ความยั่งยืน

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ปรับที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแบบยั่งยืน

4 ต.ค. 67
เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ปรับที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแบบยั่งยืน

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ร่วมมือกับพันธมิตร ปรับที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแบบยั่งยืน ตั้งแต่ต้นจนจบครบทุกกระบวนการ

การปล่อยคาร์บอนทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน Global Warming โดย 40% ของคาร์บอนบนโลกเกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของขั้นตอนการก่อสร้าง ทำให้ปัจจุบันผู้บริโภคต่างตระหนักถึงปัญหานี้ และมองหาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ สาธารณูปโภค และสภาพแวดล้อมรอบๆ

งาน Sustainability Expo 2024 จึงมีการจัดเสวนาในหัวข้อ "การปรับตัวของธุรกิจที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคแบบยั่งยืน" ผ่านมุมมองของ คุณสมบูรณ์ วศินชัชชวาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คุณภวรัญชน์ อุดมศิริ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution, SCG Smart Living Buisness และ ดร.นรินธร จำวงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

amob2071

คุณสมบูรณ์ วศินชัชชวาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ มีโครงการอสังหาริมทรัพย์อยู่ทั่วประเทศรวมกว่า 78 โครงการ ส่งมอบบ้านไปไม่น้อยกว่า 25,000 หลังคาเรือน เฟรซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และทำการศึกษาความต้องการของลูกค้าจากกลุ่มตัวอย่าง 2,000 กลุ่ม ซึ่งพบว่ามีความคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมในทุกเจเนอเรชั่น เช่น กลุ่มเบบี้บูมเมอร์จะเน้นในเรื่องการรักษาสุขภาพ กินอยู่อย่างไรให้ร่างกายแข็งแรง กลุ่มเจน X ต้องการบ้านที่ร่มรื่น ปลอดโปร่ง โล่งสบาย กลุ่มเจน Y ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักในตอนนี้ ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับข้อมูลและเทคโนโลยีในยุค Y2K กลุ่มนี้จะให้ความสนใจมากในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอน ส่วนกลุ่มเจน Z ที่โตมาพร้อมกับไอแพด กลุ่มนี้ให้ความสำคัญของการเชื่อมต่อทั้งด้านการสื่อสาร และการคมนาคม เพราะมองว่าสามารถลดการเดินทางไปเรียนหรือไปทำงานได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ทำให้โลเกชั่นของบ้านต้องตั้งอยู่บริเวณที่เข้าถึงการคมนาคมสาธาณณะ เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มลูกค้าหลักต่อไปของบริษัท

amob2040

ในฐานะของผู้ประกอบการจึงต้องนำความต้องการเหล่านี้มาศึกษาและปรับใช้กับการสร้างบ้าน ในยุคเก่าอาจจะต้องเน้นเรื่องของ Passive Design ดูเรื่องทิศทางลม บ้านต้องหันหน้าไปทางไหน แต่ปัจจุบันต้องเน้นการออกแบบโดยคำนึงถึง Active Design ทำอย่างไรจึงจะออกแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการ เช่น หากให้ลมเข้าบ้าน จะต้องเป็นอากาศที่บริสุทธิ์ ไม่ปนเปื้อนมลพิษ เช่นฝุ่น PM2.5 ส่วนการก่อสร้างก็ต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงความสำคัญตั้งแต่การก่อสร้าง ไม่ใช่เฉพาะตัวบ้าน แต่ยังรวมไปถึงแรงงานที่สร้างบ้านจะต้องมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น มีห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัย เมื่อเขาทำงานด้วยความสุขเขาจะสร้างบ้านที่ดีๆ มีคุณภาพออกมาให้กับลูกค้า

บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้ทำข้อตกลงที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้เหลือ 42% ภายในปี 2030 ซึ่งตอนนี้ปัญหาหลักอยู่ในขั้นตอนของการก่อสร้าง จึงได้หาวิธีในการลดการปล่อยคาร์บอน เช่น ติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับลูกค้า ใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็น Green Material ซึ่งนอกจากจะเป็นในส่วนของบริษัทแล้ว ลูกบ้านเองก็ยังช่วยกันทำ เช่น ลดการใช้ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมมือกันอย่างดี

amob2061

คุณภวรัญชน์ อุดมศิริ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในปี 2567 พบว่า มีการติดตั้ง Solar Rooftop ไปแล้ว 234 ยูนิต คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,183 กิโลวัตต์ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 14,094 ตันกิโลคาร์บอน หรือเทียบเท่ากับปลูกต้นไม้มาดูดซับคาร์บอน 1,409,400 ต้น เหมือนป่าขนาดย่อมๆ เลยทีเดียว ทั้งนี้แผงโซลาร์ที่ติดตั้งให้ลูกบ้าน ไม่มีการผลักภาระไปให้ลูกค้า เพราะคำนึงถึงการใช้พลังหมุนเวียนเพื่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับในส่วนของวัสดุก่อสร้าง คือ เหล็ก คอนกรีต และสีทาบ้าน ในปีที่ผ่านมามีการร่วมมือกับผู้ผลิตที่สามารถผลิตสินค้าที่ลดการปล่อยคาร์บอน โดยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกไปได้ 1,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 100,000 ต้น

นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบบ้านให้ประหยัดพลังงานตามมาตรฐานของ EGAT ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ ติดตั้งฉนวนป้องกันความร้อน การใช้สีทาบ้านที่สะท้อนความร้อน ฯลฯ ซึ่งบริษัทได้รับรางวัลการประหยัดพลังงานขั้นสูงสุดระดับ 5 ในทุกหัวข้อที่ประเมิน โดนเป้าหมายต่อไปคือการผลิตบ้านให้ได้มาตรฐานการประหยัดพลังงานในระดับโลก ซึ่งขณะนี้มีแค่เพียงอาคารสูง หรือนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยบางแห่งที่ได้รับการการันตี แต่ยังไม่มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยรายใดได้ตรงนี้ ซึ่งบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ มุ่งมั่นจะก้าวไปให้ถึงจุดนั้นและกำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าปีนี้น่าจะได้รับการรับรองเพราะอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว

amob2096

คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution, SCG Smart Living Buisness เผยว่า ดีใจที่วงการอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยับไปสู่ความยั่งยืน ทาง SCG เองได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก ซึ่งมีโลโก้ "Green Choice" ช่วยลดโลกร้อน ลดการใช้ทรัพยากร และมีสุขอนามัยที่ดี ส่วนในมุมของตัวโครงการต่างๆ นั้น SCG มีบริการหนึ่งที่อาจจะยังไม่ค่อยมีคนรู้จักนั่นคือ "ที่ปรึกษาอาคารเขียว" เดิมคนจะนึกถึงแค่อาคารสูง แต่ปัจจุบันมีการนำมาใช้กับบ้านพักอาศัย ซึ่ง SCG ได้ทำงานร่วมกับบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ในการให้คำปรึกษาในเรื่อง Sustainability

อีกเรื่องหนึ่งคือการลดคาร์บอน ทั้งนี้การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สร้างคาร์บอนมาตั้งแต่การออกแบบบ้าน จนกระทั่งก่อสร้าง และหลังการขาย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ คาร์บอนที่อยู่ในเนื้อของวัสดุก่อสร้างต่างๆ และคาร์บอนที่เกิดจากหลังการเข้าอยู่อาศัย ซึ่งตัวอย่างที่ทาง SCG เข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้คือการยกระดับโครงการให้เข้าหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนระดับโลก การใช้วัสดุที่คาร์บอนต่ำ การติดตั้งโซลาร์ในบ้านเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งช่วยขยายผลของความยั่งยืนของวงการอสังหาริมทรัพย์ให้ตอบโจทย์ประเทศไทยและระดับโลกต่อไป

amob2109

ดร.นรินธร จำวงษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า มาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีการดูแลและควบคุมโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ทั้งนี้มาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในประเทศไทย แบ่งเป็น "โครงการ T-VER" คือ กลไกลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศที่ TGO พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2557 มีชื่อเต็มว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) เรียกย่อว่า T-VER (อ่านว่า ที-เวอ) ซึ่งเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ โครงการ T-VER มาตรฐานขั้นสูง (Premium T-VER) ต้องเป็นกิจกรรมที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ที่สามารถตรวจวัดการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง (real) และถาวร (permanent) มีการดำเนินงานเพิ่มเติมจากการดำเนินงานตามปกติ (additional) ไม่มีการนับซ้ำ (double counting) สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีการป้องกันผลกระทบด้านลบ (safeguards) ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบ (do-no-net harm) และ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme) หรือเรียกว่าโครงการ LESS มีแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรม เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยกย่องผู้ทำความดีโดยการมอบใบประกาศเกียรติคุณ (Letter of Recognition: LOR) ดังนั้นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากโครงการ LESS จึงไม่สามารถนำไปซื้อ-ขายได้

คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้ามาร่วมมือกับ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ในส่วนสุดท้าย นั่นคือ โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS ซึ่งข้อกำหนดมาตรฐาน LESS ในพื้นที่โครงการหมู่บ้านจัดสรรของบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ต้องเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก และดำเนินการแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน โดยนับเฉพาะต้นไม้ที่ปลูกแล้วในโกรงการเท่านั้น

กรณีปลูกเป็นแถวเป็นแนว (Strip) หากปลูกมากกว่า 300 ต้น ต้องเก็บข้อมูลต้นไม้เพื่อเป็นตัวแทนในกลุ่มต้นไม้ที่ปลูกพร้อมกัน ไม่น้อยกว่า 300 ต้น และให้นับจำนวนต้นไม้ทุกต้นภายใต้กิจกรรมที่ดำเนินการ กรณีปลูกน้อยกว่า 300 ต้น ต้องเก็บข้อมูลต้นไม้ทุกต้น กรณีปลูกไม่เป็นระเบียบ จัดสวน รอบๆ อาคารสถานที่ ให้เก็บข้อมูลต้นไม้ทุกต้น ทั้งนี้จะต้องเป็นไม้ต้นที่มีความสูงตั้งแต่ 1.3 เมตรขึ้นไป และมีเส้นรอบวงตั้งแต่ 15 เซนติเมตรขึ้นไป เมื่อได้ข้อมูลก็จะสามารถวัดปริมาณคาร์บอนเครดิตของโครงการได้

ปีที่ผ่านมา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการไปแล้ว 3 โครงการของบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเมินการกักเก็บคาร์บอนได้ประมาณ 73 ตัน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่นๆ ของบริษัท นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของวงการอสังหาริมทรัพย์ในการช่วยกันลดการปล่อยคาร์บอน

amob2141

คุณสมบูรณ์ วศินชัชชวาล กล่าวปิดท้ายว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หนีไม่พ้นในเรื่องของการก่อคาร์บอน บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คำนึงถึงเรื่องนี้ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง และหลังการขาย จึงต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการให้มากขึ้น ตัวบ้านลูกค้าก็ต้องเป็นบ้านที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เรียกได้ว่า บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และกลุ่มพันธมิตรได้ยึดมั่นในการสร้างที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การเปิดรับฟังความคิดเห็น การควบคุมมาตรฐานการก่อสร้าง การเลือกใช้วัสดุที่ปลอดคาร์บอน เพื่อให้ลูกค้าได้บ้านที่ปลอดภัยและยั่งยืนต่ออนาคต

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT