นักวิชาการยก 2 เหตุผล รัฐบาลให้ต่างชาติถือครองที่ดิน ผลเสียมากกว่าผลดี

2 พ.ย. 65

นักวิชาการแจงเหตุผล ทำไมกฎหมายให้ต่างชาติถือครองที่ดินในไทยจึงมีผลเสียมากกว่าผลดี วอนรัฐบาลฟังเสียงประชาชนเจ้าของประเทศ

วันที่ 2 พ.ย.65 นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจารย์พิเศษคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา กล่าวถึงกรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าว ที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้ จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่า การประกาศใช้กฎกระทรวงนี้ จะทำให้มีผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดต้อนนี้อย่างน้อยก็ 2 ด้าน ได้แก่

1. ถ้าไทยเราขายที่ดินให้ต่างชาติถือครองได้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินก็จะตกเป็นของผู้ซื้อโดยปริยาย เพราะการซื้อไม่ใช่การเช่าที่กรรมสิทธิ์ยังเป็นของเราอยู่ ดังนั้น เมื่อเขาซื้อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้ว เขาก็ย่อมมีสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้นๆ จะห้ามใครเข้าไปก็ย่อมได้ เพราะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล นี่คือปัญหาที่จะตามมา ซึ่งรัฐบาลจะสามารถยอมรับในสิทธิ์ดังกล่าวได้หรือไม่

2. การขายที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจให้ชาวต่างชาติ ซึ่งจะมีมูลค่าเพิ่มอย่างไม่จำกัด ไม่เป็นผลดีแน่นอน ยกตัวอย่างที่ดินบางย่านในกรุงเทพมหานคร เพียง 50 ตารางวา ราคาพุ่งสูงถึง 100 ล้านบาทก็มี ส่วนตัวเมืองใหญ่ๆ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวอย่าง ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ถ้าซื้อย่านเศรษฐกิจสำคัญๆ ไว้เหมือนการลงทุนเพื่อเก็บกำไร เขาก็ทำได้ ประเทศที่เขามีค่าเงินต่างกับเรา เขายิ่งทำได้ง่าย ยกตัวอย่าง ค่าเงินดอลล่าร์ 1 ดอลล่าร์ เท่ากับ 38 บาทไทย เป็นต้น

หากเขาเอาเงินมาลงทุนซื้อไว้ โอกาสทำกำไรก็มีสูงมาก แม้จะเขียนกฎหมายห้ามโอน แต่เขาก็หาช่องว่างได้ อย่างที่ สปก. ซึ่งมีการซื้อขายกันให้เห็นอยู่ทุกวันนี้

ดังนั้นสรุปได้ว่า การออกกฎกระทรวงครั้งนี้ มีผลเสียมากกว่าผลดี รัฐบาลต้องชี้แจงอย่างเป็นระบบ อย่าให้ทีมงานมาโต้ตอบเสียงคนคัดค้านแบบใช้อารมณ์กัน เพราะคนที่คัดค้านเขาก็ใช้สิทธิในฐานะคนไทย รัฐบาลควรรับฟังเสียงทุกฝ่าย ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบระยะยาวแน่นอน รัฐบาลต้องตัดสินใจให้รอบคอบมากที่สุด

 

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส