คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ (Content Creator) หนึ่งในอาชีพในฝันของเด็กไทยหลายๆคน แต่กว่าจะประสบความสำเร็จในอาชีพนี่ดูเหมือนช่างยากเย็น เพราะนอกจากปัจจุบันมีการเเข็งขันที่ค่อนข้างสูงเเล้ว ยังต้องมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว เเละต้องมีเงินทุนประมาณหนึ่งอีกด้วย เนื่องจากภาครัฐ ยังคงบรรจุว่าเป็นอาชีพฟรีแลนซ์ เลยยังไม่มีการดูแลคุ้มครองในอาชีพนี้มากพอ เรียกได้ว่า ต้นทุนสูง และความเสี่ยงสูงทำให้หลายคนไม่สามารถสานฝัน ต่อยอดความสำเร็จของตนได้
คุณเอ็ม – ขจร เจียรนัยพานิชย์ ผู้จัดงาน iCreator Conference และ คุณอิสระ ฮาตะ ได้ออกมาเล่าถึงประสบการณ์หนทางชีวิตของครีเอเตอร์ไทย ที่ได้พบเจอมาตลอดกว่า 10 ปี ทั้งความยากในการทำเอกสารราชการต่างๆ การสมัครบัตรเครดิต หรือการทำธุรกรรมเพิ่มเติมจากธนาคาร ตนจึงเข้าใจความยากในอุตสหกรรมนี้ และอยากร่วมกันเป็นกระบอกเสียงส่งสารถึงภาครัฐให้ช่วยผลักดันนโยบายต่างๆ
ทีม SPOTLIGHT ได้รวบรวม 7 นโยบายที่วงการที่ครีเอเตอร์ไทย อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ จาก คุณเอ็ม – ขจร เจียรนัยพานิชย์ ผู้จัดงาน iCreator Conference (RAiNMaker, Mango Zero) ณ งานแถลงข่าว “iCreator Conference 2023 Presented by SUPALAI”
นโยบายข้อ 1 : บรรจุครีเอเตอร์เป็นอาชีพที่ได้การรับรอง (Creator as a Career)
ปัจจุบันคอนเทนต์ครีเอเตอร์ คืออาชีพอิสระ (Freelance) ซึ่งไม่ได้บรรจุเป็นอาชีพ ทุกคนสามารเป็นครีเอเตอร์ได้ เพียงแค่มีช่องทางของตัวเอง และไม่จำเป็นต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ ทำให้ยากต่อการผลิตบุคลากรคุณภาพ เข้าสู่อุตสาหกรรม
นโยบายที่อยากผลักดัน คือ บรรจุครีเอเตอร์เป็นอาชีพ แทนการใช้คำว่า “ฟรีแลนซ์” มีการทดสอบเพื่อแลกกับใบประกอบวิชาชีพ เพื่อร่วมกันสร้างจรรยาบรรณ ผลิตบุคคลที่มีคุณภาพขับเคลื่อนวงการครีเอเตอร์ไทย
นโยบายข้อ 2 : นโยบายควบคุมภาษีครีเอเตอร์ (Creator Tax)
ปัจจุบันพบปัญหาเม็ดเงินโฆษณาสื่อออนไลน์ไทยไหลออกบริษัทนอกประเทศสูง ในการ Boost Post เพื่อเพิ่มยอดการมองเห็นต่างๆ เช่น บริษัท Meta เป็นแพลตฟอร์มที่กวาดรายได้กว่า 9,230 ล้านบาท จาก Facebook และ Instagram
นโยบายที่อยากผลักดัน คือนโยบายซื้อสื่อครีเอเตอร์ไทย สามารถหักภาษีได้ 200% สร้างแพลตฟอร์มที่ครีเอเตอร์ฟรีแลนซ์ สามารถติดต่อกับผู้จ้างได้โดยตรง และสนับสนุนการซื้อสื่อของครีเอเตอร์ภายในประเทศมากขึ้น
นโยบายข้อ 3 : สวัสดิการ ประกันสังคมครีเอเตอร์ (Creator’s Social Welfare)
ปัจจุบันครีเอเตอร์ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ ม.40 (ผู้ประกอบอาชีพอิสระ) ซึ่งสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้น้อยกว่าหมวดหมู่อื่น และหากสมัครแล้วมีทางเลือกการจ่ายเงินสมทบและรับสิทธิประโยชน์ได้แค่ 3 ทางเท่านั้น
นโยบายที่อยากผลักดัน คือเพิ่มทางเลือกให้ผู้ประกันตน ม.40 ที่ทำอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ สามารถสมัครและจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้นเท่าเทียมกับผู้ประกันตน ม.39 และเพิ่มโอกาสให้รัฐบาลและสมาคมออกเงินเยียวยากลุ่มครีเอเตอร์ได้เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจระดับประเทศ
นโยบายข้อ 4 : การรวมกลุ่มสู่สมาคมครีเอเตอร์ (Creator Association)
ปัจจุบันวงการครีเอเตอร์ ไม่มีสมาคมคนกลางที่ดูแลกลุ่มครีเอเตอร์เลย แม้ว่าวงการโฆษณา ภาพยนต์ และการออกแบบต่างๆยังมีสมาคมมารองรับ
นโยบายที่อยากผลักดัน คือการสร้างกลุ่มสมาคมครีเอเตอร์ไทย เพื่อให้มีกฎระเบียบและข้อปฎิบัติที่ทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน และร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ตลอดจนการสร้างจรรยาบรรณวิชาชีพครีเอเตอร์ให้ครอบคลุมทั้งการทำงาน สวัสดิการ ไปจนถึงทางกฏหมายและสุขภาพจิต ซึ่งหากทางรัฐร่วมกันสนับสนุน จะทำให้วงการครีเอเตอร์ไทยสามารถสร้างผลงานที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
นโยบายข้อ 5 : กองทุนสนับสนุนครีเอเตอร์ (Creator Fund)
ปัจจุบันครีเอเตอร์ไทยต้องใช้ต้นทุนตัวเองในการผลิต ทั้งอุปกรณ์ และสถานที่ ซึ่งเป็นต้นท้นที่ค่อนข้างสูง ทำให้ครีเอเตอร์หลายคนถอดใจ และออกจากวงการนี้ไป หากภาครัฐสนับสนุน วงการครีเอเตอร์จะเป็นอุตสหกรรมสำคัญ ที่ช่วยผลักดัน Soft Power ของไทยไปสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น
นโยบายที่อยากผลักดัน คือ จัดตั้ง Creative Center เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ครีเอเตอร์สามารถขอทุนในการพัฒนาสื่อตัวเองได้ เช่น Center for Creative Economy & Innovation (CCEI) ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ ร่วมมือกับ Korea Telecom เพื่อเร่งผลักดัน Startups ด้านนวัตกรรมสู่การเป็น Global Hub
ซึ่งนโยบายนี้จะช่วยให้วงการครีเอเตอร์ไทยมีผู้เล่นเพิ่มขึ้น ที่มีความหลากหลาย และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
นโยบายข้อ 6 : Voucher เพิ่มทักษะการสร้างคอนเทนต์ (Creator Voucher)
ปัจจุบันทักษะการสร้างคอนเทนต์ ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในหลักสูครพื้นฐานในสถานศึกษา (หากไม่ได้เรียนในสายที่เกี่ยวข้อง) จึงทำให้ผู้ที่สนใจต้องไปหาคอร์สเรียนเพิ่มเติมเอง
นโยบายที่อยากผลักดัน คือ เพิ่มหลักสูตรในสถานศึกษา หรือศูนย์ฝึกที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญ โดยการแจก Voucher มูลค่า 2,000 ต่อปี เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการเป็นครีเอเตอร์ได้
นโยบายข้อ 7 : ยกระดับการศึกษาสู่การเป็นครีเอเตอร์ (Creator Class)
ปัจจุบันหลักสูตรครีเอเตอร์ส่วนมาก ถูกบรรจุอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจช้าเกินไปสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในอาชีพนี้ อีกทั้งหลักสูตรต่างๆยังมีเนื้อหาไม่ครอบคลุมหรือตามทันโลก เนื่องจากหลายมหาวิทยาลัยยังขาดการเข้าถึงอุปกรณ์ที่เพียงพอและเหมาะสม
นโยบายที่อยากผลักดัน คือ การเพิ่มวิชาทางเลือกเพิ่มนอกเหนือจากระดับมหาวิทยาลัย
สำหรับงาน iCreator Conference ถือเป็นงานที่รวมตัวแพลตฟอร์มระดับโลก และเหล่าครีเอเตอร์ชั้นนำไว้ด้วยกัน โดยในปีนี้ได้แบ่งออกเป็น 3 เวทีหลัก ที่รวมกว่า 40 Speakers, 29 Sessions กับอีก 10 Workshops ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับความรู้ ประสบการณ์ แนวคิด และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีในอนาคต
โดยงานในปีนี้จัดขึ้นในธีม “The Power of NEXT Gen” เพื่อแสดงพลังของคนรุ่นใหม่และเป็นการอัปเดต เทรนด์ในโลกครีเอเตอร์ยุคใหม่ไปด้วยกัน และยังถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันแล้ว สำหรับการจับมือร่วมพาร์ตเนอร์ ระหว่างคุณเอ็ม – ขจร เจียรนัยพานิชย์ ผู้จัดงาน iCreator Conference และคุณเต – ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จํากัด (มหาชน) เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และการผลิตคอนเทนต์อย่าง สร้างสรรค์