AP รายงานว่า หน่วยกู้ภัยเมียนมาได้กู้ร่างผู้เสียชีวิต 10 รายล่าสุด ออกจากอาคารบ้านเรือนที่ถล่มลงมาในเมืองมัณฑะเลย์ และเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบร่างผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 80 รายจากการรื้ออาคารโรงแรม Great Wall ในเมืองมัณฑะเลย์ ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวเมียนมาขณะนี้เกิน 3,600 รายแล้ว ตัวเลขผู้บาดเจ็บพุ่งสูงขึ้นทะลุ 5,017 คน รายงานสูญหาย 160 ราย และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าตัวเลขเหล่านี้จะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พล.ต. ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา แถลงว่า ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยในเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 1,738 นายจาก 20 ประเทศ ซึ่งได้ช่วยค้นหาเหยื่อแผ่นดินไหวและทำให้มีผู้รอดชีวิต 653 ราย ล่าสุด ทีมกู้ภัยจากต่างประเทศเริ่มทยอยถอนตัวออกจากปฏิบัติการกู้ภัยแล้ว เนื่องจากล่วงเลยเวลาของ Golden hours หรือเวลาทองพบผู้รอดชีวิตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และทีมกู้ภัยแต่ละประเทศจำเป็นต้องกลับไปปฏิบัติหน้าที่เดิมในประเทศของตน
นอกจากนี้ โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมายังประกาศชื่ออย่างเป็นทางการของเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 โดยใช้ชื่อว่า “แผ่นดินไหวมัณฑะเลย์” เพื่อให้สอดคล้องกับเอกสารและการอ้างอิงในอนาคต
สำนักงานประสานงานกิจการมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ OCHA ระบุว่า ประชาชนมากกว่า 17.2 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และต้องการอาหาร น้ำดื่ม การดูแลสุขภาพ ความช่วยเหลือด้านการเงิน และที่พักพิงฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน รายงานจาก OCHA ยังระบุเพิ่มเติมว่า ชุมชนทั้งหมดถูกทำลายล้าง ทำให้ผู้คนต้องหาที่พักพิงในสภาพที่ไม่แน่นอน
ยูนิเซฟเมียนมาเตือนว่า ชุมชนหลายแห่งจำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากแผ่นดินไหวที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้ผู้รอดชีวิตในพื้นที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคอหิวาตกโรคและโรคท้องร่วงเฉียบพลัน หรือ AWD โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้ ยังสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำประปาและสุขาภิบาล รวมถึงการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ที่จำกัด
รายงานระบุว่า มีรายงานผู้ป่วยโรค AWD อย่างเป็นทางการ 5 รายในเมืองสะกาย จุดศูนย์กลางแผ่นไหว ขณะที่ในโซเชียลมีเดียของประชาชนรายงานกันว่ามีผู้ป่วยอย่างน้อย 95 รายแล้ว ซึ่งเข้าใกล้การระบาดที่อาจลุกลามเป็นวงกว้างได้ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากต้องนอนกลางแจ้งหรือในที่พักพิงที่แออัด จึงมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของมาเลเรีย ไข้เลือดออก และการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน
สถานทูตสหรัฐฯ ในย่างกุ้งประกาศเมื่อเย็นวันเสาร์ (5 เม.ย. 68) ให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะจัดสรรเงินเพิ่มเติม 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 242 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติของสหรัฐฯ ประเมินเบื้องต้นว่าจะสามารถฟื้นฟูระบบบริการพื้นฐานไม่ให้ล่มสลาย
การประกาศให้ความช่วยเหลือทางการเงิน นับว่าเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากทีประกาศไว้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 68 ที่ผ่านมา ซึ่งสถานทูตสหรัฐฯ สัญญาว่าจะบริจาคประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 70 ล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลเมียนมา ช่วยจัดหาที่พักฉุกเฉิน อาหาร การดูแลทางการแพทย์ และน้ำสะอาดให้กับผู้ที่ต้องการ
การสนับสนุนจากสหรัฐฯ เกิดขึ้นสวนทางกับนโยบายระงับความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศชั่วคราว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID และส่งผลต่อความช่วยเหลือในเหตุแผ่นดินไหวเมียนมาด้วย เมื่อพนักงาน 3 รายของ USAID ถูกปลดกลางอากาศ ขณะที่พวกเขากำลังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่
ด้านมาร์เซีย หว่อง อดีตรองผู้ดูแลสำนักงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของ USAID เปิดเผยว่า ทีมงาน USAID จากสหรัฐฯ กำลังทำงานอย่างหนักมาก โดยมุ่งเน้นที่จะส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับเหยื่อแผ่นดินไหว พอได้รับข่าวว่าพวกเขาถูกไล่ออกจากงานแบบนี้ จะไม่ให้สูญเสียกำลังใจได้อย่างไร?
ทั้งนี้ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย หัวหน้าคณะรัฐบาลทหารพม่า กล่าวในวันเดียวกันว่า รัฐบาลเมียนมาจะจ่ายเงิน 1 ล้านจ๊าด (227 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือราว 7,860 บาท ต่อคน เพื่อช่วยเหลือครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว พร้อมให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เจ้าของบ้านเรือนและอาคารที่ได้รับความเสียหายอีกด้วย
การตอบสนองของนานาชาติต่อคำเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเมียนมาในเหตุแผ่นดินไหวมัณฑะเลย์สะท้อนความขัดแย้งเชิงยุทธศาสตร์ และทำให้เห็นเส้นขั้วอำนาจโลกอย่างชัดเจน ทีมกู้ภัยจากรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของรัฐบาลทหาร เป็นกลุ่มกู้ภัยระหว่างประเทศกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงเมียนมา ตามมาด้วยทีมจากอินเดีย ไทย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยได้ส่งสิ่งของช่วยเหลือมาทางเครื่องบิน
นักวิเคราะห์ต่างชาติเชื่อว่า เพื่อเป็นการไม่ให้รัฐบาลจีนต้องเป็นกังวล เมียนมาไม่ได้ตอบรับความช่วยเหลือจากไต้หวัน แม้ทีมกู้ภัยพร้อมเดินทางมาเป็นทีมแรก ๆ เช่นกัน จนรัฐบาลไต้หวันตัดสินยุบทีมกู้ภัย แม้ประชาชนเมียนมาจะออกมาแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลทหารเมียนมา เพราะประเทศยังคงต้องการความช่วยเหลืออีกมาก
อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ จะเป็นขั้วตรงข้ามกับจีนและรัสเซีย แต่ทางการสหรัฐฯ ได้ประกาศบริจาคเงินถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจะมอบเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และล่าสุดจะบริจาคเพิ่มอีก 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ นับเป็นผู้บริจาครายใหญ่ที่มอบเงินสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาสูงถึง 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยมากกว่า 310 ล้านบาทเลยทีเดียว ยังไม่นับรวมทีมกู้ภัย การจัดหาที่พักพิงฉุกเฉิน อาหาร การดูแลทางการแพทย์ และน้ำให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว
นี่อาจเป็นเวทีการเมืองแสดงสปิริตของมหาอำนาจ ในช่วงที่มีสงครามการค้าอันดุเดือด แม้รัฐบาลทรัมป์ 2.0 จะดำเนินท่าทีตัดความช่วยเหลือไปยังต่างประเทศตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง แต่เหตุแผ่นดินไหวก็เปิดโอกาสให้รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน แสดงอำนาจว่ายังเป็นพี่ใหญ่ในการเมืองโลก ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับประเทศที่ฝักใฝ่ในอำนาจจีนและรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด
สำนักข่าว The Irrawaddy ของเมียนมารายงานว่า เมื่อพิจารณาการตอบสนองของนานาชาติต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะเห็นพัฒนาการ 2 ประการ ประการแรกคือการแข่งขันกันระหว่างจีนและรัสเซียเพื่ออิทธิพลในเมียนมา และประการที่สองคือ การตัดสินใจที่ไม่คาดคิดของสหรัฐฯ ที่ได้มอบความช่วยเหลือชุดใหญ่ แม้จะยุบ USAID อย่างแข็งขัน
อย่างไรก็ตาม ผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาลปักกิ่ง ไม่ได้ลืมว่ากองทัพเมียนมาตัดสินใจในปี 1990 ที่จะเข้าถึงรัสเซียเพื่อถ่วงดุลกับความพึ่งพาจีนอย่างล้นหลามในขณะนั้น นับแต่นั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและเมียนมาร์ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้น รัสเซียกลายเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ และนักเรียนนายร้อยของเมียนมาก็เดินทางไปฝึกอบรมที่รัสเซีย ล่าสุด ผู้นำคณะรัฐประหาร มิน อ่อง หล่าย เดินทางไปยังมอสโกเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พร้อมลงนามข้อตกลงกับรัสเซียเกี่ยวกับโปรเจกต์พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาด 110 เมกะวัตต์ในเมียนมา และตกลงที่จะร่วมมือกันในการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวมถึงการก่อสร้างท่าเรือใหม่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงกลั่นน้ำมัน