Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
Subaruไม่สู้สงครามราคารถจีน หยุดผลิตรถในไทยเปลี่ยนนำเข้าจากญี่ปุ่นแทน
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

Subaruไม่สู้สงครามราคารถจีน หยุดผลิตรถในไทยเปลี่ยนนำเข้าจากญี่ปุ่นแทน

30 พ.ค. 67
11:15 น.
|
2.7K
แชร์

ซูบารุ (Subaru)  รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ซึ่งมีโรงงงานผลิตรถในประเทศไทย ประกาศหยุดการผลิตโรงงานในไทยตั้งแต่สิ้นปี 2567 โดยตั้งแต่ปี 2568 รถ Subaru ที่นำมาขายจะนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งหมด การตัดสินใจครั้งนี้เกิดจาก ต้องการหนีออกจากสงครามราคารถค่ายจีนที่กำลังดุเดือดนั่นเอง 

ซุบารุ ประเทศไทย ดำเนินธุรกิจภายใต้ บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งถือหุ้นโดย บริษัท ตัน จง อินเตอร์เนชั่นแนล ของมาเลเซีย และซูบารุ คอร์ปเปอรเรชั่น จากญี่ปุ่น  ตัดสินใจปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการหยุดการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ธ.ค.67 นี้ และเปลี่ยนเป็นนำเข้ารถทั้งคันจากประเทศญี่ปุ่นแทนตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยยังคงมีบริการหลังการขายให้กับลูกค้าเหมือนเดิม 

Subaruไม่สู้สงครามราคารถจีน หยุดผลิตรถในไทยเปลี่ยนนำเข้าจากญี่ปุ่นแทน

Subaruไม่สู้สงครามราคารถจีน หยุดผลิตรถในไทยเปลี่ยนนำเข้าจากญี่ปุ่นแทน

โรงงานของ ซูบารุ ตั้งในปี 2562 อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวมมากกว่า 100,000 ตารางเมตร เงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเริ่มแรก 6,000 คัน/ปี หลังจากปี 2568 เป็นต้นไปตัวโรงงานจะยังคงเป็นทรัพย์สินที่กลุ่มบริษัทตันจงเก็บไว้ เพื่อรอโอกาสที่จะใช้ประโยชน์ในอนาคต ขณะที่พนักงานโรงงานผลิตปัจจุบันจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานรวมกับค่าตกใจ

ทีซี ซูบารุ ประเทศไทย ยังดูแลลูกค้าคนไทยแม้เปลี่ยนเป็นนำเข้ารถจากญี่ปุ่น 

ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการว่า เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ตัน จง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) และซูบารุ คอร์ปเปอรเรชั่น ประกาศการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งขับเคลื่อนกิจการร่วมค้า ตัน จง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย (TCSAT) ไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นของแนวทางที่มองไปข้างหน้าและรองรับอนาคตที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดเกิดใหม่ 

ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป รถที่จำหน่ายในตลาดประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชาจะเปลี่ยนไปจำหน่ายรถนำเข้า หรือ Complete Build Up (“CBU”) จากประเทศญี่ปุ่น อันจะทำให้สามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเช่นประเทศไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังเสริมการสร้างแบรนด์ผ่านรถยนต์ซูบารุรุ่นใหม่ๆ ในตลาดกลุ่มพรีเมียมที่เน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก

กิจการร่วมลงทุนจะยังคงความแข็งแกร่งเพราะตัน จง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) และซูบารุ คอร์ปเปอรเรชั่น จะได้ความคล่องตัวและรุดหน้าต่อไปบนเส้นทางธุรกิจที่มีศักยภาพทั้งในประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา อีกทั้งการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์นี้จะทำให้แบรนด์ซูบารุประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในตลาดที่มีพลวัตเหล่านี้ นับเป็นก้าวย่างใหม่ของ ตัน จง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) ที่ร่วมกับซูบารุ คอร์ปเปอเรชั่น ในการส่งมอบคุณค่าที่ยอดเยี่ยมให้แก่ลูกค้าชาวไทย

สำหรับตลาดประเทศไทย แบรนด์ซูบารุนับว่ามีชื่อเสียงในด้านเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์และคุณภาพการขับขี่ในอีกระดับ คุณค่านี้ของแบรนด์จะยังคงดึงดูดแฟนซูบารุชาวไทยต่อไปด้วยการเปิดตัวรถซูบารุรุ่นใหม่ๆ ในตลาดกลุ่มพรีเมี่ยม ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) 

ในฐานะผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ซูบารุแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ยังคงมุ่งมั่นและยืนยันในการดูแลเจ้าของรถซูบารุทุกคนในประเทศไทยผ่านบริการไว้วางใจได้ของตัวแทนจำหน่ายซูบารุในประเทศไทย ไม่ว่าการดูแลลูกค้าด้านบริการหลังการขาย ความพร้อมของอะไหล่ และมาตรฐานการรับประกันตัวรถ จะยังเป็นคุณภาพเดียวกันกับปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนไปจำหน่ายรถรุ่นใหม่ๆ ที่นำเข้าโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นก็ตาม

Subaruไม่สู้สงครามราคารถจีน หยุดผลิตรถในไทยเปลี่ยนนำเข้าจากญี่ปุ่นแทน

เชื่อมั่น Subaru ไม่เลิกกิจการในไทย 

ดร. วีรวิน ขอไพบูลย์ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่องานวิจัยด้านบรรษัทภิบาลและการเงินเชิงพฤติกรรม สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า Subaru เป็นบริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่อยู่ในตลาดเมืองไทยมานานมาก การส่งสัญญาณที่เร็วในการปรับโมเดลธุรกิจในไทยถือเป็นสัญญาณของการสู้ต่อทางธุรกิจแต่ปรับวิธีการเท่านั้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา รถจาก Subaru เจอผลกระทบจากการแข่งขันหั่นราคาลงอย่างหนักของรถค่ายจีน ความได้เปรียบจากนโยบายทางภาษีของรถสัญชาติจีน และ มาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย การเข้าไปในสงครามราคา จึงไม่ใช่แนวทางที่ดีของธุรกิจ  Subaru เพราะมีต้นทุนที่สูงกว่า ดังนั้นการเปลี่ยนรูปแบบเป็นการนำเข้ารถจากญี่ปุ่น ซึ่งในอดีต Subaru ก็เคยใช้วิธีการนี้มาก่อนที่จะมีโรงงานผลิตในไทย น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดและลูกค้ารถ Subaru ในไทยกว่า 24,000 คันยังมั่นใจใช้บริการต่อไปได้  

 “ต้องยอมรับว่า Subaru ไม่ใช่รถตลาด ราคารถของ Subaru ไม่มีต่ำกว่า 1ล้านบาท  ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มระดับกลางขึ้นไป เป็นครอบครัว มีฐานทางการเงินที่มั่นคงเป็นกลุ่มคนที่ซื้อรถเน้นคุณภาพและความปลอดภัย ไม่ใช่ซื้อเป็นรถคันแรก และข้อมูลจากสถาบันการเงินพบว่า รถ Subaru แทบไม่มียอดผิดนัดชำระหรือการผ่อนไม่ไหว รถถูกยึดแทบไม่มี”

ดังนั้นแม้ว่า การนำเข้ารถจากญี่ปุ่นทั้งคันจะทำให้ราคารถปรับตัวสูงข้นบ้างเล็กน้อย แต่เชื่อมั่นว่า ไม่กระทบกับยอดขายหรือลูกค้าในกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว เพราะรถที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นตั้งแต่ปีหน้าจะเป็นรถยนต์ Hybrid ทั้งหมด การเปลี่ยนรุ่นใหม่ๆจะสามารถทำได้เร็วขึ้นมาก จากเดิมต้องรอเป็นปี และการนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งคันก็สามารถสร้างความมั่นใจทั้งคุณภาพและความ Luxury ได้เช่นกัน  

เปิดประวัติ Subaru ยาวนานกว่า 100 ปี 

Subaruไม่สู้สงครามราคารถจีน หยุดผลิตรถในไทยเปลี่ยนนำเข้าจากญี่ปุ่นแทน

ซูบารุก่อตั้งขึ้นในปี 2498 หรือ 69 ปีที่ผ่านมา แต่ประวัติของซูบารุเริ่มต้นขึ้นมายาวนานกว่า 100 ปีมาแล้ว เริ่มต้นเปิดตัวหน่วยวิจัยทางด้านการบินที่ชื่อ Aircraft Research Laboratory ภายใต้บริษัท Fuji Heavy Industries Ltd. เป้าหมายคือสร้างยานยนต์ที่สามารถบินทะยานข้ามฟ้าได้ ซูบารุได้กลายมาเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทแรกๆ ที่ทำการตลาดในด้านรถยนต์นั่งโดยสารแบบระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (AWD) เต็มรูปแบบในปี 2529 โดยได้ทำการรวมเครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จเข้ากับระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ AWD และกลายเป็นผู้นำตลาดสำหรับรถสเตชันแวกอนสมรรถนะสูงอีกด้วย

ส่วนชื่อและตราสัญลักษณ์ของซูบารุถือกำหนดขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1950 เมื่อประธานคนแรกของบริษัทซูบารุ หรือชื่อเดิมคือ Fuji Heavy Industries Ltd. คุณเคนจิ คิตะ มีความมุ่งมั่นแรงกล้าในการที่จะผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลให้สำเร็จให้ได้ และใน ค.ศ. 1954ได้ผลิตต้นแบบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขึ้นมาได้เป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า P-1

คุณคิตะยืนยัน "รถของญี่ปุ่นควรใช้ชื่อภาษาญี่ปุ่น" หลังจากที่ได้รับการเสนอชื่อมาหลายชื่อ คุณคิตะจึงตัดสินใจใช้ชื่อ "ซูบารุ" ซึ่งเป็นชื่อภาษาญี่ปุ่นอันไพเราะที่ได้มาจากชื่อของกลุ่มดวงดาวในกลุ่มดาววัว โดยจะสามารถมองเห็นดาว 6 ดวงได้ด้วยตาเปล่าและสามารถเห็นดาวสีอมน้ำเงินได้ประมาณ 250 ดวงหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์

ซูบารุ ซึ่งหมายถึง การปกครอง การรวมตัวกัน หรือ การรวมเป็นหนึ่ง ในญี่ปุ่นกลุ่มดาวนี้ยังมีอีกชื่อคือมุทสึระโบชิ ที่แปลว่า "ดาวหกดวง" ซึ่งสอดคล้องกับบริษัท Fuji Heavy Industries Ltd. เกิดจากการรวมตัวของบริษัทหกแห่งเช่นกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บริษัทใหม่นี้จึงใช้กลุ่มดาว "ซูบารุ" เป็นตราสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการสำหรับผลิตภัณฑ์ยานยนต์

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน Subaru ได้ออกแบบและผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่น สร้างชื่อเสียงจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่โดดเด่น อาทิ P1 (1954) รถยนต์รุ่นแรกของ Subaru, 360 (1958) รถยนต์ขนาดเล็กที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น, Sambar (1961) รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ได้รับความนิยม, 1000 (1965) รถยนต์นั่งรุ่นแรกที่ใช้เครื่องยนต์ Boxer, Domingo (1983) รถยนต์อเนกประสงค์ขนาดเล็ก, Alcyone (1985) รถยนต์สปอร์ตคูเป้, Legacy (1989) รถยนต์นั่งขนาดกลางที่ประสบความสำเร็จ, Impreza (1993) รถยนต์นั่งขนาดเล็กที่โดดเด่นด้านสมรรถนะ, Forester (1997) รถยนต์ SUV ที่ได้รับความนิยม และ Tribeca (2005) รถยนต์ SUV ขนาดกลาง และอื่นๆ อีกมากมาย รถยนต์ซูบารุมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยระดับพรีเมียม พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่โดดเด่น เช่น เครื่องยนต์ Boxer และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อแบบสมมาตร (Symmetrical All-Wheel Drive System) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์

Subaruไม่สู้สงครามราคารถจีน หยุดผลิตรถในไทยเปลี่ยนนำเข้าจากญี่ปุ่นแทน

 

การมาถึง SUBARU ในประเทศไทย

Subaruไม่สู้สงครามราคารถจีน หยุดผลิตรถในไทยเปลี่ยนนำเข้าจากญี่ปุ่นแทน

รถยนต์ซูบารุในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายรถยนต์ซูบารุทั่วภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ฮ่องกง จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา

จุดเริ่มต้นของตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ซูบารุในประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 ก่อนจะขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย สำหรับประเทศไทย การเข้ามาทำตลาดเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2529 ภายใต้ชื่อบริษัท มอเตอร์อิมเมจ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่บนถนนเสรีไทยมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

ในปัจจุบัน รถยนต์ซูบารุบางรุ่นที่จำหน่ายในประเทศไทย เช่น Subaru XV จะนำเข้าจากโรงงานประกอบในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ร่วมมือกับซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (เดิมคือ FHI) จัดตั้งโรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 3 นอกประเทศญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายหลักในการผลิตรถยนต์ Subaru Forester โฉมใหม่ เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยและส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในเอเชียที่ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นผู้ถือสิทธิ์ในการจำหน่าย ส่วนรถยนต์รุ่นอื่นๆ ที่ไม่ได้ผลิตในประเทศไทยจะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นโดยตรง

การลงทุนในโรงงานแห่งใหม่นี้มีมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท มีพื้นที่รวม 100,000 ตารางเมตร และมีพนักงานประมาณ 400 คน โดย ตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล ถือหุ้น 74.9% และซูบารุ คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้น 25.1% โรงงานแห่งนี้เริ่มผลิตและส่งมอบรถยนต์สู่ตลาดในปี พ.ศ. 2562 และ TC Subaru ประเทศไทย ยังนำเข้าและเปิดตัว All NEW Subaru WRX ในประเทศไทยในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2022 นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะทำตลาด All NEW WRX SPORTS WAGON อีกด้วย

ด้านยอดขายซูบารุในไทย ย้อนหลัง 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554 - 2567

  • ปี 2557 รวม 1,966 คัน
  • ปี 2558 รวม 2,641 คัน
  • ปี 2559 รวม 3,232 คัน
  • ปี 2560 รวม 2,123 คัน
  • ปี 2561 รวม 2,260 คัน
  • ปี 2562 รวม 3,952 คัน
  • ปี 2563 รวม 1,715 คัน
  • ปี 2564 รวม 2,953 คัน
  • ปี 2565 รวม 2,282 คัน
  • ปี 2566 รวม 1,682 คัน
  • ปี 2567 รวม 344 คัน (มกราคม – เมษายน)

ยอดขาย Subaru ในประเทศไทย ตั้งแต่ ปี 2557 – 2567 สะสมรวม 25,150 คัน

สุดท้ายการเดินทางของ Subaru สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมยานยนต์อย่างไม่หยุดยั้ง แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายในตลาดที่มีการแข่งขันสูง Subaru ก็ยังคงยึดมั่นในคุณค่าหลักของแบรนด์ นั่นคือ การส่งมอบรถยนต์ที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลก รวมถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจในประเทศไทยคือหนึ่งในหนทางออกของธุรกิจ 

Subaruไม่สู้สงครามราคารถจีน หยุดผลิตรถในไทยเปลี่ยนนำเข้าจากญี่ปุ่นแทน

ที่มา Subaru

แชร์
Subaruไม่สู้สงครามราคารถจีน หยุดผลิตรถในไทยเปลี่ยนนำเข้าจากญี่ปุ่นแทน