Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
คนไทยหนี้ท่วม ผ่อนรถ ผ่อนบ้านไม่ไหว! ความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจไทยปีนี้
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

คนไทยหนี้ท่วม ผ่อนรถ ผ่อนบ้านไม่ไหว! ความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจไทยปีนี้

20 ก.พ. 67
21:45 น.
|
2.2K
แชร์

คนไทยจนลง? เพราะยอดการผิดนัดชำระหนี้ทั้งบ้านและรถยนต์เพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมากระทบเศรษฐกิจไทย ในปี 2567 นี้ 

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงมากของไทย คือประมาณ 90.9 % ต่อGDP โดยยอดสินเชื่อครัวเรือนคงค้างทั้งหมด (Loan Outstanding) จากฐานข้อมูลของเครดิตบูโรในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 อยู่ที่ 13.68 ล้านล้านบาท จาก 84.3 บัญชี เพิ่มขึ้นถึง 3.7% เทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งก็ถือว่า หนี้ครัวเรือนขยายตัวสูงกว่า GDP ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว โดยสภาพัฒน์รายงานตัวเลขที่  1.7% 

หนี้เสียรถยนต์และหนี้เสียบ้าน กำลังน่าเป็นห่วง

หนี้ 2 ประเภทที่ทางการกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดคือ หนี้อสังหาริมทรัพย์ เช่น สินเชื่อบ้าน คอนโด กับ หนี้เช่าซื้อรถยนต์ ที่ยอดการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เปิดเผย ตัวเลขหนี้เสีย  คือ หนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน หรือเรียกว่า NPL ของบุคคลธรรมดา ณเดือนธันวาคม ปี 2566 อยู่ที่ 1.04 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.6%  โดยหนี้ที่เป็น NPL มากที่สุดคือสินเชื่อส่วนบุคคล คิดเป็น 2.6 แสนล้านบาท รองลงมาคือสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งอยู่ที่ 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 28% จากปี2565 ขณะที่สินเชื่อบ้านเป็น NPL อยู่ที่ 1.8 แสนล้านบาท 

หนี้เสียหรือ NPL คือ หนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันว่าน่าเป็นห่วงแล้ว กลุ่มหนี้รอเน่า ซึ่งหมายถึงหนี้ที่มีการค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ยังไม่เกิน 90 วัน ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Special Mention ในปี 2566 ก็เพิ่มสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง อยู่ที่ 6.1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 17.8% และในจำนวนนี้เป็นหนี้รถยนต์ 2.08 แสนล้านบาท รองลงมาคือหนี้ที่อยู่อาศัยหรือหนี้บ้านที่ 1.78 แสนล้านบาท 

ทุกหน่วยงานที่เก็บข้อมูลเศรษฐกิจไทยเห็นตรงกันว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง90%ของGDP ขณะนี้คือปัจจัยที่ลบที่สำคัญที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยตลอดปีนี้แน่นอน 

ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งสูง และ ยอดโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯติดลบ

ปัญหา NPL สูงและแนวโน้มการผิดนัดชำระที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบตามมากับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น เมื่อ NPL สินเชื่อรถยนต์สูงขึ้นลุกลามนำไปสู่การยึดรถ การนำรถไปคืน และการนำรถเข้าลานประมูลเพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกใจที่ราคารถมือสองยิ่งตกลง ส่วนแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อให้รถยนต์ต้องขาดทุนเมื่อยึดรถมาแล้วนำรถไปขาย สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้สินเชื่อรถยนต์ต้องกันสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก และที่สำคัญต้องเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากขึ้น  เป็นสาเหตุให้ผู้ที่ซื้อรถมือสองมียอดการถูกปฏิเสธสินเชื่อ 30-40% เลยทีเดียว 

เช่นเดียวกับตัวเลขการ หนี้รอเน่ากลุ่มสินเชื่อบ้าน 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% หมายความว่า คนผ่อนบ้านไม่ค่อยไหว สอดคล้องกับยอดโอนกรรมสิทธิ์บ้านและคอนโดที่ราคาต่ำกว่า 5 ล้านหดตัวลงอย่างชัดเจน  กลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยกำลังซื้อน้อยลง ความสามารถในการซื้อบ้านและคอนโดลดลง  

การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าทั้งบ้านและคอนโด โดยมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีจำนวน  96,163  หน่วย ลดลงร้อยละ -12.7 ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีจำนวน  279,875  ล้านบาท ลดลงร้อยละ -9.7

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ให้ความเห็นว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง คนไทยมีค่าครองชีพที่สูงขึ้นตั้งแต่ปี 2565 ปัจจัยลบเหล่านี้ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน และโยงไปถึงธนาคาร ที่มีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ลดลงไปร้อยละ 2.8 มีจำนวน 678,347 ล้านบาทในปีที่แล้ว

เร่งถกการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตกลับไปที่ 5%หรือไม่ ?

ในฝั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ฯตระหนักถึงสถานการณ์หนี้ที่อยู่ในระดับสูง จึงเตรียมหารือถึงความเป็นไปได้ในการนำเอาการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำ 5% กลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเกณฑ์ขั้นต่ำ 5%นี้เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อปี 2566 หลังจากได้นำมาใช้เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ถูกกระทบจากโควิด 19 ตั้งแต่รอบบัญชีเดือนเมษายน 2563 

โดยปัจจุบันตั้งแต่รอบบัญชีเดือนมกราคม 2567 ถึงรอบบัญชีเดือนธันวาคม 2567 ผู้เป็นหนี้บัตรเครดิตต้องชำระขั้นต่ำ 8% ตัวอย่างเช่น ผู้ถือบัตรเครดิตมียอดใช้บัตรเครดิต 10,000 บาทต่อบัตร ยอดชำระขั้นต่ำ 8% เท่ากับ 800  บาท และจะกลับไปชำระขั้นต่ำ 10% ในปี 2568 

อย่างไรก็ตาม หากปีนี้จะกลับไปชำระขั้นต่ำที่ 5% ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่ทางสภาพัฒน์ฯและแบงก์ชาติต้องหารือร่วมกัน ข้อดีคือระยะสั้นอาจช่วยลูกหนี้ให้มีภาระผ่อนลดลง แต่ระยะยาวลูกหนี้อาจต้องเผชิญกับภาระผ่อนที่ยาวนานมากขึ้นกว่าหนี้จะหมด 

สำหรับตัวเลขหนี้เสีย (NPL) บัตรเครดิต ณ ไตรมาส 4 ปี2566 อยู่ที่ราว 61,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 11%เทียบกับปีก่อน ส่วน SM ของหนี้บัตรเครดิตอยู่ที่ราว 9,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น3%  

 

แชร์
คนไทยหนี้ท่วม ผ่อนรถ ผ่อนบ้านไม่ไหว! ความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจไทยปีนี้