ในขณะนี้ สถานการณ์ที่ปั่นป่วนทั้งตลาดหุ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้มากที่สุด คงหนีไม่พ้นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลังในวันที่ 13 เมษายน อิหร่านปล่อยโดรนและยิงขีปนาวุธประมาณ 300 ลูกใส่อิสราเอล เพื่อตอบโต้เหตุวางระเบิดสถานกงสุลอิหร่านในซีเรียของอิสราเอลเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 คน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ทางทหารระดับสูง
ล่าสุด ในวันที่ 19 เมษายน อิสราเอลได้โจมตีโต้ตอบอิหร่านด้วยการส่งโดรนและระเบิดโจมตีบริเวณจังหวัดอิสฟาฮานของอิหร่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบิน ฐานทัพทหาร และโรงงานนิวเคลียร์ซึ่งสำนักข่าวอิหร่านรายงานตรงกันว่ายังคงปลอดภัยอย่างสมบูรณ์
การโจมตีโต้ตอบกันด้วยความรุนแรงในครั้งนี้ สร้างแรงสั่นสะเทือนกับตลาดหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน และทอง อีกครั้ง เพราะหากสถานการณ์นี้ลุกลามไปเป็นความขัดแย้งรุนแรงระดับภูมิภาค ย่อมส่งผลกับเศรษฐกิจทั้งโลกที่ต้องพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลาง
หลังจากมีข่าวการโจมตีออกมา ตลาดหุ้นเอเชียต่างปรับตัวลงกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไทย อินเดีย ออสเตรเลีย และเวียดนาม โดย 13.00 น. เวลาไทย ตลาดหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ไต้หวัน โดยดัชนี FTSE TESE Taiwan 50 Index ลดลงถึง 4.84% และ ดัชนี TAIWAN TAIEX INDEX ลดลง 3.65% ตามลำดับ
ในเวลาเดียวกัน ดัชนี SET Index ของไทยลดลง 1.84% ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นลดลง 2.41% ดัชนี Shanghai SE Composite ของจีนลดลง 0.35% และ Shenzhen Component Index ลดลง 1.16% ดัชนี KOSDAQ ของเกาหลีใต้ลดลง 1.59% และ ดัชนี S&P/ASX 300 Index ของออสเตรเลียลดลง 1.08%
ด้านราคาน้ำมัน พบราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นมากกว่า 4% ไปอยู่เหนือระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก่อนที่จะลดลงมาคงตัวที่ 88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งแน่นอนว่า หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งแรง ราคาน้ำมันในประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นอีก จากปัจจุบันที่แก๊สโซฮอลล์ 95 ราคาทะลุ 40 บาทต่อลิตรไปแล้ว
ส่วนราคาทอง พบราคา Spot Gold แตะระดับ all-time high ที่ 2,411.09 ต่อออนซ์ ด้านราคาทองคำในประเทศมีความผันผวนตามตลาดโลก ปรับขึ้นลงไปแล้ว 19 ครั้ง ส่งผลให้ราคาทองคำแท่งในประเทศขึ้นมา 150 บาท ราคาขายออก 41,650 บาทต่อบาททองคำ ส่วนทองรูปพรรณ ขายออก 42,150 บาทต่อบาททองคำ
ทั้งนี้ แม้การโจมตีอิสราเอลของอิหร่านในวันที่ 13 เมษายนที่ผ่านมาจะเป็นการใช้อาวุธหนักโจมตีอิสราเอลอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรก ทั้งสองประเทศได้ทำ “สงครามเงา” และ “สงครามตัวแทน” ด้วยการโจมตีกันแบบอ้อมๆ หรือแบบไม่ออกหน้ากันมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษแล้ว โดยปมขัดแย้งหลักก็คือ การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน และการรุกล้ำครอบครองดินแดนปาเลสไตน์ของอิสราเอล
เมื่อ 45 ปีก่อน อิหร่านที่ขณะนั้นถูกปกครองโดยราชวงศ์ปาห์ลาวี เคยมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีกับอิสราเอลมาโดยตลอด โดยอิหร่านเป็นชาติมุสลิมแรกๆ ที่ยอมรับการมีอยู่ของอิสราเอล และได้มีการสร้างความสัมพันธ์ด้านการทหารและความปลอดภัยกันในช่วงนั้น
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในปี 1979 หลังเกิดการปฏิวัติอิสลามที่ทำให้ราชวงศ์ปาห์ลาวีถูกโค่นล้ม เปิดทางให้ผู้นำคนใหม่คือ อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี (Ayatollah Khomeini) ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดแทน เพราะผู้นำคนใหม่มีนโยบายต่อต้านสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล
หลังขึ้นมามีอำนาจ โคมัยนีประกาศไม่ยอมรับอิสราเอลเป็นประเทศ ไม่ยอมรับสิทธิของอิสราเอลที่จะมีอยู่ รวมไปถึงประกาศสนับสนุนการล้มล้างการปกครองของอิสราเอลเหนือพื้นที่ปาเลสไตน์ โดยเรียกอิสราเอลว่าเป็น “เนื้อร้าย” ที่สมควรจะถูกกำจัดให้หมดไปจากพื้นที่ตะวันออกกลาง
การประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและอิสราเอลย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การใช้กองกำลังทหารและอาวุธโจมตีกันทางอ้อมที่ดำเนินมาแล้วกว่า 40 ปี โดยอิหร่านนั้นเน้นการสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธในเลบานอน เยเมน และปาเลสไตน์ให้โจมตีอิสราเอล และอิสราเอลใช้การโจมตีทางอากาศเรื่อยๆ โดยไม่ออกมายอมรับว่าเป็นผู้กระทำ
หลังประกาศตัวเป็นศัตรูกับอิสราเอล อิหร่านได้ให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและอาวุธแก่กลุ่มติดอาวุธ 3 กลุ่มที่ต่อต้านอิสราเอล ใน 3 พื้นที่ คือ กลุ่ม กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน กบฏฮูติในเยเมน กลุ่มฮามาสในเขตกาซา ปาเลสไตน์ รวมไปถึงสนับสนุนระบอบการปกครองซีเรียภายใต้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด
นี่ทำให้ความขัดแย้งและความรุนแรงที่ดำเนินอยู่ระหว่างกลุ่มติดอาวุธ และอิสราเอลมักถูกเรียกว่าเป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลและ อิหร่าน
ในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา อิสราเอลใช้อาวุธโจมตีอิหร่านอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นไปที่การทำลายสิ่งปลูกสร้างในโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน รวมไปถึงการลอบสังหารผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านในปี 2010 การโจมตีแหล่งผลิตยูเรเนียมของอิหร่านในปี 2021 และเครือข่ายท่อส่งก๊าซของอิหร่านในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ อิสราเอลยังโจมตีอิหร่านในเขตของซีเรีย หลังอิหร่านได้สร้างฐานทัพในซีเรียเพื่อสนับสนุนประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในสงครามกลางเมืองซีเรีย รวมไปถึงสร้างแลนด์บริดจ์เชื่อมระหว่างอิหร่าน อิรัก และซีเรีย เพื่อขนส่งอาวุธ ซึ่งอิสราเอลมองว่าเป็นการข่มขู่และเป็นภัยต่อความมั่นคงของอิสราเอล
หลังกลุ่มฮามาสซึ่งคาดว่าได้รับการสนับสนุนโดยอิหร่านเข้าโจมตีอิสราเอลในวันที่ 7 ตุลาคม กลุ่มฮิซบอลเลาะห์และกบฏฮูติ ก็ได้มีการโจมตีโต้ตอบกับอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถไล่ทามไลน์ตามเหตุการณ์สำคัญได้ ดังนี้
จากทามไลน์จะเห็นได้ว่า การโจมตีในวันที่ 13 เมษายนเป็นครั้งแรกที่อิหร่านโจมตีอิสราเอลโดยการยิงอาวุธจากเขตของตัวเอง ไม่ใช้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่ตนสนับสนุน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าความขัดแย้งนี้จะลุกลามไปเป็นสงครามระดับภูมิภาคหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่ออิสราเอลตัดสินใจโจมตีกลับ
ในปัจจุบัน ทุกฝ่ายกำลังจับตามองอิหร่านว่าจะมีการโจมตีโต้ตอบอะไรกับอิสราเอลอีกหรือไม่ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งสหรัฐฯ และประเทศอาหรับและมุสลิมอื่นๆ น่าจะมุ่งคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายมากกว่า เพราะสงครามระดับภูมิภาคจะสร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
หลังจากการโจมตีของอิหร่านในวันที่ 13 เมษายน นักวิเคราะห์มองว่าชาติอาหรับไม่น่าจะแสดงออกในการปกป้องอิสราเอล อย่างเปิดเผย โดยรองผู้อำนวยการโครงการตะวันออกกลางที่สภาแอตแลนติก กล่าวว่าหากการโจมตีในสัปดาห์ที่ผ่านมาลุกลามไปสู่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านในวงกว้าง ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ปกป้องอิสราเอลอาจกลายเป็นเป้าหมายและถูกลากเข้าสู่สมรภูมิในระดับภูมิภาค
ด้านสหรัฐฯ ชี้แจงชัดเจนว่าไม่ต้องการยกระดับความรุนแรงอีกต่อไป และประกาศไม่เข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารใดๆ ต่ออิหร่าน เพราะหากความขัดแย้งรุนแรงจนกระทั่งทําให้คะแนนนิยมของประธานาธิบดีไบเดนเสียไปแล้ว จะเปิดโอกาสให้คู่แข่งอย่างทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า เป็นการโจมตีของทางฝ่ายอิสราเอลหรือไม่ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวน แต่ราคาน้ำมันดิบก็ยังไม่ขึ้นไปแตะระดับนิวไฮใหม่ ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 90.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมีการทยอยลดลง มีความผันผวนอยู่ สะท้อนว่า โอกาสที่จะเกิดสงครามอย่างรุนแรงไม่มากนัก
ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยได้มีการปรับตัวลงมานั้น มองว่าเป็นผลทางเชิงจิตวิทยาต่อข่าวดังกล่าว ซึ่งทำให้ P/E ของตลาดหุ้นไทยขณะนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14.0-14.3 เท่า ถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างถูกมาก เมื่อเทียบกับค่า P/E ที่ควรจะอยู่ในระดับ 17.3 เท่า สวนเป้าหมายของ SET Index นั้น คงขอรอดูความชัดเจนในสถานการณ์การโจมตีของอิสราเอลกับอิหร่านในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์นี้ก่อน