Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทางออกของแบรนด์ ‘อาหารและเครื่องดื่ม’ กับการเชื่อมโยงความยั่งยืนให้เข้าใกล้คน
โดย : Ogilvy

ทางออกของแบรนด์ ‘อาหารและเครื่องดื่ม’ กับการเชื่อมโยงความยั่งยืนให้เข้าใกล้คน

15 มิ.ย. 67
01:00 น.
|
704
แชร์

Highlight

ไฮไลต์

  • แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มอยู่ใกล้ตัวคนในทุกวัน จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการลงมือทำร่วมกันในด้านความยั่งยืน

  • ความท้าทายที่แบรนด์กำลังเผชิญ คือ Disconnected Conversation หรือ สิ่งที่แบรนด์ทำและสื่อสาร ไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าใกล้ตัว

  • แบรนด์ควรทำให้ความยั่งยืน ไม่ใช่แค่สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงผ่านพื้นที่สื่อต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจว่าแบรนด์กำลังทำอะไร แต่ต้องทำให้เข้าใกล้ชีวิตคน ในแบบที่สามารถเข้าร่วมไปพร้อมกับแบรนด์ได้ ผ่านการเชื่อมโยง 4 วิธี

เมื่อกล่าวถึงภาคธุรกิจทั้งสินค้าและบริการที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ หนึ่งในนั้น คือ แบรนด์ต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่พวกเราทุกคนบริโภคอยู่ทุกวัน ซึ่งปัจจุบันความยั่งยืนได้กลายเป็นจุดสนใจหลักในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย เพราะเผชิญกับหลากหลายปัจจัยพร้อมกัน ตั้งแต่ด้านวิกฤตโลกรวน ที่ใกล้ตัวมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ฝนที่ตกมากขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและการทำปศุสัตว์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจก 37% ต่อปี

รวมถึงด้านกฎระเบียบและนโยบาย ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ไม่ว่าจะเป็น ภาษีพลาสติก (Plastic Tax) หรือ มาตรการภาษีที่พิจารณาเก็บค่าธรรมเนียม จากผู้ผลิตและผู้นำเข้า ที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ ไม่สามารถรีไซเคิลได้ นอกจากนี้ทางฝั่งของผู้ผลิตยังเจอกับอีกข้อบังคับทางกฎหมาย ที่เรียกว่า EPR ที่ย่อมาจาก Extended Producer Responsibility ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตบรรจุภัณฑ์  

ในขณะที่ด้านผู้บริโภค ได้ตระหนักและรับรู้เรื่องนี้มากขึ้นผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งสัมผัสผลกระทบด้วยตนเอง เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวน และปริมาณขยะต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากการผลิตและการบริโภค ซึ่งผลวิจัยของสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยในปี 2023 ระบุว่า ผู้บริโภคกว่า 70% ยอมจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับแบรนด์ที่เลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และ ส่งผลต่อความยั่งยืนในด้านสังคม รวมถึงพร้อมจะสนับสนุนแบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมต่อชุมชน และ ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของคนในสังคม

บทบาทสำคัญ และ ความท้าทายของแบรนด์ ‘อาหารและเครื่องดื่ม’
ในด้านความยั่งยืน

ดังนั้นเมื่อแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มอยู่ใกล้ตัวกับคนในสังคมทุกวัน จึงมีบทบาทสำคัญใน ‘การทำแบรนด์ที่ขับเคลื่อนด้วยจุดมุ่งหมาย’ (Purpose-driven branding) ผ่านการลงมือทำร่วมกันในด้านความยั่งยืน และ สร้างผลกระทบเชิงบวกที่ดีขึ้นกับโลก สิ่งแวดล้อม สังคม และผู้คน  ผ่านการสร้างความยั่งยืนที่ครอบคลุมกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การผลิตและการกระจายสินค้าไปจนถึงการบริโภคอาหาร โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนท้องถิ่น และดูแลสุขภาพของผู้บริโภคให้ดีขึ้น

แต่ความท้าทายที่แบรนด์ส่วนใหญ่กำลังเผชิญ คือ Disconnected Conversation หรือ สิ่งที่แบรนด์ทำและสื่อสาร ไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่มองว่าใกล้ตัว โดยข้อมูลจาก Ogilvy Consulting ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้แบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม ได้ลงมือทำจริง และ นำเอาความยั่งยืนเป็นหนึ่งในแก่นหลักของการทำธุรกิจ แต่สิ่งที่แบรนด์มักจะนำมาสื่อสารมักจะประกอบไปด้วย เป้าหมายใหญ่ระยะไกล กำหนดการกว้าง ๆ บ้างก็เน้นที่การดำเนินงานแบบเชิงลึก และใช้คำศัพท์เฉพาะทางในขณะที่คนในสังคมส่วนใหญ่ต้องการเห็นเป้าหมายระยะใกล้ พร้อมทั้งความคืบหน้าของผลลัพธ์ รวมถึงกำหนดการที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาด้านใด การดำเนินงานที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคน โดยใช้การพูดคุยด้วยภาษาทั่วไปในชีวิตประจำวัน

ทางออกของแบรนด์ ‘อาหารและเครื่องดื่ม’

กับการเชื่อมโยง 4 วิธี ที่ให้ความยั่งยืนเข้าใกล้คน

คำถามถัดไปที่อาจจะเกิดขึ้นในบทสนทนาของคนที่ทำแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม และ ในความคิดของคนที่ทำธุรกิจ คือ แล้วอะไรเป็นทางออก เพราะในเมื่อแบรนด์ในอุตสาหกรรมนี้มีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ความยั่งยืนเข้าใกล้คนมากขึ้น

ซึ่งในฐานะหนึ่งในตัวแทนของทีมกลยุทธ์ที่ Ogilvy Thailand ที่ได้เห็นตัวอย่างแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ ผลักดันด้านความยั่งยืน และบางส่วนได้มีโอกาสร่วมงานโดยตรง ทำให้ผมเชื่อว่า “แบรนด์ควรทำให้ความยั่งยืน ไม่ใช่แค่สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงผ่านพื้นที่สื่อต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจว่าแบรนด์กำลังทำอะไร แต่ต้องทำให้เข้าใกล้ชีวิตคน ในแบบที่สามารถเข้าร่วมไปพร้อมกับแบรนด์ได้” ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยการลงมือทำ และการสื่อสารที่ชัดเจนของแบรนด์ควบคู่กัน ผ่านการ Connect หรือ การเชื่อมโยง 4 วิธี ที่ให้ความยั่งยืนเข้าใกล้คน

  1. เชื่อมโยงกับการลงมือทำสิ่งเล็กๆ (Connect to little efforts)

เมื่อคนส่วนใหญ่ต้องการให้เรื่องความยั่งยืนไม่ยาก และ ไม่ต้องใช้ความพยายามมากเกินไปในการลงมือทำ ซึ่งจากผลสำรวจของ Kantar ในปี 2023 พบว่า 48% ของคนไทย เลือกลงมือทำแบบง่าย ๆ ในด้านความยั่งยืนซึ่งผลงาน "เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้" (Every Little Act Matters) ของ Nestlé Thailand ที่ทำร่วมกับ Ogilvy Thailand เป็นตัวอย่างของการจุดประกายความคิด และ สร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุกคนเริ่มลงมือทำจากสิ่งเล็ก ๆ ในวันนี้พร้อมร่วมเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้โลกใบนี้ และ สังคมดีขึ้นได้ ไม่ว่าคุณจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหน เพราะพลังของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

เล็กน้อยเปลี่ยนโลกได้" (Every Little Act Matters) ของ Nestlé Thailand

โดย Nestlé Thailand ได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมและดูแลโลกใบนี้ไปกับทุกคน นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับชุมชนในการดูแลแหล่งน้ำรอบโรงงานของเราให้สะอาด เพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 รวมถึงส่งต่อโลกที่ยั่งยืน และ อนาคตที่ดีของคนรุ่นถัดไป ในแบบที่ทุกคนร่วมลงมือทำที่ทำได้  

  1. เชื่อมโยงกับเจ้าของธุรกิจ และ ชุมชนในพื้นที่ (Connect to local business and community)

เพราะด้านความยั่งยืนไม่ได้มีแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่รวมไปถึงความยั่งยืนในด้านสังคม โดยตัวอย่างถัดไปเป็นผลงานของ Cadbury India ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต และ Ogilvy India ได้ร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย หลังจากวิกฤตโควิดในช่วงปี 2020 ผ่านแคมเปญ #NotJustACadburyAd โดยมี “ชารุกห์ ข่าน” ดารายักษ์ใหญ่ของบอลลีวูด ช่วยโปรโมทให้มาซื้อของในท้องถิ่นเพื่อฉลองเทศกาลดิวาลี ซึ่งเป็นเวลาที่ญาติพี่น้อง และ เพื่อนฝูงจะไปเยี่ยมกันและกัน เพื่อแลกเปลี่ยนของขวัญ แต่แน่นอนว่าการจะให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เข้าร่วมได้ทั้งหมดเป็นไปได้ยาก ทางทีมงานจึงสร้างไมโครไซต์ที่ช่วยให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กสามารถสร้างเวอร์ชั่นโฆษณาของตัวเองได้ และ แบรนด์นำไปต่อยอดงานโฆษณาที่ขับเคลื่อนด้วย AI และ Hyper-personalized Ads ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ร้านขายของชำ ร้านค้าปลีก ร้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของตกแต่งบ้าน เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และ ร้านขายเครื่องประดับมากกว่า 2,000 ร้านทั่วประเทศที่เข้าร่วม


#NotJustACadburyAd โดยมี “ชารุกห์ ข่าน”

  1. เชื่อมโยงกับโอกาส และ ความจริงใจ (Connect to more opportunity and authenticity)

หากเราพูดถึงเครื่องดื่มกาแฟ แน่นอนว่าเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่คนไทยหลาย ๆ คนบริโภคอยู่ในชีวิตแทบทุกวัน ซึ่งผลงานชุดถัดไป “กาแฟที่แฟร์กับคนทั้งโลก” ของ Café Amazon ในปี 2023 ที่ได้ทำร่วมกับ Ogilvy Thailand ได้ถ่ายทอดมาตรฐานใหม่ให้กับความยั่งยืนในอุตสาหกรรมกาแฟ ผ่านโอกาส และ ความจริงใจ ที่มอบให้กับผู้คน สิ่งแวดล้อม และโลกใบนี้ ได้ประโยชน์ร่วมกันแบบแฟร์ ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านหนังโฆษณาที่เล่าถึงเรื่องราวการเดินทางของกาแฟตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งส่งถึงมือผู้ดื่ม ซึ่งไม่เพียงแต่เน้นการให้ความสำคัญกับครอบครัว และ คนรอบข้างเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างแนวคิดในการดำเนินธุรกิจของโออาร์ ที่มุ่งมั่นในการสร้างโอกาส และ คุณค่าให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Café Amazon for Chance ที่ช่วยสร้างงานให้กับบาริสต้าที่มีความพิการทางการได้ยิน ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่ากว่า 180 ชีวิต รวมถึงการนำขวดพลาสติก PET มา Upcycling เป็นเสื้อของพนักงาน และ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในร้าน พร้อมทั้งภาพที่แสดงถึงแก้วไบโอคัพ ที่สามารถย่อยสลายได้จริง ซึ่งทั้งหมดนี้ คือ โอกาส และ ความจริงใจที่แบรนด์ได้ร่วมกันทำไปพร้อมกับทุกคน


“กาแฟที่แฟร์กับคนทั้งโลก” ของ Café Amazon

  1. เชื่อมโยงกับการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ (Connect to healthy diet consumption)

ความยั่งยืนอีกด้านหนึ่งที่บางครั้งแบรนด์อาจจะมองข้ามไป คือ การสนับสนุน และ นำเสนอตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งการชวนคนมาเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อดูแลสุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ทุกวัน ซึ่งแบรนด์ Delight กับแคมเปญ “หวานน้อย รักมาก” (Not very sweet) ถือว่าเป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการลงมืออย่างชัดเจน ผ่านชุดหนังโฆษณาที่ได้ร่วมกันทำกับทาง Ogilvy Thailand ที่สร้างความแตกต่างด้วยการ Disrupt ตลาด และนำเสนอผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตดื่ม Delight โปรไบโอติกโยเกิร์ต น้ำตาล 0.1% ที่มีรสชาติหวานน้อย ผ่านเหล่าตัวละครที่สื่อสารด้วยน้ำเสียงที่ดังและตรงไปตรงมา แต่ใช้คำที่เต็มไปด้วยความเอาใจใส่และความรักอย่างแท้จริง

ซึ่งบ่งบอกถึงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อย แต่มากด้วยคุณภาพและความรัก ที่เหมาะกับคนยุคนี้ นอกจากนั้นแบรนด์ Delight และ Ogilvy Thailand ได้ต่อยอดมาสู่แคมเปญ "ชวนลดหวาน 7 วันติด ปรับลิ้นเปลี่ยนรส" ผ่านแอนิเมชั่นซีรี่ย์ อินฟลูเอนเซอร์และ รูปแบบใหม่ของผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมการปรับพฤติกรรมการทานหวานน้อยในช่วงเวลา 7 วัน และ เปลี่ยนการทานอาหารให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้นได้แบบยั่งยืน

Delight กับแคมเปญ “หวานน้อย รักมาก”

ยิ่งเวลาผ่านไป เรื่องความยั่งยืนจะยิ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัว และเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นไปในทุกวัน ดังนั้นแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่เพียงแต่ต้องมุ่งพัฒนากลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับโจทย์ทางธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและคนในสังคม แต่แบรนด์ยังคงต้องอาศัยการร่วมมือกันเพื่อหาทางออกใหม่ ๆ ในด้านความยั่งยืนไปพร้อมกับคนในสังคม ซึ่งในวันข้างหน้า เราคงได้เห็นวิธีการที่อาจมีได้มากกว่า 4 วิธีข้างต้นอย่างแน่นอน ที่จะสร้างให้แบรนด์และคนเข้าใกล้กับความยั่งยืนได้มากขึ้น

ผู้เขียน: พฤกษ์ ชีวะวรนันท์ / Pruek Cheewaworanun
ผู้อํานวยการฝ่ายกลยุทธ์ โอกิลวี่ ประเทศไทย/ Strategy Director, Ogilvy Thailand

References:

Ogilvy

Ogilvy

Sustainability & Social Impact

แชร์
ทางออกของแบรนด์ ‘อาหารและเครื่องดื่ม’ กับการเชื่อมโยงความยั่งยืนให้เข้าใกล้คน