Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
SCG รวมพลังทุกภาคส่วน ยื่น 4 ข้อเสนอต่อรัฐบาล ร่วม-เร่ง-เปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

SCG รวมพลังทุกภาคส่วน ยื่น 4 ข้อเสนอต่อรัฐบาล ร่วม-เร่ง-เปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

24 ต.ค. 67
15:51 น.
|
590
แชร์

ภาวะโลกเดือด (Global Boiling) มีที่มาจากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความแปรปรวนทางสภาพอากาศอย่างสุดขั้ว ทั้งอากาศร้อน แล้ง น้ำท่วมรุนแรง และพายุกระหน่ำ กลายเป็นภัยคุกคามชีวิตมนุษย์ในหลายมิติ จนทำให้หลายคนตระหนักรู้ และต้องร่วมมือกันเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อแก้วิกฤตนี้ให้สำเร็จ

สำหรับประเทศไทยได้มีความตระหนักในเรื่องนี้ สะท้อนจากทุกภาคส่วนที่ได้หันมาให้ความสำคัญ และได้เริ่มเปลี่ยนผ่านการทำกิจกรรมของตนเองไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีตัวอย่างความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่เกิดความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ

  • “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” พื้นที่ทดลองสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเดินหน้าผ่าน 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด, การผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว, การพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว รวมถึงการสนับสนุนการปรับตัวเสริมศักยภาพ SMEs
  • โครงการเครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก ซึ่งเป็นการจับมือระหว่างโฮมโปรและเอสซีจีซี ซึ่งเป็นตัวอย่างในการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามารีไซเคิลแบบ Closed-Loop
  • ส่งเสริมความรู้ SMEs ในการเปลี่ยนธุรกิจสู่คาร์บอนต่ำผ่านโครงการ Go Together โดยรุ่นแรกมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน จากทั้งหมด 20 รุ่นทั่วประเทศ ตามแผนปี 2567-2568 พร้อมตั้งเป้าส่งต่อความรู้สู้โลกเดือดให้ SMEs 1,200 คน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภาวะโลกเดือดได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การดำเนินการตามแนวทางปกติ อาจไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทันการณ์ และยังคงมีหลายเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการต่อ ทาง SCG จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ระดมความเห็นและร่วมแสดงพลังในงาน ESG SYMPOSIUM 2024 ภายใต้แนวคิด “Driving Inclusive Green Transition” ยิ่งเร่งเปลี่ยน ยิ่งเพิ่มโอกาส เพื่อหาแนวทางการ “เร่ง” สู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศ

แลกเปลี่ยนมุมมองระดับนานาชาติเปลี่ยนผ่านไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

Niamh Collier-Smith, Resident Representative United Nations Development Programme (UNDP) Thailand
Niamh Collier-Smith, Resident Representative United Nations Development Programme (UNDP) Thailand

การจัดงานในปีนี้ได้รับเกียรติจาก Niamh Collier-Smith, Resident Representative United Nations Development Programme (UNDP) Thailand ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “Global Perspective on Green Transition: มุมมองระดับโลกต่อการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียว” ซึ่งให้สำคัญของการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

โดยบทบาทขององค์การสหประชาชาตินอกจากจะมีการประกาศขยายกรอบการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเพิ่ม ‘ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม’ เข้าไปด้วยแล้ว การริเริ่มโครงการด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น Pact for the Future และการกำหนดพันธกรณีระดับประเทศ (NDCs) ยังช่วยกำหนดแนวทางให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามเป้าหมายของความตกลงปารีส เพี่อเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้สำเร็จ

004
Roberto Bocca, Member of the Executive Committee - Head of the Centre for Energy and Materials, World Economic Forum

ขณะที่ Roberto Bocca, Member of the Executive Committee - Head of the Centre for Energy and Materials, World Economic Forum ในหัวข้อ “Future Competitive of Energy Transition: การแข่งขันในอนาคตของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน” ได้อธิบายถึงการเปลี่ยนผ่าน ด้านพลังงานในไทยและอาเซียนกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญ เนื่องจากภายในภูมิภาคมี พร้อมแล้วทั้ง ‘ความมั่นคง’ และ ‘ความยั่งยืน’ ด้านพลังงาน โดยมี 4 ความท้าทายสำคัญ ได้แก่

  • การขาดแคลนเงินทุน
  • โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ
  • ความท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นและการลดการปล่อยคาร์บอน
  • การขาดกรอบนโยบายที่ชัดเจน

ทั้งนี้ หากอาเซียนสามารถจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ ประเทศในภูมิภาคจะสามารถเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านพลังงานระดับโลก

009
Dr. Cai Guan, Vice-general Manager, Wuhan Carbon Peaking & Carbon Neutrality Industry Development Service Co., Ltd., China

อีกหนึ่งหัวข้อเสวนาที่น่าสนใจ คือ  “Regenerative Case Sharing from China: การแบ่งปันกรณีฟื้นฟูในประเทศจีน” ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่นำเสนอโดย Dr. Cai Guan, Vice-general Manager, Wuhan Carbon Peaking & Carbon Neutrality Industry Development Service Co., Ltd., China ซึ่งได้กล่าวถึงตลาดคาร์บอนของจีนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

โดยมีปัจจัยความสำเร็จจากกฎระเบียบสำคัญ 2 ฉบับ คือ การบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสูงสุด (Carbon Peaking) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รวมถึง การพัฒนาระบบตรวจสอบ รายงาน และยืนยันการปล่อยคาร์บอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และความรับผิดชอบในตลาด

ศักยภาพของไทยในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนของประเทศ

006

การเสวนาใสนครั้งนี้ได้มีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ “Thailand Potential for Sustainable Transition: ศักยภาพการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนของประเทศไทย” ซึ่งได้มีการพูดคุยใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

ประเด็นแรก คือ “Energy Transition: การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน” ซึ่ง Dr. Eric Larson, Research Professor - Princeton University, USA ได้ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของไทยไม่ควรจำกัดเพียงแค่การผลิตไฟฟ้าเท่านั้น แต่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานทุกรูปแบบจำเป็นต้องมีแนวทางที่โปร่งใส มีฐานข้อมูลแบบเปิด ผ่านโมเดลเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสำคัญ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเข้าใจในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และทำให้เกิดการลงมือทำอย่างแท้จริง

ประเด็นที่ 2 คือ “Agriculture: ภาคเกษตรกรรม” ซึ่ง Dr. Nana Kuenkel, Director & Cluster Coordinator, Agriculture & Food, GIZ, Germany ได้กล่าวถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงกำลังส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชไร่และข้าวที่มีคุณภาพลดลง เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวการเปลี่ยนผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำลงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง GIZ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแล้ว เช่น การฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านมาตรฐานความยั่งยืนระดับสากลแก่เกษตรกรปาล์มน้ำมัน รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการน้ำร่วมกับมิเตอร์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการแจ้งเตือนข้อมูลระดับน้ำ ทำให้น้ำสามารถกระจายทั่วถึงทั้งแปลงนา และสามารถระบายออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่ 3 คือ “Regenerative Waste Management: การจัดการขยะแบบฟื้นฟู” ซึ่ง Belinda Knox, Deputy Managing Director, I-Environment Investment Ltd.(IEI), Itochu, UK ได้ชี้ให้เห็นว่า การจัดการขยะเชิงฟื้นฟูกำลังเป็นจุดสนใจหลักในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นแนวทางที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมมี “ต้นทุนที่น้อยลง” จากค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ 

ขณะเดียวกันธุรกิจแวดล้อม และภาคประชาชนก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยมีแรงจูงใจ คือ “รายได้” หากประเทศไทยสามารถสร้างกรอบการจัดการขยะให้เข้มแข็งได้สำเร็จ ก็จะได้รับประโยชน์ทั้งด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งการนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการขยะเชิงฟื้นฟูจะช่วยให้ไทยสามารถจัดการกับความท้าทายด้านขยะ และส่งเสริมแนวทางแก้ไขที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้

ผนึกกำลังร่วม - เร่ง - เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

008

005

สำหรับหัวข้อเสวนาที่สำคัญที่สุด คือ “The Key Drivers for Inclusive Green Transition: ปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำของประเทศไทย” ซึ่งในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2567 ได้มีการจัด Pre-Session ที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมกว่า 3,500 คน เข้าร่วมแสดงพลังและระดมสมอง เพื่อหาแนวทางร่วม - เร่ง – เปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งบนเวที ESG SYMPOSIUM 2024 ได้มีสรุปเนื้อหาการพูดใน 5 ประเด็น ได้แก่

  1. “Saraburi Sandbox: ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ” ได้มีการเปิดเผยความคืบหน้าการทดลองทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคการ เช่น การใช้เทคโนโลยี CCUS ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการพัฒนาป่าชุมชน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างรายได้ให้ชุมชน
  2. “Circular Economy: การใช้ทรัพยากรหมุนเวียน” ได้มีการเสนอให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทาง การสร้างศูนย์คัดแยกขยะย่อย และการพัฒนาระบบการจัดการขยะทั้งระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  3. “Just Transition: การสนับสนุนทรัพยากร” ได้มีการเสนอให้สร้างความร่วมมือกับภาครัฐ และมหาวิทยาลัยในการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ รวมถึง การเข้าถึงเงินทุน และการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อประเมินความสามารถในการปรับตัว และช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำได้สำเร็จ
  4. “Technology for Decarbonization: การพัฒนาเทคโนโลยี” ได้มีการเสนอให้ใช้งานและพัฒนานวัตกรรมการขนส่งสีเขียว เช่น ระบบจัดเก็บพลังงาน (ESS) รวมถึงการทดลองใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในสภาพแวดล้อมจริง ซึ่งจะช่วยสร้างความต้องการในตลาด และกระตุ้นการลงทุนที่จำเป็น
  5. “Sustainable Packaging Value Chain: การจัดการบรรจุภัณฑ์” ได้มีการเสนอให้สร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยนำเทคโนโลยีในการคำนวณ Carbon Footprint มาช่วยในการวางแผน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุน SMEs ในการเข้าถึงทรัพยากรและเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยื่น 4 ข้อเสนอต่อรัฐบาล เร่งเปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

003
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG

โดยในช่วงท้ายของเวที ESG SYMPOSIUM 2024 นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ได้ขึ้นกล่าว 4 ข้อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นข้อสรุปจากเวที Pre-Session ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา โดย SCG ได้เชิญตัวแทนจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ร่วมระดมสมองและหาแนวทางความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ Zero ตลอดจนสร้างโอกาส และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขึ้นกล่าวรับ 4 ข้อเสนอดังกล่าว พร้อมให้คำมั่นในการเร่งมือการจัดการกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ

001
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดย 4 ข้อเสนอต่อรัฐบาล มีดังนี้

  1. การปลดล็อกกฎหมายและข้อกำหนด โดยภาครัฐเร่งเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด ขณะเดียวกันควรจัดทำกฎหมายแม่บทว่าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียนครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อกระตุ้นการบริโภคอย่างยั่งยืน กำหนดมาตรการจูงใจ รวมทั้งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนำร่องจัดซื้อ จัดจ้าง เพื่อส่งเสริมการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  2. ผลักดันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว โดยสนับสนุนงบประมาณพัฒนาบุคลากรของผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนคาร์บอนที่เป็นมาตรฐานสากล และจัดตั้งหน่วยงานในประเทศให้สามารถรับรองมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการทำคาร์บอนเครดิต เพื่อนำไปขอเงินทุนสีเขียว
  3. พัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว โดยรัฐสนับสนุนการใช้และพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานรูปแบบต่าง ๆ ปรับปรุงระบบขนส่งสีเขียว ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกขยะ
  4. สนับสนุนการปรับตัวเพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันให้ SMEs โดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุน รวมถึงส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

002

แชร์

SCG รวมพลังทุกภาคส่วน ยื่น 4 ข้อเสนอต่อรัฐบาล ร่วม-เร่ง-เปลี่ยนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ