ในโลกของอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การแข่งขันด้าน ‘ความเร็ว’ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้สนามการแข่งขันดุเดือดยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะในยุคนี้ ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคมีความต้องการสูงขึ้นและเร็วขึ้น ทำให้อีคอมเมิร์ซจีน แข่งกันส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว จากภายใน 1 วัน สู่ 1 ชั่วโมง
เมื่อพูดถึง ‘ความเร็ว’ ในการจัดส่งสินค้าออนไลน์ เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกว่า การส่งข้ามวัน หรือสั่งเช้าได้เย็นก็คงจะเร็วมากแล้ว แต่สำหรับวงการอีคอมเมิร์ซจีน ‘การส่งรายชั่วโมง’ เป็นการจัดส่งแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงจากแนวคิดการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตอย่างรวดเร็ว บวกกับการใช้จ่ายช้อปปิ้งทางออนไลน์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการอีคอมเมิร์ซในจีนกำลังพบกับ ‘การค้าปลีกแบบจัดส่งทันที’ (Instant Retail) ที่เป็นรูปแบบการขายปลีกที่เติบโตเร็วที่สุดรูปแบบหนึ่ง และกลายเป็นช่องทางการบริโภคหลักในเมืองระดับ first-tier และ second-tier แล้ว
โดยเมืองในระดับ ‘first-tier’ อย่างกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว และเซินเจิ้น มีสัดส่วนของผู้บริโภคใช้บริการ Instant Retail เป็นช่องทางการช้อปปิ้งหลักสูงถึง 64% เนื่องจากสินค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์จะถูกจัดส่งจากร้านค้าใกล้เคียงภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง ทำให้หลายธุรกิจหันมาเล่นสนใจ Instant Retail มากขึ้น และพัฒนาการจัดส่งเพื่อแข่งขันกับเวลา ตามคอนเซ็ปท์ ‘ส่งตรงถึงหน้าบ้าน ภายในไม่กี่นาที’
การเติบโตของ Instant Retail ในจีน ได้รับความนิยมจากการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของผู้บริโภค โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่า กลุ่มคนหนุ่มสาวในจีนที่ชอบซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเมื่อกลุ่มนี้กลายเป็นผู้บริโภคหลัก การแสวงหาความสะดวกในการซื้อสินค้า จึงทำให้ความต้องการบริการจัดส่งถึงบ้านเพิ่มขึ้นตามมา
เห็นได้จากยอดขายจากธุรกิจเดลิเวอรี่ออนไลน์ของซุปเปอร์มาร์เก็ตในจีน ที่เติบโตเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีนี้ อย่างเช่น อัตราการเติบโตของธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต Greentown อยู่ที่ประมาณ 10% ซูเปอร์มาร์เก็ต Andeli เติบโตเกือบ 20% และยอดขายจากเดลิเวอรี่ของ Baida Yueshang Supermarket ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยอิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเหล่านักช้อปจากเมืองระดับ first-tier และ second-tier กลับบ้านเกิดของตน และได้นำวิธีการซื้อสินค้าแบบใหม่ มาสู่ตลาดที่กำลังได้รับความนิยม และในเวลาเดียวกัน แพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง Meituan, JD.com, Ele.me, และ Douyin ก็ได้นำมาใช้ในตลาดเช่นกัน เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงของผู้ใช้ร้านค้าปลีกทันทีได้มากขึ้น
ผู้จัดการของ Meidaojia แพลตฟอร์มบริการความงามแบบ O2O (online-to-offline) เผยว่า ในมณฑลบางแห่งของฝูเจี้ยน ยอดขายออนไลน์ของซูเปอร์มาร์เก็ต Yonghui คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 40% กระทบต่อบริษัทซูเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ เป็นอย่างมาก แม้ว่ายอดขายเดลิเวอรี่ของบริษัทส่วนใหญ่จะไม่สามารถทำถึงระดับนี้ได้ แต่ความสำคัญของเดลิเวอรี่นั้นแทบจะเหมือนกัน
หากแพลตฟอร์มไม่มีฟีเจอร์การจัดส่งออนไลน์ นั่นก็หมายถึง การยอมสละส่วนแบ่งของตลาดส่วนหนึ่ง ให้กับคู่แข่งรายอื่น เนื่องจากปัจจุบัน 25% ของผู้บริโภคในเมืองระดับมณฑล และ 16% ในเมืองชนบท ใช้บริการการค้าปลีกแบบจัดส่งทันทีเป็นช่องทางการซื้อหลักแล้ว
ทั้งนี้ บริษัทค้าปลีกยังมอง Instant Retail ความแตกต่างออกกไป เมื่อเทียบระหว่างตลาดระดับล่างกับเมืองระดับ first-tier และ second-tier โดยซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ในตลาดระดับล่างมองว่า การค้าปลีกแบบจัดส่งทันที เป็นช่องทางเสริมในการให้บริการแก่ผู้บริโภค และเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่ยอดขายจะสูสีกับยอดขายในเมืองระดับ first-tier และ second-tier
การแข่งขันด้านเวลา จึงเป็นสิ่งที่หลายแพลตฟอร์มหันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้น และเปลี่ยนจากการส่งข้ามวัน สู่การส่งภายในวัน และล่าสุดที่ส่งสินค้าภายในชั่วโมงกันแล้ว
เมื่อไม่นานมานี้ ‘Taobao’ เว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ และ ‘Ele.me’ บริการเดลิเวอรี่ของ Alibaba ได้จับมือร่วมกันเปิดตัวฟีเจอร์ ‘Xiao Shi Da Instant Delivery’ หรือ ‘Hourly Delivery’ บริการเดลิเวอรี่รายชั่วโมง จัดส่งสินค้าถึงมือลูกค้าภายใน 1 ชั่วโมง โดยเปิดให้บริการสำหรับแบรนด์และร้านค้าทั้งหมดบนแพลตฟอร์ม ตราบใดที่มีคลังสินค้าในพื้นที่ และสามารถตอบสนองความต้องการในการจัดส่งทันทีของผู้ใช้งาน
Hourly Delivery เป็นแอปพลิเคชั่นที่กำลังได้รับความนิยม และเพิ่มช่องทางการซื้อขายมากมาย ไม่เพียงแต่ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อเท่านั้น แต่ยังรวมถึง ‘Hourly Delivery Flagship Stores’ หรือร้านค้าเรือธงภายใต้แบรนด์ Hourly Delivery ที่รวมสินค้าของแบรนด์ต่างๆ
โดยผู้ใช้งานสามารถซื้อสินค้าผ่าน Hourly Delivery ได้มากกว่า 10 ล้านรายการ จากซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ทั้ง Tmall Supermarket, FoodTalks, Hema (Fresh Hippo), และร้านขายผลไม้มากกว่า 300,000 แห่ง ซึ่งเมื่อทำการสั่งซื้อ พวกเขาสามารถเลือกการจัดส่งแบบปกติหรือแบบรายชั่วโมงได้
ทางด้านอีคอมเมิร์ซ JD.com ได้เข้าสู่ตลาดค้าปลีก Instant Retail เช่นกัน โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของบริษัท โดยเฉพาะในเทศกาลช้อปปิ้ง ‘618’ ของปีนี้ ที่ JD.com ได้รวมบริการ JD.com Hourly Delivery และ JD.com Home Delivery เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนชื่อธุรกิจการค้าปลีกแบบจัดส่งทันทีเป็น ‘JD.com Second Delivery’ อย่างเป็นทางการ
โดยบริการ JD.com Second Delivery มีความเร็วในการจัดส่งสินค้าภายในรัศมี 2-5 กิโลเมตร โดยเร็วที่สุด คือ ภายใน 9 นาที และช้าที่สุด 40 นาทีในกรณีที่มีการซื้อสินค้าหลายประเภท ครอบคลุมตั้งแต่ ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ตลาดสด รวมถึงสินค้าดิจิทัลบนมือถือ ยา เครื่องดื่ม เครื่องใช้ในบ้าน อาหารสด ดอกไม้ และหมวดอื่นๆ ที่จัดส่งได้ทันที
ส่วน Douyin ได้ก้าวสู่ตลาด Instant Retail และเปิดฟีเจอร์ ‘Xiao Shi Da Instant Delivery’ หรือ ‘Hourly Delivery’ เช่นกัน โดยได้มีซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ไปจนถึงร้านค้าขนาดเล็กเข้าร่วมโหมดบริการดังกล่าว อย่างเช่น Xiaomi Home, Pupu Supermarket, และ Jingdong Qixian และผู้ค้ารายย่อยในท้องถิ่นอย่าง IKEA Flowers และ Huaxianzi Flower Shop
โดยโหมดจัดส่งภายในหนึ่งชั่วโมงของ Douyin มีสินค้าที่ครอบคลุมทุกประเภทเหมือนแพลตฟอร์มอื่น และคาดว่าบริการ Hourly Delivery อาจกลายเป็นช่องทางใหม่ที่สามารถขับเคลื่อนการเติบโตของ GMV (Gross Merchandise Volume) หรือ ยอดขายสินค้าออนไลน์รวมสำหรับ Douyin ได้ รวมทั้ง ข้อได้เปรียบจากการเป็นแพลตฟอร์มรับชมวิดีโอที่มีปริมาณการเข้าชมจำนวนมากด้วย
ส่วนสินค้าในกลุ่ม Personal Care หรือผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายในจีน เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้โมเดล Instant Retail เพื่อจัดส่งสินค้าภายในชั่วโมง ตามข้อมูลของ Kantar Consulting อัตราการเติบโตแบบทบต้นของตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายแบบขายปลีกสำเร็จรูปคาดว่าจะสูงถึง 47% ภายในปี 2027 และขนาดตลาดจะเกิน 1.7 แสนล้านหยวน
ไม่เพียงแต่แบรนด์ท้องถิ่นหรือสินค้าของชำเท่านั้น แม้แต่แบรนด์ระดับหรูก็หันมาใช้โมเดล Instant Retail เช่นกัน โดย Sephora ยักษ์ใหญ่แห่งวงการความงาม บริษัทลูกของกลุ่ม LVMH เป็นหนึ่งในผู้ค้าปลีกรายแรกๆ ที่ใช้ประโยชน์จากช่องทางการขายปลีกแบบจัดส่งทันทีของจีน และได้เปิดตัวบริการในร้านค้าทุกแห่งทั่วประเทศจีน
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ยอดขายของ Sephora พุ่งสูงขึ้นถึง 1,243% ในช่วงเทศกาล Qi Xi ของปีนี้ หรือที่รู้จักกันในชื่อวันวาเลนไทน์ของจีน เมื่อเทียบกับวันปกติในสัปดาห์ก่อนหน้า โดยผู้บริโภคจำนวนมากเลือกที่จะซื้อเครื่องสำอางผ่านร้านค้าปลีกทันทีเพื่อเป็นของขวัญในโอกาสนี้
ทำให้ร้านค้าปลีกจำนวนมาก นำสินค้าระดับหรูให้จำหน่ายผ่านโมเดล Instant Retail มากขึ้น จากการวิจัยแพลตฟอร์มจัดส่ง Meituan โดย Jing Daily แสดงให้เห็นว่า แพลตฟอร์มมีสินค้าระดับไฮเอนด์จาก Dior และ Chanel มากมาย รวมถึง ลิปสติกและน้ำหอมที่พร้อมจัดส่งทันที โดยราคาของผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ระหว่าง 43 ถึง 143 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1,500 ถึง 5,000 บาท บวกค่าจัดส่งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.80 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพียง 30 บาท
โดยเป็นความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่าง ‘SF Express’ บริษัทโลจิสติกส์และ ‘LVHM Group’ ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าหรูหรา ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่ง และการนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในกลยุทธ์ของแบรนด์ โดยที่ทีมโลจิสติกส์ถูกมองว่าเป็นจุดติดต่อที่สำคัญในการรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์และความพึงพอใจของลูกค้า
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังสนับสนุนแผนการขยายบริการค้าปลีกแบบจัดส่งทันที ให้เกินขอบเขตศูนย์กลางเมืองใหญ่ไปยังมณฑลที่เล็กกว่าและภูมิภาคชนบท กลยุทธ์นี้เกี่ยวข้องกับการเปิดตัวบริการค้าปลีกแบบจัดส่งทันที ที่ได้รับการปรับปรุงในพื้นที่เหล่านี้เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปทั่วโลก และโมเมนตัมการเติบโตของการช้อปปิ้งออนไลน์ก็เร่งตัวขึ้น โดยเว็บไซต์ Baidu แสดงสถิติให้เห็นว่า ในช่วงที่การแพร่ระบาดถึงจุดสูงสุด กว่า 74% ของผู้บริโภคซื้อของชำผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และการใช้จ่ายในการช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้บริโภคกว่า 21% ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แซงหน้าช่องทางการขายปลีกอื่นๆ อย่างมาก
ด้วยการพัฒนาของการช้อปปิ้งออนไลน์ ผู้บริโภคมีความต้องการความตรงต่อเวลาในการช้อปปิ้งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยผู้บริโภคประมาณ 75% หวังว่าจะได้รับสินค้าในวันเดียวกันหลังจากทำการสั่งซื้อ โดยไม่ต้องรอเวลาจัดส่ง 3-5 วันตามอีคอมเมิร์ซแบบดั้งเดิม
ทำให้การค้าปลีกแบบจัดส่งทันที จึงตอบโจทย์ต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่ของรูปแบบการช้อปปิ้งออนไลน์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดปกติ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในการช้อปปิ้งแบบ ‘รวดเร็ว’ และ ‘ใกล้ที่หมาย’ และดูเหมือนโฟกัสการช้อปปิ้งของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปที่ ‘รวดเร็ว’ และ ‘ใกล้ที่หมาย’ อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่
โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีน ระบุว่า จำนวนคำสั่งซื้อจากการค้าปลีกแบบจัดส่งทันทีทะลุ 40,000 ล้านรายการในปี 2022 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละมากกว่า 50% และมีขนาดตลาดมากกว่า 500,000 ล้านหยวน หรือ 2.47 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าภายในปี 2025
ความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่สำหรับการจัดหาสินค้าในพื้นที่ ที่มีการดำเนินการที่รวดเร็วขึ้นและการจัดส่งทันที ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ยักษ์ใหญ่ต้องประเมินความสำคัญของตลาดค้าปลีกทันทีอีกครั้ง ตั้งแต่การวางคำสั่งซื้อไปจนถึงการจัดส่ง
สำหรับโมเดล Instant Retail มีการผสานรวมของช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ได้ดี ในยุคที่หัวใจหลักของร้านสะดวกซื้อไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังตอบสนองความต้องการทุกที่ทุกเวลาอีกด้วย แม้มันจะเพิ่มข้อกำหนดในการดำเนินการร้านค้าให้สูงขึ้นอีกด้วย เนื่องจากสินค้าที่ขายในร้านค้า ควรมีความเข้มข้นและหลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้เปลี่ยนจาก ‘การจัดส่งในวันถัดไป’ เป็น ‘การจัดส่งภายในครึ่งวัน’ โดย ‘การค้าปลีกแบบจัดส่งทันที’ ที่กำลังเติบโต หรือที่ในอุตสาหกรรมเรียกว่าอีคอมเมิร์ซระยะใกล้ ได้ผลักดันเวลาจัดส่งจากหนึ่งชั่วโมงให้เหลือภายใน 10 นาที โดยมุ่งเป้าไปที่ความต้องการของผู้ใช้ในการเข้าถึงสินค้าได้อย่างรวดเร็ว
ขณะนี้การค้าปลีกแบบจัดส่งทันทีเปรียบเสมือนพายขนาดใหญ่ ซึ่งข้อมูลของอุตสาหกรรมพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตที่สูงของรูปแบบการค้าปลีกนี้ เห็นได้จากในไตรมาสแรกที่ GMV จากกลุ่ม JD App เพิ่มขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดย GMV ของช่องทางการจัดส่งทันทีเพิ่มขึ้นมากกว่า 200% และอัตราการเจาะตลาดของบริการการค้าปลีกแบบจัดส่งทันทีของ JD ในกลุ่มผู้ใช้งาน JD ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย
การค้าปลีกแบบจัดส่งทันทีที่พุ่งสูงขึ้น กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมการค้าปลีกด้วยความเร็วที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ที่เงินทุนเริ่มไหลเพื่อการค้าปลีกทันที แม้ว่ารูปแบบธุรกิจต่างๆ ทั้งคลังสินค้าล่วงหน้า การซื้อของกลุ่มชุมชน การรับส่งของ และการกระจายสินค้าในคลังสินค้าในเมืองจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่จุดสนใจของการแข่งขันก็ยังคงอยู่ที่การเพิ่มอุปทานและการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจการค้าปลีกแบบจัดส่งทันที กำลังพัฒนาไปในทิศทางของสินค้าทุกหมวดหมู่ ทุกสถานการณ์ และทุกสภาพอากาศ แม้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ทั้งหลายมีลักษณะที่แตกต่างกัน แต่อีคอมเมิร์ซแบบ O2O และ B2C กำลังเจาะลึกการบูรณาการ และเพิ่มความสามารถในการบูรณาซัพลลายเชน และในเวลาเดียวกัน พวกเขายังแสวงหาการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและระดับความซับซ้อนที่สูงขึ้นในการจัดส่งทันที
อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายหลายประการที่ตามมาสำหรับร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ห่างไม่มีกลยุทธ์ด้านราคา ระบบโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพพอ เนื่องจากการจัดส่งแบบทันทีจะเพิ่มต้นทุนการดำเนินงาน การตรวจสอบสินค้าคงคลังแบบเรียลไทม์ และ การลงทุนด้านเทคโนโลยี
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า จากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดของจีน และโมเดลธุรกิจ O2O ที่นำจุดแข็งของห้างร้านในออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกในไทย ควรศึกษากลยุทธ์การตลาดในรูปแบบ O2O ของจีน เพื่อนำไปปรับใช้กับการสั่งซื้อและการส่งสินค้าในประเทศไทย ส่งเสริมให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้อย่างสะดวกสบายและส่งแบบออฟไลน์ภายใน 30 นาที
เนื่องจากโมเดล Instant Retail กระตุ้นการบริโภคให้เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคกับร้านค้าขนาดเล็กภายในท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น โดยระยะยาวจะส่งเสริมให้สามารถเพิ่มการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้น
ส่วนผู้ประกอบไทยควรจะต้องตระหนัก และหมั่นศึกษาเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารให้ทันโลกยุคใหม่ ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในด้านการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและการขนส่ง เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุค Thailand 4.0 และเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดจีนได้ต่อไป
ที่มา DITP, CN Food, SCB, Baidu, Tobacco China, SOHU, Jing Daily