กรุงเทพมหานคร เมืองที่หลายคนหลงรัก จากเสน่ห์ของการผสมผสานความเก่าและความใหม่ได้อย่างลงตัว ของกินที่แสนอร่อยที่มีตั้งแต่อาหารไทยพื้นเมืองไปจนถึงสุดยอดอาหารนานาชาติระดับรางวัลมิชลิน
หากพูดถึงย่านสตรีทฟู้ดชื่อดัง แหล่งรวมของกินของอร่อย หลายๆคงนึกถึง ‘เยาวราช’ ถนนมังกรไซน่าทาวน์แห่งกรุงเทพมหานคร ที่เป็นย่านธุรกิจการค้า ร้านทอง และแหล่งรวมของกินอร่อยๆ ไว้มากมาย
แต่เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ชื่อของ ‘ถนนบรรทัดทอง’ ได้กลับมาสร้างความนิยมอย่างล้นหลาม จากบรรดานักชิมชาวไทยและต่างชาติ ท้องถนนที่เคยเงียบเงายามค่ำคืน กลับมาคึกคักด้วยนักชิมมากมาย และหลายมาเป็นแหล่งรวมของกินน้องใหม่ชื่อดัง
เรียกได้ว่า “ที่นี่จะเป็นอีกย่านหนึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้สยามสแควร์ หรืออาจจะมากกว่าก็ได้” รองศาสตราจารย์ ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินและกายภาพ และผู้อำนวยการสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) กล่าวถึงเป้าหมายที่จะพัฒนาบรรทัดทอง-สามย่านให้เป็นสวรรค์ของนักชิม รวมความอร่อยหลากหลาย ทั้งอร่อยระดับตำนาน ระดับมิชลินไกด์ และอร่อยตามกระแส
SPOTLIGHT ชวนทุกคนมาไขความลับ ‘บรรทัดทอง’ จาก ’ย่านเซียนกงปทุมวัน’ สู่แหล่งรวมของกินสุดอร่อย ใจกลางเมือง
หากพูดถึงถนนบรรทัดทองแต่ก่อน หลายๆ คนคงมีภาพจำที่สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านซ่อมรถ ร้านขายอะไหล่รถยนต์ จนใครหลายคนเรียกว่า ’ย่านเซียนกงปทุมวัน’ ไปจนถึงร้านขายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาต่างๆ เนื่องจากอยู่ใกล้กับสนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สองข้างทางยาวเกือบ 2 กิโลเมตร กลับไม่เหลือเค้าโครงเดิม ยิ่งเห็นได้ชัดในช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด -19 ยิ่งมีบรรดาร้านอาหารที่เปิดใหม่จำนวนมากซึ่งมีร้านอาหารดัง ๆไว้ มากมาย เช่น โจ๊กสามย่าน, เจ๊โอว, เจ๊วรรณ, สุกี้เอลวิส, หนึ่ง นม นัว และร้านค้าอื่นๆ ที่ทยอยตมมาเปิดอีกมามายในพื้นที่โดยรอบ
ถนนบรรทัดทอง มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่แยกสะพานเหลืองตัดกับถนนพระรามที่ 4 เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครองระหว่างแขวงรองเมืองกับแขวงวังใหม่ในเขตปทุมวันจนถึงคลองแสนแสบ และไปสิ้นสุดที่แยกเพชรพระราม ตัดกับถนนเพชรบุรี เป็นถนนที่ตัดผ่านสนามศุภชลาศัย หรือหากพูดง่ายๆ ก็คือ อยู่แถวจุฬาฯ สามย่านนี่เอง ไม่ใกล้ไม่ไกลจากสยามเท่าใดนัก
ถือเป็นสถานที่ใจกลางเมืองที่มีทั้งมหาวิทยาลัย ตลาดสด คอมมิวนิตี้มอลล์ หอพัก คอนโดมิเนียม และออฟฟิศต่างๆ ที่รวบรวมผู้บริโภคจำนวนมาก ทั้งนิสิต คนทำงานออฟฟิศ และนักท่องเที่ยว ที่มีความต้องการบริโภคอาหารตั้งแต่มื้อเช้าจรดมื้อค่ำ
“การพัฒนาพื้นที่ให้เป็น “ย่าน” ไม่ใช่เรื่องง่าย มีหลายองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญ คือ ผู้คนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่นั้น ๆ ทั้งผู้ค้าและผู้ขาย”
กระแสอาหาร ของกินย่านบรรทัดทองเริ่มจาก “เจ๊โอว” ข้าวต้มและมาม่าระดับตำนานดีกรี มิชลิน ไกด์ และกระแสลิซ่า Blackpink ที่ได้มากิน “น้ำเต้าหู้เจ๊วรรณ” ที่ซอยจุฬา 22 เมื่อปี 63 ทำให้เป็นการจุดระเบิดอาหารดังย่านบรรทัดทองขึ้นมา
และยังมีร้านอาหารทั้งร้านดังเดิมและร้านอาหารย้ายมาจากตลาดน้อยและเยาวราชที่ตามมาเปิดอีกมากมาย เช่น เสน่ห์ ลาบก้อย,โจ๊กสามย่าน, สุกี้เอลวิส, อี้จาสุกี้หม่าล่า, เจ๊เกียง บรรทัดทอง,ข้าวต้มสันติภาพ และล่าสุดที่เรียกเสียงฮือฮา นั้นก็คือ หนึ่ง นม นัว
โดยร้านอาหารบรรทัดทองมีการตอบโจทย์ความหลากหลายของอาหาร ผู้บริโภคสามารถเลือกอาหารที่ชอบได้หลายประเภท ทั้งอาหารคาว หวาน ทานเล่น เครื่องดื่ม
ตอบโจทย์ในมุมเศรษฐกิจมหภาค อาหารริมฟุตบาท ร้านอาหารริมทาง เป็นสีสันทางวัฒนธรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชาติ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณไว้ว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจอาหารริมทางในปี 2566 จะสูงถึง 4.25 แสนล้านบาททีเดียว
“เมื่อคุณมาชิมอาหารที่บรรทัดทอง-สามย่าน คุณจะสัมผัสถึงบรรยากาศที่คึกคักและพลังของคนหนุ่มสาว และอาจหวนรำลึกถึงช่วงเวลาที่เป็นวัยรุ่น มีความสนุกสนานและมีชีวิตชีวาอีกด้วย”
จากทำเลใจกลางเมือง ศูนย์ร่วมนิสิตและคนทำงาน ทำให้ย่านบรรทัดทองมีบรรยากาศที่คึกคักด้วยพลังของคนหนุ่มสาว ร้านอาหารที่เข้ามามาเปิด ก็มักจะเป็นร้านที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนกรุงแม้ต้องใช้ชีวิตรีบเร่ง ทั้งอิ่มอร่อยราคาไม่แพงและมีความคุ้มค่า เช่น ร้านข้าวต้มโต้รุ่ง ร้านชาบู-หมูกะทะบุฟเฟ่ต์ ไปจนถึงร้านขนมปังปิ้ง หรือบาร์ลับ
อาหารริมทางจุฬาฯ-บรรทัดทอง-สามย่าน ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย ที่ช่วยสร้างกระแสการรับรู้และความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค ที่แวะเวียนมาตามอิทธิพลแบบปากต่อปากของทั้งเพื่อนและการรีวิวจากบล็อกเกอร์สายอาหาร โดยเฉพาะการรีวิวผ่าน TikTok
นี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญเลยที่เดียว ที่ทำให้บรรทัดทอง ได้กลายเป็นย่านท่องเที่ยวแห่งใหม่สำหรับทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะวัยรุ่น ที่นิยมแสวงหาของกินแสนอร่อย และเป็นที่รวมตัวกันของเพื่อนฝูง