ขี้อิจฉา ไม่ใช่นิสัย แต่อาจเข้าข่ายป่วย "จิตเวช" ?!

8 ก.ค. 67

งานวิจัยเผย ความอิจฉาริษยาเป็นอาการที่เข้าข่ายโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง สมควรได้รับการรักษาผ่านวิธีทางจิตวิทยามากกว่าจะปล่อยไปเรื่อยๆ

คุณเคยรู้สึก "อิจฉา" ใครบนโลกนี้บ้างไหม? หากใช่ และความรู้สึกนั้นเกิดเพียงชั่วขณะแล้วหายไป อาจเป็นเพียงแค่ความรู้สึกรู้สาประสามนุษย์ที่มี รัก โลภ โกรธ หลง เท่านั้น แต่หาก ความรู้สึกอิจฉาก่อตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งพัฒนากลายเป็นความ "ริษยา" คุกรุ่นอยู่ในใจ และหาทางทำร้าย ทำลาย คนที่คุณอิจฉา นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า ความอิจฉาของคุณอาจเข้าข่ายอาการทางจิตเวช

อ้างอิงจากงานศึกษาชื่อ Envy As Pain: Rethinking the Nature of Envy and Its Implications for Employees and Organizations ตีพิมพ์ใน Academy of Management Review ระบุว่า ความอิจฉาริษยาเป็นอาการที่เข้าข่ายโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง และเป็นสิ่งที่สมควรได้รับการรักษาผ่านวิธีทางจิตวิทยามากกว่าจะปล่อยไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่านั่นคือ นิสัยที่ฝังรากลึกไปแล้ว

อีกหนึ่งตัวอย่างงานวิจัย โดย มหาลัยพรินซ์ตัน เสนอในมุมมองเกี่ยวกับ ความรู้สึกอิจฉา ว่า "สมอง สนุกเมื่อเห็นคนที่เราอิจฉาหรือหมั่นไส้ล้มเหลวเรื่องใดๆ ก็ตาม"

จากข้อมูลจาก neurogenius.com อ้างอิงถึง งานวิจัยของ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน นำโดย ดร.มีนา ซิคารา ดร.ซูซาน ฟริสก์ และดร.แมทธิว บอทวินิค ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการรับรู้ ได้ศึกษาพฤติกรรมของแฟนเบสบอลทีมบอสตัน เรด ซอกซ์ และทีมนิวยอร์ก แยงกีส์ ซึ่งเป็นทีมคู่ปรับกันมายาวนาน พบว่า เมื่อทีมใดทีมหนึ่งแพ้ สมองส่วน Ventral Striatum ของแฟนคลับของทีมที่ชนะจะมีการตอบสนองเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นสมองนี้เป็นส่วนที่สัมพันธ์กับความสนุกสนาน เพลิดเพลินใจ นอกจากนี้ ปฏิกิริยาของสมองในส่วนนี้ยังตอบสนองในแบบเดียวกันเมื่อแฟนคลับแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อเวลาพูดถึงการกระทำที่อยากทำร้ายแฟนคลับอีกฝ่าย และมีความสุขเมื่ออีกฝ่ายทำผิดพลาด

แม้ความอิจฉา ในมุมมองของนักจิตวิทยาจะมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เมื่อมาอยู่ร่วมกัน แต่หากปล่อยให้สมองติดอยู่กับกลไกการคิดแบบติดลบไปเรื่อยๆ คงไม่เป็นผลดีกับการใช้ชีวิตในสังคมแน่ๆ ซึ่งในบางรายที่เข้าข่ายเป็น "ผู้ป่วยจิตเวช" อาจแสดงออกผ่าน 5 สัญญาณ ดังนี้

สัญญาณเตือน ผู้ป่วยจิตเวช ก่อความรุนแรง

1. มีอาการสับสน ไม่สามารถแยกแยะความจริงได้
2. มีอาการหวาดระแวง ตอบสนองต่อเสียงแว่วและภาพหลอน
3. มีท่าทีกระสับกระส่ายหรือหุนหันพลันแล่น
4. มีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวอย่างรุนแรงทางสีหน้าและท่าทาง
5. พูดจาก้าวร้าว หรือแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อตนเอง ผู้อื่น และสิ่งรอบตัว

คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน มีวิธีรับมืออย่างไร

1. สอดส่องดูแลหากผู้ป่วยอยู่ในกระบวนการรักษา มียาต้องรับประทาน ผู้ใกล้ชิดต้องดูแลติดตามให้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง
2. ใส่ใจรับฟัง ให้กำลังใจ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ
3. หากผิดปกติ หรืออาการกำเริบให้รีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ หรือโทรขอคำปรึกษา สายด่วนสุขภาพจิต 1323
4. หากมีแนวโน้ม ความรุนแรงมากขึ้นให้รีบติดต่อสายด่วน 1669 สายด่วนแพทย์ฉุกเฉิน หรือ 191 สายด่วนตำรวจ

อ้างอิงข้อมูล
- Envy As Pain: Rethinking the Nature of Envy and Its Implications for Employees and Organizations 
- นิสัย “ขี้อิจฉา” เกิดจากสมอง www.neurogenius.com
- กรมสุขภาพจิต 

อิจฉา ริษยา

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด