ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเผยประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจไทย มองเศรษฐกิจไทยหมดสิทธิ์โตถึง 4-5% เหมือนในอดีต โดยอาจโตได้สูงสุดเพียงประมาณ 3% เพราะเศรษฐกิจไทยมีปัญหาโครงสร้าง ถูกสินค้าจีนตีตลาด และยังไม่สามารถผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการของตลาดโลกได้
ในงานพบปะผู้สื่อข่าววันนี้ (4 กรกฎาคม) นาย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ชี้ว่าหากอิงจากแบบจำลองของธปท. ในช่วงปี 2566-2571 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับประมาณ 3% ซึ่งน้อยลงจากการเติบโตในช่วง 10 ปีก่อนโควิด ซึ่งอยู่ที่ ประมาณ 3-3.5% และน้อยลงมากจากช่วงปี 2547-2556 ที่เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ถึง 4%
โดยประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดลงนี้ เกิดขึ้นจากศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภาคการผลิตและการส่งออก ที่ประสบปัญหาจากการล้นทะลักเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากจีน และการผลิตที่ล้าหลัง ไม่สามารถผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้
สำหรับภาพเศรษฐกิจไทยรายไตรมาส ธปท. คาดการณ์ว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตใกล้เคียง 2% ในไตรมาสที่ 3 คาดเติบโตใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 คาดเติบโตใกล้เคียง 4% ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัวได้ 1.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าที่คาดไว้
เมื่อมองในภาพรวม แม้เศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตและฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาหลังการเปิดประเทศ การฟื้นตัวของรายได้นั้นยังเป็นไปอย่างไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง ทั้งแรงงานภายในและนอกภาคการเกษตร ทั้งที่เป็นลูกจ้างและทำอาชีพอิสระ เพราะราคาค่าสินค้านั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลง เช่น แก๊สโซฮอล์ 95 ที่ราคาสูงขึ้นถึง 40% จาก 5 ปีก่อน และน้ำมันพืชที่ราคาสูงขึ้น 32.5% จาก 5 ปีก่อน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาโครงสร้างใหญ่ในภาคการผลิตและส่งออก โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มรถยนต์ ยานยนต์ harddisk drive อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเคมี พลาสติก และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่ลดลง จากการเข้ามาของสินค้าจีน และเทคโนโลยีการผลิตที่ล้าสมัย
จากข้อมูลของธปท. สินค้าหลักที่ได้รับผลกระทบจากจีนคือ สินค้าปิโตรเคมี เช่น พลาสติก และวัสดุก่อสร้าง เพราะจีนมี capacity ในการผลิตสินค้าสูง แต่ดีมานด์ในประเทศยังต่ำจากเศรษฐกิจที่ซบเซา และวิกฤตอสังริมทรัพย์ ทำให้จีนต้องเร่งการส่งออกเพื่อระบายสินค้าเหล่านี้ไปในตลาดโลก ซึ่งหนึ่งในตลาดหลักก็คือประเทศไทย
ปัญหาโครงสร้างในภาคการผลิตและส่งออกเหล่านี้ทำให้ไทยไม่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้เหมือนในอดีต เพราะปัจจุบันมูลค่าของภาคการผลิตคิดเป็นถึง 25% ของ GDP ไทย รองจากภาคบริการที่คิดเป็น 61% ของ GDP ซึ่งในปัจจุบันก็ยังฟื้นตัวได้ไม่ถึงระดับก่อนโควิด
ดังนั้น หากประเทศไทยไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้าง และเสริมศักยภาพของภาคผลิตด้วยการลงทุนในการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาเพื่อหา growth engine ใหม่ๆ รวมไปถึงเสริมศักยภาพแรงงานในภาคการผลิตของไทยให้เป็นที่ต้องการได้ เศรษฐกิจไทยก็หมดหวังที่จะเติบโตได้เหมือนในอดีต และจะเติบโตได้เพียง 3% ซึ่ง นาย เศรษฐพุฒิ มองว่าเป็นระดับที่ต่ำเกินไปสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีการเรียกร้องผลักดันให้ธปท. ลดดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น นาย เศรษฐพุฒิ ชี้แจงว่า การปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมองรอบด้าน และมองภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว (outlook-dependent) ไม่ใช่ตัวเลขที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน เพราะดอกเบี้ยปรับแล้วจะไม่ส่งผลทันที แต่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในอนาคต
นอกจากนี้ ดอกเบี้ยยังถือว่าเป็น blunt tool ที่เมื่อใช้แล้วจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และมีผู้ได้และเสียผลประโยชน์ในทุกสภาวะการณ์ เช่น หากดอกเบี้ยสูง ผู้ที่มีหนี้ก็จะประสบปัญหา แต่ผู้ฝากเงินได้ประโยชน์มากขึ้น ดังนั้น ธปท. จึงไม่สามารถที่จะปรับดอกเบี้ยตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้ แต่ต้องเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยที่ดีต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศมากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันก็เหมาะสมแล้ว เพราะเงินเฟ้อไทยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง และขึ้นมาอยู่ในกรอบที่เหมาะสมแล้ว
ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยนั้นทำให้คนกลุ่มใดเดือดร้อน เช่น ผู้มีปัญหาหนี้บางส่วนที่ต้องแบกรับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ธปท. ก็มีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เข้าไปแก้ปัญหาอย่างตรงจุด เช่น มาตรการทางการเงินต่างๆ อาทิ สินเชื่อฟื้นฟูฯ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว (ฟ้า-ส้ม) คลินิกแก้หนี้ และโครงการ responsible lending
สำหรับการปรับดอกเบี้ยในอนาคตนั้น นาย เศรษฐพุฒิ ชี้ว่าหากสภาวะการณ์ด้านเศรษฐกิจของไทยในอนาคตมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ธปท. ก็พร้อมจะปรับอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม และมองว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ต้องปรับไปตามสถานการณ์ในแต่ละประเทศ ไม่ควรปรับตามธนาคารกลางอื่นๆ เช่น เฟด
ทั้งนี้ ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก หากธนาคารกลางของประเทศอื่นปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยจนส่งผลต่อเสถียรภาพค่าเงินของไทย ธปท. ก็จะต้องปรับตาม แต่อาจจะไม่ได้อยู่ในอัตราหรือในไทม์ไลน์เวลาที่ตรงกัน
สำหรับประเด็นกรอบเงินเฟ้อ นาย เศรษฐพุฒิเผยว่า ธปท. กำลังดำเนินการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรึกษาหารือหาความตกลงร่วมกัน ซึ่งตามทามไลน์น่าจะมีการพูดคุยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
ทั้งนี้ นาย เศรษฐพุฒิ มองว่า การปรับเปลี่ยนกรอบเงินเฟ้อนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะกรอบนี้มีไว้เพื่อยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคต ให้ความชัดเจนเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินต่างๆ คือการสร้าง credibility และความแน่นอนสำหรับการคาดการณ์ ซึ่งถ้าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็จะผิดจุดประสงค์ของกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้แต่แรก
โดยหากมีการขยับกรอบเงินเฟ้อ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อัตราเงินเฟ้อจริงที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะจากความแน่นอนในการคาดการณ์ ต้นทุนในการผลิตสินค้าที่สูงขึ้น ลูกจ้างจะสามารถต่อรองราคาค่าจ้างเพิ่มขึ้นดันค่าจ้างให้สูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลเสียเป็นทอดๆ ไปยังตลาดหุ้น ตลาดทุน และดันบอนด์ยีลให้เพิ่มขึ้นค่อนข้างทันที
นอกจากนี้ กรอบเงินเฟ้อยังไม่มีผลอะไรกับราคาสินค้า เพราะเป็นกรอบที่ไว้สร้างความมั่นคงแน่นอนเท่านั้น ที่ผ่านมาราคาสินค้าอาจต่ำเพราะดีมานด์ และการแข่งขันที่สูงทำให้บริษัทไม่สามารถขึ้นราคาได้ ไม่ได้เป็นเพราะ ธปท. กำหนดกรอบเงินเฟ้อ ดังนั้น การเพิ่มกรอบเงินเฟ้อจะไม่ช่วยอะไรในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ