ปัจจุบันคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เป็นหนึ่งในสายอาชีพที่มาแรง ที่ใครหลายๆคนใฝ่ฝันอยากจะเป็น เพราะนอกเหนือจากรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำ การเข้างานแบบflexible ที่สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ การได้มีโอกาสได้ทำงานรวมกับแบรนด์ดังมากมาย และจากคนธรรมดาที่ไม่มีใครรู้จักบนโลกออนไลน์ การเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์นั้นก็อาจะทำให้เรากลายเป็นคนที่มีชื่อเสียง หรือ อินฟลูเอนเซอร์ได้
แม้ตอนนี้ประเทศไทยจะมีคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากกว่า 9 ล้านคน ซึ่ง 2 ล้านคนได้ทำงานแบบ fulltime แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลาดนี้ยังคงเป็นตลาดที่คึกคักมีมูลค่าตลาดกว่า 45,000 ล้านบาท ดึงดูดคนมากมายให้เข้ามาในวงการนี้ จนหลายๆคนเปรียบเปรยว่า “เราอยู่ในยุคที่ทุกคนต่างเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์” แล้วคำถามคือเราจะสร้างคอนเทนต์อย่างไรให้โดนใจแบรนด์ ? ส่วนแบรนด์มองหาครีเอเตอร์แบบไหนที่ตอบโจทย์ที่สุด?
บทความนี้ SPOTLIGHT ได้สรุปสาระสำคัญจากหัวข้อเสวนา Creator Meets Brand เคล็ดลับต่อยอดคอนเทนต์อย่างไรให้ได้ใจแบรนด์ โดยคุณไตรเตชะ ตั้งมติธรรม (SUPALAI) คุณภูศณัฏฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ (เทพลีลา) และ คุณภูถิรพัฒน์ อ่องศรี (เทพลีลา) จากงาน iCreator Conference 2024
หากใครชอบดูคอนเทนต์วาไรตี้ เชื่อว่าชื่อของช่องเทพลีลา คงเป็นช่องเบอร์ต้นๆที่เรานึกถึง เพราะนอกจากคอนเทนต์ที่มีความสนุกสนานแล้ว คาแร็กเตอร์ของ 2 หนุ่มคู่หูอารมณ์ดีเจ้าของช่อง เหว่ง-เติ๊ด ยังโดนใจเหล่าFC จำนวนมาก จนตอนนี้มีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้าน subscribers
คุณเติ๊ดได้เล่าว่า ช่อง YouTube เทพลีลา ได้เกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้วในวันที่เป็นยุคบุกเบิกของการทำวีดีโอ long content ในยูทูป โดยผลงานชิ้นแรกๆที่ทำ คือการเต้น ซึ่งสาเหตุที่ได้ใช้ชื่อว่าเทพลีลา เพราะ ลีลาจากการเต้น ซึ่งตอนแรกๆที่ทำคลิปลง ก็ไม่มีคนดู ลองผิดลองถูก ไปดูช่องอื่นว่าเขาทำอะไรทำไมคนดูเยอะ พยายามหาแนวการทำคอนเทนต์ที่ใช้ โดยตั้งใจปั้นช่องแบบจริงจัง ให้เวลากับมันอย่างเต็มที่ หาก 3 เดือนนี้ไม่เวิร์คก็จะเลิกทำ
และคลิปที่ทำให้คนรู้จักช่องเทพลีลามากขึ้น คือคลิป ‘ทดสอบสังคม แจกดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์’ ที่ตอนนี้มียอดวิวกว่า 45,000 วิว
คุณเหว่ง ได้เล่าว่า เมื่อคอนเทนต์ของเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ยอด followers มากขึ้น เราสามารถสร้างรายได้จากโลกออนไลน์มากขึ้นและง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็น sponsor, subscription, merchandise, งาน event เช่น การจัดแฟนมีต หรือ การทำ affiliate และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การติดต่อจ้างงานจากแบรนด์ชื่อดัง
อย่างไรก็ตามแบรนด์ส่วนใหญ่เลือกเรา เพราะยอด followers เพื่อโปรโมทแบรนด์ในฐานผู้ดูของเรา ซึ่งส่วนใหญ่แบรนด์ หรือ agency มักจะมีสิ่งที่อยากให้เราทำ ซึ่งบางครั้งสิ่งที่แบรนด์อยากให้ทำ มันอาจจะไม่ใช่ตัวตนของเรา ซึ่งในสมัยนี้คนดูสามารถดูออกว่าคอนเทนต์นี้โดนจ้างหรือไม่
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับคอนเทนต์ครีเตอร์คือ ‘การสื่อสาร’ กับแบรนด์อย่างตรงไปตรงมา จริงอยู่ที่แบรนด์เป็นนายจ้างและเราเป็นลูกจ้าง แต่หน้าที่ของเราคือการไม่ทรยศคนดู เราจะต้องกรองสิ่งที่แบรนด์ต้องการว่าช่องของเราสามารถทำได้หรือไม่ วัตถุประสงค์ของลูกค้าหรืออะไร ฐานคนดูเราเป็นแบบไหน ซึ่งเราต้อง’หาตรงกลาง’ให้เจอ ระหว่างคนดูและ แบรนด์ “คนดูต้องสนุก คอนเทนต์ไม่หลุดความเป็นเรา แต่แบรนด์ก็ต้องได้ในสิ่งที่เขาต้องการด้วย”
คุณเติ๊ด ได้กล่าวเสริมว่า มีช่วงนึงเทพลีลา ได้รับโจทย์การรีวิวผลิตภัณฑ์ความสวยความงาม และแบรนด์ต้องการให้สื่อสารว่าเราใช้สินค้าตัวนี้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ซึ่งการกิน หรือทาแล้วเปลี่ยนแปลงจริง แบรนด์ต้องให้เวลาพวกเขาในการลองสินค้า ลองทดลองจริงๆ ไม่ใช่ว่าให้เวลาแค่ไม่กี่วันแล้วบอกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเราทำแบบนั้นก็เหมือนกับการโกหกคนดู
คุณเหว่ง เล่าว่า สมัยก่อนช่องเทพลีลา ยังไม่เป็นที่รู้จัก การติดต่องานหรือดีลงานอะไรก็ยากไปหมด บวกกับสมัยนั้นทีมงานยังไม่เป็นมืออาชีพ เลยรับงานผิดรับงานถูก
และที่สำคัญคือตอนสร้างช่อง คนทำคอนเทนต์ยังไม่มีคาแร็กเตอร์ไม่ชัด พอลูกค้าติดต่องานมาก็มักจะโยนไอเดีย โยนคอนเซปต์ โยนธีมมาให้เรา ซึ่งบางครั้งเราต้องฝืนทำอะไรที่ไม่ใช่ตัวตนของเรา
แต่ปัจจุบันช่องเทพลีลา มีคนรู้จักมาขึ้น แบรนด์ติดต่องานเข้ามาเข้าใจครีเอเตอร์มากขึ้น มีปัญหาน้อยลง ไม่กำหนดกรอบความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน ไม่บังคับ ทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์สามารถคิดอะไรให้หลากหลายมากขึ้น
ด้านคุณเต จาก SUPALAI ได้เล่าจากมุมมองของแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ว่า ทางศุภาลัยได้ร่วมงานกับเหล่าครีเอเตอร์มาเป็น 10 ปี เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงตลอด 10 ปีนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าเทรนด์เปลี่ยนไปไวมากๆ และหน้าที่ของแบรนด์ก็ต้องปรับตัวให้เร็ว ผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์
ทำให้ตอนนี้ ศุภาลัยให้ความสำคัญกับ TikTok อย่างมาก และมีการทำงานร่วมกับคอนเทนต์ครีเอเตอร์มากกว่า 1,000 คน
คุณเตได้เล่าว่า พอเป็นแบรนด์อสังหาริมทรัพย์ หลายๆคนมองว่าแพง ราคาเริ่มต้น 5-10 ล้าน มันเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป แต่ตอนนี้ศุภาลัยได้เลือก 50% เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายอสังหาริมทรัพย์ และ 50 % คือคอนเทนต์ครีเอเตอร์นอกสาย
เช่น รีวิวคอนโดตลาดพู อาจจะใช้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ สายกิน โชว์ว่าแถวนี้มีอะไรกิน เพราะบ้านไม่ใช่ที่อยู่อาศัย แต่ต้องเป็นที่ที่เราใช้ชีวิตทุกๆวัน
นอกจากนี้ หลายๆคนมองว่าหากแบรนด์จ้างงานใครต้องยึดจากยอด followers เป็นหลัก คุณเตได้กล่าวแย้งว่า followers นั้นสำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ต้องยอมรับว่าเวลาแบรนด์จ้างงานใครต้องดูวัตถุประสงค์ บางครีเอเตอร์จ้างเพราะเพิ่มการมองเห็น บางครีเอเตอรจ้างเพราะสร้างการรับรู้ บางครีเอเตอร์จ้างเพราะการรีวิวแบบจริงใจ หรือ บางครีเอเตอร์มีความครีเอทีฟ เพราะสุดท้ายแล้วแบรนด์จ้างงานครีเอเตอร์ เพื่อหาคนกลาง ที่ช่วยเราสื่อสาร ส่งสารไปยังลูกค้า
สุดท้าย คุณเติ๊ด ได้ฝากถึงเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ทุกคน "หากจะเข้ามาในวงการนี้อันดับแรกคือต้องมีความกล้าออกมาจาก comfort zone ของตัวเอง คนเราต้องผ่านครั้งแรกเสมอ ทำอะไรอย่าคิดเยอะ หากไม่รู้จะทำอะไรให้เริ่มจากการทำ short form video ก่อน ถ้าคอนเทนต์ไม่ดีไม่ปัง ก็ทำใหม่ หาเรื่องใหม่ทำไปเรื่อยๆแล้ววันหนึ่งเราจะเจอทางของเราเอง"
ส่วนคุณเหว่ง ได้ฝากว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดหาคัวตนเราให้เจอ เป็นตัวเองแบบไม่ทำร้ายสังคม แล้วมันจะอยู่ได้ยาว ซึ่งตอนนี้แบรนด์เลือกจากครีเอเตอร์จากตัวตนของเรา แบรนด์หาครีเอเตอร์ที่ใช่ บางคนยอดฟอลเยอะแต่ไม่ใช่ฐานที่เราอยากได้ ยอดขายไม่มามันก็เท่านั้น ซึ่งหัวใจของการสื่อสารคอนเทนต์แบรนด์ให้ดี คือ การเล่าในแบบที่เป็นตัวตนของเราที่สุด"