ปี 2567 ตลาดรถยนต์ไทยกำลังเผชิญกับ "สัญญาณเตือน" ที่น่ากังวล ยอดขายรวมมีแนวโน้มหดตัว 3% แม้ค่ายรถจะทุ่มกลยุทธ์ลดราคาดึงดูดลูกค้าก็ตาม อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดรถปีนี้ "ไม่สดใส"?
ปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดรถยนต์ไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ส่งผลให้ยอดขายโดยรวมหดตัวลง สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ที่ดึงดูดผู้บริโภคไป พอมาปี 2567 เริ่มต้นด้วยบรรยากาศ "ตึงเครียด" ของตลาดรถยนต์ ค่ายรถต่างงัดกลยุทธ์ "ลดราคา" กระตุ้นยอดขายและชิงส่วนแบ่งตลาด ดุเดือดเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มรถที่ยอดขายหดตัวในปีที่แล้ว และกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า BEV ที่ต้องการขยายฐานลูกค้า แต่ทว่า กลยุทธ์ "ลดราคา" อาจไม่เพียงพอที่จะพลิกชะตาตลาดปีนี้ เพราะต้องเผชิญกับ "อุปสรรค" 2 ประการ
เพื่อกระตุ้นยอดขาย ค่ายรถหลายแห่งจึงใช้กลยุทธ์การลดราคา ซึ่งระดับของการลดราคานั้น ขึ้นอยู่กับ ประเภทของรถยนต์ ดังนี้
ตาราง เปรียบเทียบการปรับลดราคาเริ่มต้นของนถในแต่ละ Segment ต่างๆของค่ายรถยนต์
กลุ่ม segment รถยนต์ | สรุปสถานการณ์ตลาดที่ส่งผลกับกลยุทธ์ราคา | จำนวนค่ายรถที่ทำตลาด | จำนวนค่ายรถที่ลดราคา | ราคาเริ่มต้นเฉลี่ยปัจจุบัน (มีนาคม 2567) |
% การลดลงของราคาเริ่มต้น
|
รถนั่งขนาดเล็กมาก | การแข่งขันต่ำ ราคาถูก | 3 | 0 | 353,000 บาท | ไม่มีการปรับลดราคา |
รถอีโคคาร์ | การแข่งขันสูง กลุ่มผู้ซื้อหลักกำลังซื้ออ่อนแอ | 9 | 6 | 599,000 บาท | -3% ถึง -17% |
รถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก | การแข่งขันสูง กลุ่มผู้ซื้อหลักกำลังซื้ออ่อนแอ | 11 | 8 | 812,000 บาท | -3% ถึง -19% |
รถนั่งซีดานขนาดกลาง | การแข่งขันไม่สูง ราคาสูง กลุ่มผู้ซื้อหลักมีปัญหาด้านการเงินน้อย | 3 | 1 | 933,000 บาท | -12% |
รถอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ | การแข่งขันไม่สูง ราคาสูง กลุ่มผู้ซื้อหลักมีปัญหาด้านการเงินน้อย | 9 | 2 | 1,348,000 บาท | -7% และ -12% |
รถนั่งซีดานขนาดใหญ่ | การแข่งขันไม่สูง ราคาสูง กลุ่มผู้ซื้อหลักมีปัญหาด้านการเงินน้อย | 4 | 1 | 1,390,000 บาท | -8% |
รถปิกอัพ | การแข่งขันไม่สูง แต่ถูกกระทบจากเศรษฐกิจ | 7 | 3 | 710,000 บาท | -2% ถึง -4% |
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ปี 2567 ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยน่าจะอยู่ที่ 750,000 คัน หดตัว 3% จากปี 2566 สำหรับ รถยนต์นั่ง มีโอกาสขยายตัวเล็กน้อย 1% จากแรงกระตุ้นของราคาที่ปรับลดลง แต่หากแยกเฉพาะรถยนต์นั่งใช้น้ำมัน คาดว่าจะหดตัว 13% เพราะมีรถยนต์นั่ง BEV ที่ขยายตัว 63% มาชิงส่วนแบ่งตลาด ส่วนรถเพื่อการพาณิชย์ ส่วนใหญ่เป็นรถปิกอัพ คาดว่าจะหดตัว 8% เพราะมีการปรับลดราคาไม่มาก สำหรับปัจจัยอื่นๆ นอกจากราคาแล้ว ผู้บริโภคยังพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ในการตัดสินใจซื้อ เช่น ความน่าเชื่อถือ คุณภาพ หาอะไหล่ทดแทนง่าย และราคาขายต่อ
ปี 2567 ตลาดรถยนต์ไทยเผชิญบททดสอบสำคัญ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ ประกอบกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น กลยุทธ์การลดราคาจึงกลายเป็นอาวุธหลักที่ค่ายรถต่างนำมาใช้เพื่อดึงดูดลูกค้า ในขณะที่ค่ายรถใช้น้ำมันต้องดิ้นรนกับยอดขายที่หดตัว กลยุทธ์การลดราคาจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาฐานลูกค้า การแข่งขันที่รุนแรงในกลุ่มรถอีโคคาร์และรถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก บีบให้ค่ายรถต้องปรับลดราคาลงอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม กลยุทธ์การลดราคาอาจไม่เพียงพอสำหรับรถปิกอัพ แม้ยอดขายจะหดตัว แต่การแข่งขันที่ต่ำและยังไม่มีคู่แข่ง BEV ทำให้ค่ายรถเลือกปรับราคาลงเพียงเล็กน้อย ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ กลยุทธ์การลดราคาอาจช่วยพยุงตลาดรถไม่ให้หดตัวลงไปมาก แต่คงไม่สามารถพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ทั้งหมด อนาคตของตลาดรถยนต์ไทย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ไม่เพียงแต่กลยุทธ์ราคา แต่รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย