ธุรกิจการตลาด

ทุนจีนรุกคืบธุรกิจขนส่งในไทย ยิ่งปิดโอกาส SME ไทยจะสู้ไหว

1 ก.ย. 67
ทุนจีนรุกคืบธุรกิจขนส่งในไทย ยิ่งปิดโอกาส SME ไทยจะสู้ไหว
ไฮไลท์ Highlight

กลยุทธ์ทุนจีนที่รุกคืบธุรกิจไทย ที่ไม่ได้หลั่งไหลมาแค่สินค้าราคาถูกเท่านั้นแต่ทุนจีนจับมือกันมาทั้งระบบโลจิสติกส์ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

สินค้าจีนยังคงหลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยไม่หยุด ตัวเลข 6 เดือนแรกของปี 2567 ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% เทียบกับปีก่อนคิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน  19,967.46  ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 15.66% 

ข้อมูลจาก กกร.พบว่าภาคการผลิตไทยได้รับผลกระทบมากกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม จึงเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการดูแลผู้ประกอบการไทย ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ออกมาตรการคุมเข้มสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานออกมา 5 ข้อหลัก เน้นไปที่การควบคุมคุณภาพสำหรับผู้บริโภคและสร้างความเป็นธรรมให้กับธุรกิจไทย ส่วนทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีน อย่างยั่งยืน (Thai-Chinese Center for Business Sustainability (TCCBS)) เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุน ระหว่างไทยและจีน ให้อยู่ในกรอบของผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้กรอบของกฎหมายของทั้งสองประเทศและกติกาสากล

SPOTLIGHT Live Talk สัมภาษณ์พิเศษผศ.ดร.สลิลาทิพย์ ทิพยไกรศร คณบดี คณะการจัดการโลจิสติกส์และการคมนาคมขนส่ง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มาเปิดกลยุทธ์ทุนจีนที่รุกคืบธุรกิจไทย ที่ไม่ได้หลั่งไหลมาแค่สินค้าราคาถูกเท่านั้นแต่ทุนจีนจับมือกันมาทั้งระบบโลจิสติกส์ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

ทุนจีนรุกคืบธุรกิจขนส่ง สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

การมาของ Temu แพลตฟอร์มขายสินค้ารายใหญ่จากจีน มีจุดขายสำคัญคือ ราคาสินค้าถูก เพราะมีการจัดโปรโมชั่นลดสูงสุดถึง 90% เพราะมีการนำสินค้าจากโรงงานมาขายตรงสู่ผู้บริโภค โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางเหมือนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่นๆ แต่อีกหนึ่งหัวใจสำคัญที่ทำให้สินค้าจากจีนทำราคาถูกได้ก็เพราะทุนจากจีนเข้ามาทำตลาดแบบครบวงจร ตั้งแต่แพลตฟอร์ม สินค้า และระบบโลจิสติกส์ ซึ่งหมายรวมถึงคลังสินค้า การบริหารจัดการสินค้า และการขนส่ง เรียกว่า มาครบแบบเบ็ดเสร็จ จนยากที่ผู้ประกอบการไทยจะแข่งขันได้ และโมเดลธุรกิจของจีนที่เข้ามาในไทยแบบเบ็ดเสร็จนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การมาของ Temu เป็นการตอกย้ำถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจไทย

หากเจาะลึกเฉพาะธุรกิจขนส่งในบ้านเราปัจจุบันพบว่า แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักคือ 

  1. ธุรกิจขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ เช่น ขนส่งเป็นตู้คอนเทนเนอร์ รถพ่วง รถบรรทุก ซึ่งมีทั้งกาขนส่งแบบในประเทศและต่างประเทศ 

  2. ธุรกิจขนส่งพัสดุ หรือในภาษาโลจิสติกส์เรียกว่า last Mile Delivery ตัวอย่างผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เช่น ไปรษณีย์ไทย แฟลช เอ็กเพรส เคอีเอ็กซ์ หรือ เคอรรี่เดิม

  3. ธุรกิจ Food Delivery กลุ่มฟู้ดเดลิเวอรี่เป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยโลจิสติกส์กับData

ดร.สลิลาทิพย์  ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์ของกลุ่มธุรกิจขนส่งทั้ง 3 ประเภทว่า กรณีการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ มีกลุ่มธุรกิจทุนจีนรุกคืบเข้ามาในไทยนานมากแล้ว โดยใช้รูปแบบการร่วมทุนกับคนไทย เพื่อไม่ให้ผิดกฏหมาย แต่ที่ผ่านก็เคยมีกระแสข่าวเรื่องคนไทยเป็นนอมินีออกมาให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง 

 “ในเมื่อจดทะเบียนบริษัทเป็นของคนจีนร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้เค้าก็ต้องมาใช้ลักษณะของการร่วมทุนมันอาจจะไม่ใช่นอมินีแต่ว่ามันอาจจะเป็นลักษณะของการร่วมทุนกับคนไทยเพราะว่าใบอนุญาตต่างๆยังต้องเป็นคนไทยอยู่ดังนั้นถามว่าจะได้รับผลกระทบมั้ย ก็ได้รับผลกระทบเพราะว่าวันที่เค้ามาแข่งแล้วเค้าไม่ได้ทําเฉพาะเครือข่ายตัวเอง เค้าไปให้บริการอย่างอื่นมันก็จะกลายเป็นว่าเค้าโดมิเนทตลาดแล้วผู้ประกอบการคนไทยก็จะอยู่ยาก” 

ขณะที่กลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุ หรือ Last mile delivery ก็มีทุนจีนเข้ามาถือหุ้นเช่นกัน มีเช่นกรณีของ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยได้S.F.Holdings Co., Ltd. (SF) จากจีนเข้ามาและได้มีการรีแบรนด์ เป็น KEX
ส่วนอีกรายคือ J&T ที่ได้ขยายตลาดเข้ามาในอาเซียนหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน  

 “ต่อให้จดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย แต่ต้องไม่ลืมว่าบริษัทก็ยังเป็นของจีนบริษัทแม่ก็ยังเป็นของจีนดังนั้นประเทศไทยก็คงจะไม่ได้แบบกําไรแบบเต็มเต็มหน่วยถึงแม้ว่าเราจะได้การจ้างงานแต่ว่ามันก็เป็นการจ้างงานที่ไม่ใช่มูลค่าสูง” 

ดร.สลิลาทิพย์ มองว่า ช่วงเวลาทองของธุรกิจขนส่งพัสดุ หรือ Last mile delivery ได้จบลงแล้ว โดยปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจขนส่งเกิดกําไรขาดทุน คือจํานวนหรือปริมาณพัสดุ ซึ่งในช่วงแรกๆปริมาณพัสดุอาจจะยังไม่เยอะ ต้นทุนสูงมาก ใช้งบการตลาดมาก ดังนั้นจึงเกิดการขาดทุนเยอะในช่วง5 ถึง 7 ปีเป็นอย่างน้อย ส่วนช่วงเวลาทองคือ ตอนเกิดโควิด ธุรกิจขนส่งพัสดุมีการเติบโตมากเพราะผู้บริโภคมีการสั่งซื้อสินค้าทางอีคอมเมิร์ซสูงขึ้นมากกว่า 30% แต่ช่วงเวลานั้นผู้เล่นในตลาดกลับใช้กลยุทธ์ลดราคาขนส่ง แต่พอพ้นช่วงโควิด การซื้อสินค้าออนไลน์ลดลง กลายเป็นว่าไม่มีใครกล้าขึ้นราคาค่าขนส่ง เพราะกลัวจะเสียปริมาณชิ้นงานพัสดุ ทําสถานการณ์การแข่งขันค่อนข้างกดดัน

ผลประกอบการธุรกืจขนส่ง

สำหรับกลุ่มธุรกิจขนส่งพัสดุปัจจุบัน ทางไปรษณีย์ไทย ของคนไทยยังคงครองส่วนแบ่งมากที่สุดเป็นอันดับ1 แต่การแข่งขันในตลาดนี้ดุเดือดเห็นได้จากผลประกอบการของธุรกิจแต่ละเจ้าที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน  ส่วนกลุ่มธุรกิจ Food delivery ปัจจุบันยังไม่มีทุนจีนรุกคืบ แต่คงต้องจับตาดูกรณีของRobinhood ที่จะไปต่อด้วยกลุ่มทุนไหนมาดำเนินการต่อ ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือดมากเช่นกัน

ถึงเวลารัฐฯช่วยแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรม 

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการรุกคืบของทุนจีน มุมมองของดร.สลิลาทิพย์ เสนอว่า ภาครัฐ ควรต้องเข้าไปกำกับดูแลอย่างจริงจัง และต้องรู้เท่าทันกับสถานการณ์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องสามารถประเมินได้ล่วงหน้า 

“เราได้บทเรียนมามากแล้ว หน่วยงานที่กํากับดูแลอาจจะต้องนําหน้าแพลตฟอร์มหรือว่าออกกฎระเบียบที่เรารู้แล้วว่าเทรนด์ข้างหน้าแพลตฟอร์มต่างๆจะวิ่งเข้าเมืองไทย มาตรการต่างๆควรออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนว่าใครที่เข้ามาหลังจากนี้ต้องอยู่ภายใต้กฏเหล่านี้นะ”

สามารถรับชมการสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในรายการ SPOTLIGHT Live Talk

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT