‘การท่องเที่ยว’ เป็นอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทยมานาน เพราะไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ และสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยากเข้ามาสัมผัสประเทศไทยเข้ามาเป็นจำนวนหลายล้านคนในแต่ละปี
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันทุกภาคส่วนเริ่มตื่นตัวเรื่องความยั่งยืน ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจไม่ใช่มิติเดียวที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยต้องคิดถึงอีกต่อไป เพราะนอกจากรายได้และผลกำไรที่เป็นเม็ดเงินแล้ว ผู้พัฒนาและดำเนินนโยบาย ผู้ประกอบการ รวมไปถึงตัวนักท่องเที่ยวเองต้องตระหนักด้วยว่า การทำธุรกิจหรือการท่องเที่ยวของตนนั้นส่งผลอย่างไรบ้างต่อสิ่งแวดล้อม สภาพนิเวศ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน
การคิดถึงผลกระทบและผลประโยชน์ของการท่องเที่ยวที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายนี้เองคือหัวใจสำคัญของ “การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” (sustainable tourism) ซึ่งจากคำจำกัดความของ UN Environment Program และ UN World Tourism Organization หมายถึง “การท่องเที่ยวที่คำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต และตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และชุมชนในสถานที่ท่องเที่ยวนั้น”
ดังนั้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และรับประกันความอยู่รอดของสถานที่และทรัพยากรที่เป็นแหล่งรายได้ของประเทศ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาและกำหนดนโยบายด้านการท่องเที่ยวของไทยในปัจจุบันจึงต้องคำนึงถึงผลกระทบเหล่านี้ ซึ่งในการเสวนาหัวข้อ “Thailand: A Sustainable Destination” ในงาน Sustainability Expo ประจำปี 2023 ก็ได้รับเกียรติจากผู้กำหนดนโยบายและผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวถึง 3 ท่าน มาแลกเปลี่ยนแนวคิด และนโยบายในการสร้างเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนให้เกิดในประเทศไทย
แนวคิดและนโยบายเหล่านี้มีแนวคิด และจะสร้างความยั่งยืนอย่างไรบ้าง ทีม SPOTLIGHT สรุปมาให้อ่านกัน
“Amazing Organic” รักษ์โลก เพราะโลกให้กำเนิดอาหาร
คุณน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในการสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรต่างๆ ของโลกให้กับทั้งนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ เครื่องมือหนึ่งที่สำคัญ คือ “การเล่าเรื่อง” (storytelling) ที่จะทำให้คนเข้าใจว่าสถานที่ท่องเที่ยวสวยงามหรืออาหารรสอร่อยที่ประทับใจพวก้ขานั้นล้วนคงอยู่ได้เพราะสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ และหากขาดธรรมชาติไปแล้ว สิ่งที่พวกเขารักนั้นก็จะไม่มีอยู่อีกต่อไป
ดังนั้น ททท. จึงริเริ่มออกโครงการ “Amazing Organic” นำเสนอเมนูอาหารพื้นถิ่นขึ้นมา เพื่อสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวรับประทานอาหารที่ทำจากวัตถุดิบภายในพื้นที่ผ่านการเล่าเรื่องว่าวัตถุดิบแต่ละอย่างนั้นมาจากที่ไหน ผลิตอย่างไร และอาหารนั้นๆ มีความผูกพันกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ อย่างไรบ้าง
โดยการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวลองชิมอาหารที่ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ นอกจากจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของนักท่องเที่ยว เพราะวัตถุดิบเหล่านี้ใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งน้อยกว่าวัตถุดิบนอกพื้นที่แล้ว ยังทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกผูกพันกับสถานที่ที่พวกเขาไปเยือน เพราะจะได้เข้าใจว่าอาหารอร่อยๆ ที่พวกเขารับประทานอยู่นั้น เกิดขึ้นมาได้ด้วยทรัพยากรธรรมชาติในที่ที่พวกเขาอยู่ และถ้าหากพวกเขาท่องเที่ยวโดยไม่มีความรับผิดชอบและไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว ในอนาคตพวกเขาและลูกหลานของพวกเขาก็จะไม่มีโอกาสได้ชิมอาหารรสชาติแบบนี้อีก
นอกจากนี้ คุณน้ำฝน ยังมองว่าโครงการนี้ยังจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น เพราะเรื่องราวที่มาของวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นวิธีเลี้ยงสัตว์ วิธีจับสัตว์ หรือวิธีปลูก จะทำให้วัตถุดิบเหล่านี้มีความเป็นพรีเมียม เพราะถูกเตรียมมาอย่างพิถีพิถัน ทำให้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ได้ เพราะนักท่องเที่ยวบางคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปัจจุบันนอกจากความอร่อยแล้ว ยังต้องการรู้ด้วยว่าสิ่งที่พวกเขารับประทานนั้นมาจากไหน และสร้างผลกระทบอย่างไรให้กับโลกบ้าง และถ้าหากอาหารดีกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า พวกเขาก็ยินดีจะจ่ายในราคาสูงขึ้น
MICE ไทย มุ่งเพิ่มความยั่งยืนเพื่อเพิ่มมูลค่า
นอกจากการท่องเที่ยวโดยทั่วไปแล้ว อีกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและนักเดินทางต่างชาติคือ อุตสาหกรรม MICE หรือ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์งานอีเวนท์ การประชุมบริษัทและสมาคม (meeting), การจัดการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลแก่พนักงาน (incentive), การประชุมขนาดใหญ่ (conference) และงานแสดงสินค้า (exhibition) ที่ช่วยดึงดูดชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาทำงาน ท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอยในประเทศได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี
คุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB กล่าวว่า ในปัจจุบัน อุตสาหกรรม MICE ของไทย และ TCEB ได้พยายามผลักดันให้การจัดการอีเวนท์ต่างๆ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความเป็นกลางทางคาร์บอนมากยิ่งขึ้น ผ่านการรณรงค์ จัดทำคู่มือ และแนวทางในการจัดงานต่างๆ และเป้าหมายในอนาคตก็คือการทำให้ประเทศไทยกลายเป็น high value-added destination สำหรับอุตสาหกรรม MICE ซึ่ง “ความยั่งยืน” คือปัจจัยหนึ่งที่จะเพิ่มมูลค่าให้ผู้จัดอีเวนท์ไทยได้ เพราะในปัจจุบัน organizers ถึง 70% ทั่วโลกมองว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจไปจัดงานอีเวนท์ในแต่ละแห่ง
ดังนั้น ทาง TCEB จึงได้จัดทำแผน Go for MICE Sustainability 5 ปีขึ้นมา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักคือการจัดงานที่มีคาร์บอนต่ำ (low-carbon) และมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon-neutral) ภายในปี 2050 ผ่านวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้พลาสติก หรือการเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นมาทำอาหารเลี้ยงแขกในงาน ซึ่งจะช่วยลด food miles หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการขนส่งลงไปได้
ภายใน 5 ปีนี้ TCEB ตั้งเป้าจะจัดงานอีเวนท์ใหญ่ 6 งาน ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน จาก 500 งานที่มีความเป็นโลว์คาร์บอน ซึ่งหากทำสำเร็จทั้งหมดจะช่วยสร้างคาร์บอนออฟเซตได้ถึง 55,000 tonCO2e ดึงคนเดินทางมางานถึง 40 ล้านคน และสร้างรายได้รวมถึง 250,000 ล้านบาทให้กับประเทศ
โดยหนึ่งในงานอีเวนท์ใหญ่ที่กำลังจะถูกจัดขึ้นในไทยคืองาน ICCA Congress 2023 ที่จะถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 พฤศจิกายน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่ง TCEB คาดว่า จะช่วยสร้างคาร์บอนออฟเซตถึง 1,000 CO2e
มุ่งสร้างการท่องเที่ยวคุณภาพสูง เมืองน่าอยู่ คือเมืองน่าเที่ยว
ทางด้านผู้พูดคนสุดท้าย คุณธเนศ วรศรัณย์ ประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวคุณภาพสูง หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึง แนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในอนาคตว่า ประเทศไทยในอนาคตจะต้องมองหา “นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง” กลุ่มใหม่ ที่ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวที่มีกำลังจ่ายสูงอีกต่อไป แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่มี “ความรับผิดชอบ” ต่อสถานที่ที่ตนเองเดินทางไป
คุณ ธเนศ กล่าวว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม และชุมชนในพื้นที่ ดังนั้น ถ้าหากนักท่องเที่ยวที่ไทยดึงเข้ามามีการใช้จ่ายสูงเพียงอย่างเดียวแต่ไม่มีความรับผิดชอบแล้ว ผลประโยชน์ก็อาจจะตกอยู่แค่กับตัวนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ และสร้างผลเสียกับอีกสองกลุ่มหลัง ซึ่งไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ดังนั้น ในอนาคต ไทยจะต้องเน้นดึงนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ และเน้นสร้างเมืองที่น่าอยู่มากกว่าน่าเที่ยว เพราะการเน้นสร้างเมืองที่น่าเที่ยวอย่างเดียวนั้นจะเป็นการสร้างเพียงฉากหน้าฉาบฉวยเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่ถ้าเน้นสร้างเมืองน่าอยู่ที่ทำให้คนในชุมชนมีความสุข ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ เมืองนั้นก็จะมีความน่าเที่ยวด้วย เพราะเป็นเมืองที่มีการบริหารจัดการดีโดยเนื้อแท้
คุณ ธเนศ กล่าวว่า ไทยสามารถยกระดับการท่องเที่ยวในไทยให้เป็นการท่องเที่ยวระดับสูงได้โดยการยึดหลัก BCG และขับเคลื่อนด้วย “Happy Model” ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยว 4 ด้าน คือ กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดีๆ เพื่อทำให้สุขภาพกายใจของนักท่องเที่ยวดีขึ้น และให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน
โดยที่ผ่านมา หอการค้าไทยได้ร่วมมือกับเครือข่ายและพันธมิตรเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการตามแนวทาง Happy Model มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อน carbon-neutral tourism ผ่านการสร้างเส้นทางท่องเที่ยว carbon-neutral, โครงการ Hug Earth ที่เป็นการจัดอบรมหลักสูตรให้กับผู้ประกอบการโรงแรมเพื่อให้นำไปพัฒนาสินค้าและบริการที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่อไป และการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เป็นต้น