Tesla เข้าพบรัฐบาลอินเดียเมื่อวันที่ 13 ก.ค. เพื่อหารือเรื่องการตั้งโรงงานผลิตรถในประเทศ ที่คาดว่าจะมีกำลังผลิตรถได้ 500,000 คันต่อปี ราคาเริ่มต้น 2 ล้านรูปี หรือราว 8.4 แสนบาทต่อคัน
จากการรายงานของ Reuters อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ Tesla มีความตั้งใจที่จะใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเภทแถบอินโด-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้แก่ บูรไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ เวียดนาม
นี่จึงทำให้หากการพูดคุยเจรจาบรรลุผล และ Tesla ได้ตั้งโรงงานในอินเดียจริง ในอนาคตรถของ Tesla ที่เข้ามาจัดจำหน่ายในประเทศไทยก็อาจจะเป็นรถที่ผลิตในอินเดีย
ทั้งนี้ Tesla ได้มีความพยายามเข้าไปเจาะตลาดอินเดียก่อนหน้านี้แล้วด้วยการขอส่วนลดด้านภาษีสำหรับการนำเข้ารถ แต่รัฐบาลอินเดียปฏิเสธเพราะอยากให้อินเดียกลายเป็นฐานผลิตรถมากกว่าจะเป็นตลาดเพียงอย่างเดียว
โดยในความพยายามครั้งใหม่นี้ Tesla ได้เข้าไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอินเดียหลายครั้งแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อขอมาตรการสนับสนุน รวมไปถึงการลดภาษี สำหรับการตั้งฐานการผลิตรถและแบตเตอรี่แบบครบวงจรในประเทศ
เช่นเดียวกับบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ อื่นๆ ในขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า Tesla กำลังหาทางกระจายความเสี่ยงจาก ‘จีน’ ด้วยการแบ่งฐานการผลิตไปประเทศอื่นที่มีความเหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลือกในอันดับต้นๆ ก็ต้องเป็น ‘อินเดีย’ ที่นอกจากจะเป็นแหล่งของแรงงานราคาถูกชั้นดีแล้ว คนอินเดียส่วนมากยังพูดภาษาอังกฤษได้ทำให้การติดต่อสื่อสารอาจง่ายกว่าการติดต่อกับผู้ผลิตและคนงานในจีน
นอกจากนี้ Tesla ยังกำลังเจอการแข่งขันที่สูงมากในจีน เพราะนอกจากจะมีคู่แข่งสำคัญอย่าง BYD อยู่แล้ว ยังมีแบรนด์เล็กอื่นๆ มากมายที่คอยมาแย่งส่วนแบ่งตลาด จนต้องหั่นราคาสู้กันจนกำไรลดในช่วงที่ผ่านมา นี่จึงทำให้ Tesla ต้องมองหาตลาดอื่นๆ ซึ่งอินเดียที่มีประชากรมากก็เป็นประเทศที่น่าสนใจ
โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ยังได้ออกมาประกาศว่า Tesla จะพยายามเข้าไปตีตลาดและทำกิจกรรมภายในประเทศอินเดียอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป็นประกาศที่มีขึ้นหลังมัสก์เข้าพบ ‘นเรนทรา โมดี’ นายกรัฐมนตรีของอินเดียในครั้งเมื่อเขาเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ได้หมายความว่า Tesla จะตกลงปลงใจเข้าไปตั้งฐานผลิตในอินเดียอย่างแน่นอน เพราะปัญหาใหญ่ของอินเดียคือ ‘ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน’ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทางในการขนส่ง หรืออุปกรณ์และเทคโนโลยีในการผลิตต่างๆ หรือสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่อาจทำให้อินเดียยังไม่พร้อมนักทั้งในฐานะผู้ผลิต และผู้ใช้ เพราะหากไม่มีโครงสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับแล้ว คนทั่วไปในประเทศคงไม่มีใครอยากหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า