ธุรกิจอาหารบริการด่วน Quick Service Restaurant : QSR ในประเทศไทยมีเซกเมนต์ใหญ่ที่สุด คือ ไก่ทอด มูลค่าประมาณ 21,000 ล้านบาทในปี 2021 พิซซ่า 8,400 ล้านบาท เบอร์เกอร์ ประมาณ 7,200 ล้านบาท
ทีม SPOTLIGHT ได้รวบรวม 3 เบอร์เกอร์เจ้าดังที่ได้บุกตลาดไทย
เริ่มกันที่ แมคโดนัลด์ McDonald’s ร้านอาหารจานด่วนขวัญใจใครหลายๆคน ที่ปัจจุบันมีมากถึง 39,000 สาขากระจายอยู่ใน 119 ประเทศ และใน 6 ทวีปทั่วโลก มีลูกค้ามากกว่า 70 ล้านคนต่อวันและมีพนักงานทั่วโลกกว่า 150,000 คน แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทเป็นเจ้าของเอง 70% และสาขาที่ผู้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ดูแลกว่า 30% และปัจจุบันมูลค่าของบริษัทแมคโดนัลด์ สูงถึง 6.4 ล้านล้านบาท
แมคโดนัลด์ได้เข้าสู่ตลาดประเทศไทยในปี 2543 โดยบริษัท แมคไทย จำกัด และปัจจุบันมีสาขามากถึง 245 สาขา และมีรายได้กว่า 3,809 ล้านบาทในปี 2564 เมนูที่เป็นตำนานที่ใครมาแมคโดนัลด์จะต้องสั่งคงหนีไม่พ้น “Big Mac” ที่มีเนื้อวัวกำลังสอง ผักกาดแก้ว มายองเนส ชีส และซอสบิ๊กแมคที่กลมกล่อมชื่อดังเอกลักษณ์ของแมคโดนัลด์ ในราคา 191 บาท
แม้แมคโดนัลด์จะเป็นร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังระดับโลก และภาพจำของแมคโดนัลด์คือ ตัวหนังสือตัว M แต่ไม่ใช่เรื่องยากที่บริษัทจะเปลี่ยนโลโก้ เพื่อตอบสนองต่อวัฒธรรมท้องถื่น ซึ่งตรงกับอัตลักษณ์ของแบรนด์ “การมุ่งมั่นสู่ความสำเร็จอย่างเท่าเทียม”
ร้านแมคโดนัลด์สาขาราชดำเนินที่อยู่ติดกับโรงเรียนสตรีวิทยา มีการปรับโลโก้ตัวM จากสีแดงเดิมที่มีความฉูดฉาด ให้กลายมาเป็นสีแดงเลือดหมู เพื่อไม่ให้บรรยากาศของร้านทำลายทัศนียภาพเดิมบนถนนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย
ต่อกันที่เบอร์เกอร์คิง (Burger King) ศัตรูคู่แข็งตัวสำคัญของแมคโดนัลด์ อีกหนึ่งร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังสัญชาติอเมริกัน ที่ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 28,000 สาขา ใน 116 ประเทศ และเข้ามาในตลาดประเทศไทยในปี 2543 ปัจจุบันเบอร์เกอร์คิง มีสาขากระจายอยู่ 127 สาขาในไทย โดยแบ่งออกเป็นพื้นที่โซนกรุงเทพ 60% และต่างจังหวัด 40% ซึ่งปัจจุบัน บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้สิทธิดูแลเบอร์เกอร์คิงในประเทศไทย
จุดเด่นของเบอร์เกอร์คิง คือการย่างเนื้อด้วย Frame Grilled (ย่างไฟ) ทำให้เนื้อมีความหอม และไม่อมน้ำมัน และเมนูดังที่เลื่องชื่อ คงหนีไม่พ้น “WHOPPER” ในราคา 189 บาท ซึ่งในปี 2564 เบอร์เกอร์คิงประเทศไทยกวาดรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท
นอกจากนี้เบอร์เกอร์คิงได้รุกทำการตลาดประเทศไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมาในการจับมือกับโซนี่พิคเจอร์ส ด้วยกลยุทธ์มูฟวี่มาร์เก็ตติ้ง “สไปเดอร์แมน” เพื่อเปิดตัว Burger King Spider Verse Store โดยการเนรมิตร้านเบอร์เกอร์คิงให้กลายเป็นมัลติเวิร์สด้วยใยแมงมุม ที่ร้านเบอร์เกอร์คิง 3 สาขา เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มครอบครัวมากขึ้น
สุดท้ายมาที่ร้านเบอร์เกอร์ยอดฮิตของใครหลายๆคน มอสเบอร์เกอร์(Mos Burger) ร้านเบอร์เกอร์สัญชาติญี่ปุ่น ปัจจุบันสามารถขยายสาขาได้ถึง 1,260 สาขา ใน 9 ประเทศทั่วโลก มอสเบอร์เกอร์ได้เขาสู่ตลาดประเทศไทยในปี 2007 และได้กระแสตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค ด้วยเมนู พอร์ค ฟูจิยามะ เบอร์เกอร์ (149 บาท) ทำให้ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 28 สาขาในประเทศไทย และมีรายได้กว่า 127 ล้านบาทในปี 2564
ในเเง่ของการตลาด มอสเบอร์เกอร์ได้ดึงสไตล์ความเป็นญี่ปุ่น ในการทำเบอร์เกอร์สดๆ ชิ้นต่อชิ้น ทำให้ภาพลักษณ์ของมอสเบอร์เกอร์ไม่ใช่ร้านQSR แต่เป็นร้านอาหารกึ่งๆ Fast Casual ที่มีการบริการที่รวดเร็ว ราคาไม่แพง และสามารถยกระดับมาตรฐานของอาหารให้มีความโดดเด่นได้อีกด้วย