ธุรกิจการตลาด

Meta เปิดตัว ‘Llama 3.1’ โมเดล AI ที่รองรับภาษาไทย หวังสู้ ChatGPT 4-o

7 ส.ค. 67
Meta เปิดตัว ‘Llama 3.1’ โมเดล AI ที่รองรับภาษาไทย หวังสู้ ChatGPT 4-o

Meta ประกาศอัปเกรดโมเดล AI เวอร์ชันล่าสุดอย่าง ‘Llama 3.1’ (ลาม่า) ซึ่งเป็น AI ที่ใช้โมเดลประมวลผลด้วยภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ Meta ในการส่งเสริมนวัตกรรมและความร่วมมือภายในชุมชน AI ให้กับนักพัฒนา นักวิจัย และองค์กรจำนวนมาก โดยในการเปิดตัวครั้งนี้ ยังรวมภาษาไทยเป็นหนึ่งในภาษาภายในโมเดลด้วย

ภาพรวมของ Llama 3.1

Llama 3.1 มาพร้อมกับโมเดล 8B และ 70B ซึ่งมีการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม รวมถึง การเปิดตัว ‘Llama 3 405B’ โมเดลโอเพนซอร์สที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในอุตสาหกรรม AI ด้วยประสิทธิภาพการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ใช้งานได้ง่าย และมีความสามารถมากกว่าที่เคย ดังนี้: 

- ประสิทธิภาพที่เหนือชั้น: AI ระบบเปิดที่นำเสนอประสิทธิภาพของโมเดลไม่แพ้ระบบปิด (โคลสซอร์ส) ชั้นนำทั้งหมด

- เพิ่มภาษาที่รองรับ: เพิ่มภาษาที่ให้บริการถึง 8 ภาษา รวมถึงภาษาไทย

- ปรับปรุงความสามารถในการสนทนา: ขยายการรองรับความยาวเนื้อหามากถึง 128k ช่วยให้การโต้ตอบมีความหลากหลายมากขึ้น

- ให้เหตุผลได้น่าเชื่อถือมากขึ้น: จัดการกับงานที่ซับซ้อนด้วยความสามารถในการใช้เหตุผล (Reasoning) ที่ดีขึ้น

- ปรับปรุงระบบการทำงาน: รองรับการสร้างข้อมูลสังเคราะห์และการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างโมเดล (Model distillation)

- มีความรับผิดชอบ: องค์ประกอบด้านความปลอดภัยในระบบแบบใหม่ ช่วยให้เกิดการใช้งานอย่างมีความรับผิดชอบ

- อีโคซิสเต็มที่เติบโต: พันธมิตรมากกว่า 30 รายมุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนา Llama 3.1 ตั้งแต่เริ่มต้น

หลังจาก Meta ได้เปิดตัวโมเดล Llama รุ่นแรกเมื่อปีที่ผ่านมา ยอดดาวน์โหลดรวมกว่า 300 ล้านครั้ง และมีการพัฒนาโมเดลต่อยอดกว่า 20,000 โมเดลสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย ส่วนในปัจจุบัน โมเดล AI ของ Meta มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพในภาพรวมในภาพรวมดังนี้:

- ความคิดสร้างสรรค์: ฟีเจอร์ ‘Imagine Yourself’ ช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้งาน ได้ปล่อยจินตนาการของตนเอง ด้วยการสร้างรูปภาพตนเองขึ้นมาใหม่ได้ในทุกสถานการณ์ และช่วยปรับแต่งรูปภาพที่ Meta AI สร้างขึ้นได้อย่างละเอียด ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเพิ่ม ลบ หรือเปลี่ยนองค์ประกอบในรูปได้ตามที่ต้องการ

- ความชาญฉลาดในการประมวลผล: ช่วยให้ผู้ใช้งานรับมือกับความท้าทายที่ซับซ้อนได้อย่างง่ายดาย โดยจะได้รับผลลัพธ์หรือคำตอบที่แม่นยำขึ้นสำหรับปัญหาที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ หรือการเขียนโค้ด รวมถึง จะได้รับประสบการณ์ AI ที่ดีขึ้น โดยมีการอัปเดตอย่างต่อเนื่องจากความคิดเห็นของผู้ใช้งาน

- การเข้าถึง: ทุกผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มของ Meta อย่าง WhatsApp, Facebook, Instagram, และอีกมากมาย มีโมเดล AI ของ Meta อยู่ในนั้น โดยการเพิ่มภาษาที่ให้บริการช่วยให้ Meta AI เข้าถึงผู้ใช้ได้มากขึ้น โดยโมเดลแบบโอเพนซอร์สของ Llama จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถปรับแต่งและฝึกฝนโมเดลของตนเอง รวมถึงรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และช่วยพัฒนาระบบให้แข็งแกร่งได้ 

การขยายการรองรับภาษาไทยของ Llama 3.1

Rafael Frankel ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Meta กล่าวว่า “การเปิดตัว Llama 3 405B ครั้งนี้ นับเป็นการเปิดตัวโมเดลโอเพนซอร์สที่ใหญ่ที่สุด และก้าวหน้าที่สุดในอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ Llama 3.1 รวมถึง การอัปเดตโมเดล 8B และ 70B ซึ่งขณะนี้รองรับภาษาไทยแล้ว”

“โมเดลโอเพนซอร์สนี้จะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวไทยสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับประเทศไทยได้มากขึ้น เราเชื่อว่า AI มีศักยภาพมากกว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยอื่น ๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงาน และความคิดสร้างสรรค์ให้แก่มนุษย์ และยังช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมปลดล็อกความก้าวหน้าให้กับธุรกิจและชุมชนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย"

ปลดล็อกโอกาสด้าน AI ในไทย

นอกจาก Llama AI จะเพิ่มการรองรับภาษาไทยแล้ว Meta ยังจะจัดการอบรมและโครงการต่างๆ  และให้ทุนสนับสนุนมูลค่ารวม 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 71,300 ล้านบาท สำหรับนักพัฒนาและองค์กรทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย รายละเอียดมีดังต่อไปนี้:

  1. ทุนสนับสนุน Llama 3.1 Impact Grants จาก Meta

    โปรแกรมระดับโลกที่เปิดรับข้อเสนอโครงการต่างๆ ที่ใช้ Llama AI และฟีเจอร์อื่นๆ ในโมเดล เพื่อเสริมสร้างผลกระทบทางสังคมและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation)

Meta เปิดรับสมัครสำหรับทุนสนับสนุน Llama 3.1 Impact Grants ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป องค์กรที่มีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์สามารถส่งข้อเสนอโครงการที่เล่าถึงการใช้ Llama 3.1 ในการแก้ไขปัญหาสังคมในชุมชนของตน โดยผู้ชนะที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับเงินทุนสนับสนุนโครงการสูงสุดถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 17.83 ล้านบาท การประกาศผู้ชนะคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2568

  1. โครงการ AI Accelerator Program สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

Meta จะจัดโครงการในระดับภูมิภาคเพื่อให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และโอกาสในการสร้างเครือข่ายสำหรับนักพัฒนา AI ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่จะจัดขึ้น คือ โครงการ ‘AI Accelerator Program’ สำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับภูมิภาคที่นักพัฒนา Llama จะส่งข้อเสนอโครงการที่แสดงให้เห็นว่า Llama AI สามารถใช้แก้ไขปัญหาสังคมในประเทศของตนได้อย่างไร

โดยผู้ชนะจะได้เป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน Hackathon ออนไลน์ในสิงคโปร์ เพื่อชิงทุนพิเศษสูงสุด 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 3.57 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการ โดยโครงการที่มีศักยภาพสูงสุดจะได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลพิเศษมูลค่าถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับประเทศไทย Meta ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)AI Governance Clinic และสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย  (AIAT)  เพื่อจัดการแข่งขันและคัดเลือกผู้ชนะระดับประเทศจำนวนหนึ่งรายเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระดับภูมิภาคในสิงคโปร์

  1. หลักสูตร AI สำหรับ SMEs ในประเทศไทย

ในครึ่งปีหลัง 2567 Meta ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเปิดหลักสูตรการตลาดด้วย AI สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย เพื่อเสริมสร้างทักษะและความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อการเติบโตทางธุรกิจ

นอกจากนี้ Meta จะจัดงานสัมมนาด้านการตลาด Meta Marketing Summit ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดยจะเชิญผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว่า 800 รายเข้าร่วมงานเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือและบริการด้าน AI ของ Meta

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT