ไทยสร้างไทย ย้ำจุดยืนเดินหน้า กฎหมายนิรโทษกรรม แนะแก้ ป.วิอาญา ลดขัดแย้ง  

30 ก.ค. 67

 

ไทยสร้างไทย ย้ำจุดยืนเดินหน้า กฎหมายนิรโทษกรรม แนะแก้ ป.วิอาญา ลดขัดแย้ง เดินหน้าประเทศไทย ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 

วันที่ 30 ก.ค. 67 ที่พรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค นายเชาวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ร่วมแถลงข่าวแสดงจุดยืนของพรรคต่อแนวทาง การตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนชัดเจน เป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยากเห็นความสามัคคีปรองดองหันหน้าเข้าหากัน จากความเห็นต่างจนเกิดปัญหาคดีความต่างๆ จนเป็นที่มาของการเสนอนิรโทษกรรม ซึ่งอยากให้ยึดเรื่องของคุณธรรม 4 ประการ เป็นหลักที่จะทำให้คนหันหน้ามาพูดคุยกัน 

“พรรคไทยสร้างไทย เห็นปัญหาและความสำคัญของพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเดินหน้าประเทศไทย ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่การแก้ต้องทำด้วยหัวใจบริสุทธิ์ สติและปัญญา ไม่ใช่แก้ด้วยความรัก เกลียด หรือความชัง วันนี้แม้แต่ประชาชนธรรมดา ยังมีกฎหมายคุ้มครองเรื่องการหมิ่นประมาท องค์พระพระมหากษัตริย์ ต้องมีสิทธิ์ไม่ด้อยไปกว่าประชาชนธรรมดา แต่หลายปีที่ผ่านมาความขัดแย้งทางการเมือง มีผู้กระทำผิดจริง และผู้ถูกกล่าวหาเสมือนการกลั่นแกล้งทางการเมือง และผู้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดียังไม่ถึงที่สุด และไม่ได้รับการประกันตัวยิ่งทำให้เกิดการแตกแยก จุดยืนของพรรคคือการรักษาประชาธิปไตยที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และจุดยืนคือทำให้สถาบันดำรงไว้อยู่คู่กับประเทศไทย” 

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ทั้งนี้สิ่งที่เราได้คิดกันออกมา คือการที่เราจะแก้กฎหมาย ป.วิอาญา ซึ่งอยู่ระหว่างกำลังร่าง และขอความร่วมมือทั้งสภาฯ ในการเซ็นชื่อสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.นี้ เพื่อเดินไปสู่การมีคณะกรรมการขึ้นมา ที่จะพิจารณาการกระทำความผิดจริง หรือถูกกลั่นแกล้ง และขอพระราชทานอภัยโทษ ถ้ามีช่องทาง เรามองว่าลักษณะนี้ถึงจะทำให้ประเทศไทยสร้างความปรองดอง และสามารถเดินหน้าได้ 

นายโภคิน กล่าวว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แน่นอนว่าผู้ที่เสนอมีการศึกษามาอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่จะได้รับนิรโทษกรรม หรือคดีแบบใดบ้างที่เข้าเงื่อนไข แต่คือหลักใหญ่คือ จะมีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งพรรคเราเห็นชัดเจนว่า ไม่ควรมีการนิรโทษกรรม มาตรา 112 เพราะกรณี มาตรา 112 เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญเองบอกว่าองค์พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะเป็นเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ 

ทั้งนี้คนธรรมดาเองหากมีการดูหมิ่น ก็ถือว่าผิดกฎหมาย โดยกฎหมายไม่ได้ยอมรับให้ใครมานิรโทษกรรมให้เราได้ นอกจากเรายอมเอง ในทางอาญาเรียกว่าเป็นความผิดส่วนตัวยอมความได้ แต่ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ยอมความไม่ได้ เพราะเป็นความผิดต่อแผ่นดิน จึงเกิดกระบวนการกล่าวโทษตามโรงพัก และเข้าสู่กระบวนการของอัยการ จนมีการฟ้องศาล ซึ่งกระบวนการตัวนี้อาจมีการกลั้นแกล้ง และช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเมืองมีสิ่งนี้เข้าไปเกี่ยว

โดยสรุปเราเห็นว่าควรจะมีการดำเนินการในหลักการ คือ แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การกล่าวโทษไม่ควรไปอยู่ที่ตำรวจ ควรมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ประกอบด้วย อัยการ ตำรวจ นักวิชาการ และอื่นๆ เพื่อพิจารณารวมศูนย์ แต่หัวใจสำคัญ คือ ระหว่างดำเนินคดีอยากให้แก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้องค์พระพระมหากษัตริย์ มีพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัย หากมีการกราบทูลขึ้นไป และสำนึกผิดว่ากระทำผิด และจะไม่กระทำอีก ซึ่งคดีจะจบไปไม่ รวมถึงการอภัยโทษที่เป็นกรณีปกติ มีกฎหมายเรื่องนี้อยู่ 

การเสนอครั้งนี้หากมีการนิรโทษกรรมตาม มาตรา 112 ทางพรรคมองว่าพระองค์ท่าน อาจถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย การเอากฎหมายไปนิรโทษกรรมคงไม่มีความเหมาะสม พรรคจึงเสนอว่า ควรเติมอีก 2 เงื่อนไข คือ กรณีที่ 1 ใครก็ตามที่ถูกดำเนินคดีอยู่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดก็สามารถขอพระราชทานอภัยได้ โดยทำหนังสือกลับทูลขึ้นไป และให้คำมั่นว่าจะไม่กระทำการผิดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระองค์ท่านจะมีพระเมตตาอภัยโทษให้หรือไม่ และกรณีที่ 2 ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็รอการอภัยโทษตามวาระ และตามกฏหมายที่มีอยู่ของกรมราชทัณฑ์ อาจจะเพิ่มเติมในพ.ร.บ. นิรโทษกรรม ว่าอาจจะมีการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นกรณีพิเศษตามเหตุการณ์ช่วงเวลาได้ ในทำนองเดียวกับกรณีนิรโทษกรรม บนพื้นฐานอภัยโทษที่ความผิดจบไปแล้ว โดยการถูกลงโทษแล้ว หากเป็นแบบนี้อาจจะเหมาะสมที่สุด

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวการเมือง เป็นกระแส