถึง 5% 

อุตสาหกรรมแฟชั่น กำลังปล่อยคาร์บอนฯมากกว่า อุตสาหกรรมการบิน

ประเทศที่ส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมากที่สุดในโลกปี 2565 

1.จีน 330   พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

2.สหภาพยุโรป 228 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

3.เวียดนาม 46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

4.บังกลาเทศ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

5.อินเดีย 37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

6.ตุรกี 35พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

7.สหรัฐฯ 21พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

8.ปากีสถาน 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

9.อินโดนีเซีย 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

10.กัมพูชา 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

11.ไทย 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ในการคำนวนการปล่อยคาร์บอนฯ สำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่นค่อนข้างยากเพราะยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลมากนัก แต่ประเทศผู้ผลิตสิ่งทอหลักอย่างจีน อินเดีย และบังคลาเทศ (รูปที่ 3 และรูปที่ 4) ยังคงพึ่งพาถ่านหิน นอกจากนี้ การย่อยสลายของขยะสิ่งทอในสถานที่ฝังกลบหรือการเผาไหม้ต่าง ๆ ทำให้เกิดการปล่อยสารเคมีอันตรายและก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่สิ่งแวดล้อม

เมื่อพิจารณาสัดส่วนการใช้พลังงาน ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกายรายใหญ่ที่สุดของโลกนั้น มีการใช้พลังงานมากเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศจีน  โดยในประเทศบังกลาเทศ อุตสาหกรรมนี้ทำรายได้หลักจากการส่งออกประมาณ 81% ของรายได้ของประเทศ และมีการใช้พลังงาน 27%  และในประเทศตุรกี อุตสาหกรรมนี้มีการใช้พลังงานมากเป็นอันดับที่สาม รองจากเหล็ก เหล็กกล้า และซีเมนต์  โดยที่กล่าวมานั้นโดยทั่วไปอุตสาหกรรมแฟชั่นมีการใช้พลังงานหมุนเวียนน้อยกว่า 2%

เสื้อ 1 ตัวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร?

ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าเสื้อผ้าจากที่มาจากเส้นใยสังเคราะห์มักทำร้ายธรรมชาติมากที่สุด แต่จากข้อมูลพบว่า เสื้อ 1 ตัวที่ทำมาจากผ้าฝ้ายกลับปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุด สาเหตุเพราะ กระบวนการผลิตฝ้ายและการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง 

แต่ที่น่ากลัวคือ แม้ว่า Polyester จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าฝ้าย แต่ก็ย่อยสลายได้ยากโดยใช้เวลาหลายร้อยปีจะจึงหมดไป ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ทั้งสองทางเลือกจึงเป็นทางเลือกที่น่าลำบากใจสำหรับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นชวนคิดอีกว่า การผลิตเสื้อใหม่ 1 ตัว มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าการขับรถเบนซินใน 1 วัน (อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการขับรถ 20 กิโลเมตร = 1.92 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ปัจจุบันตลาดเสื้อผ้ามือสองได้รับความนิยมและเติบโตขึ้น โดย ThredUp ได้คาดการณ์ว่า ธุรกิจของเสื้อผ้ามือสองของโลกจะเติบโตสูงถึง 350 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2027

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งมีการทำรีไซเคิลประกอบกับการผลิตฝ้ายแบบออร์แกนิก ทำให้ปล่อยคาร์บอนฯ น้อยกว่าเส้นใยแบบอื่น ๆ และย่อยสลายได้ภายในหกเดือน เพราะผลิตโดยใช้เมล็ดพันธุ์ธรรมชาติ และไม่มีการใช้สารเคมีหรือสารป้องกันศัตรูพืชใด ๆ  แต่ในสหภาพยุโรปพบว่า มีเพียงแค่ 1% ของสินค้าเครื่องนุ่งห่มที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลเป็นเสื้อผ้าใหม่ ซึ่งเป็นหนทางอีกยาวไกลที่ต้องได้รับการสนับสนุน

รู้หรือไม่? ทั่วโลกทิ้งเสื้อผ้า 92 ล้านตันต่อปี 

ทุกปีทั่วโลกจะมีเสื้อผ้าถูกผลิตขึ้นมา 1 แสนล้านชิ้นทุกปี และมีถึง 92 ล้านตันที่ไปสิ้นสุดที่หลุมฝังกลบขยะ ส่วนหนึ่งมาจากการเจริญเติบโตของ Fast Fashion เนื่องด้วย Fast Fashion เป็นการผลิตเสื้อผ้าที่ราคาถูก คุณภาพต่ำ และออกแบบให้ตามสมัยเพื่อให้สามารถซื้อได้บ่อย ซึ่งยิ่งทำให้เกิดการสูญเปล่าของทรัพยากรจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดขยะจากสิ่งทอที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากเสื้อผ้าถูกทิ้งอย่างรวดเร็ว

โดยการผลิตเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตั้งแต่ปี 2000 และยังไม่มีสัญญาณของการลดลง และหากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ ปริมาณขยะจาก Fast Fashion คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 134 ล้านตันต่อปีภายในสิ้นทศวรรษนี้ซึ่งมากกว่าที่ทิ้งทั้งหมดต่อปีในตอนนี้  

หนึ่งในประเทศที่กำลังแก้ปัญหาขยะสินค้าแฟชั่นคือฝรั่งเศส ซึ่งเมื่อมีนาคม 2024 นี้ได้มีมติผ่านร่างกฎหมายเพื่อควบคุมเสื้อผ้าจากอุตสาหกรรม Fast Fashion โดยระบุว่า รัฐบาลฝรั่งเศสจะเก็บค่าปรับกับผู้ผลิตฐานทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นจำนวนเงิน 5 ยูโร ต่อเสื้อผ้า 1 ชิ้น และอาจจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10 ยูโร ภายในปี 2030 โดยไม่ใช่แค่ฝั่งผู้ผลิตที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น เพราะยังห้ามการโฆษณาบนสื่อทุกประเภทด้วย

บริบทและความท้าทายของประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยนั้นการส่งออกในอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และอยู่ใน 20 อันดับแรกผู้ส่งออกสูงสุดของโลก โดยมีปริมาณการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มประมาณ 2,800 ตันต่อปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยจะมีการปล่อยคาร์บอนฯที่ 4-8% ของการปล่อยคาร์บอนฯ ทั้งประเทศซึ่งใกล้เคียงกับเกณฑ์เฉลี่ยของโลกอย่างไรก็ดี ประเด็นปัญหาหลักของไทยคือข้อจำกัดของข้อมูลต่าง ๆ มิใช่เพียงของอุตสาหกรรมนี้เท่านั้น โดยเริ่มต้นจากการจัดทำฐานข้อมูลโดยใช้ระบบ ISSB เพื่อจัดทำ Carbon Accounting ที่เป็นมาตรฐานตามแนวทางของอุตสาหกรรมอื่น ๆ แล้วจึงเริ่มดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชน ได้แก่

  • การใช้มาตรการส่งเสริม 3Rs (Reduce Reuse Recycle) และเศรษฐกิจแบบ BCG โดยในช่วงเริ่มต้นควรการให้เงินสนับสนุนหรือลดภาษีเพื่อสนับสนุนการผลิตเสื้อผ้าที่เป็นมิตรต่อเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงการกระตุ้นการสร้างนวัตกรรมในอนาคต
  • การใช้กลไกภาษีเพื่อลดพฤติกรรม โดยอาจดำเนินการในทำนองกับประเทศฝรั่งเศสที่ดำเนินการกับ Fast Fashion ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการเก็บค่าปรับ 20-50 บาทต่อชิ้น และอาจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสมในอนาคต

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงมาตรการจากภาครัฐเท่านั้น แต่ภาคเอกชนและผู้บริโภคเองที่จะต้องตระหนักรู้เพื่อเตรียมรับมือกับ Fast fashion และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนต่อไป


ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 

แชร์

อุตสาหกรรมแฟชั่น กำลังปล่อยคาร์บอนฯมากกว่า อุตสาหกรรมการบิน