กรมการค้าภายใน เผยหลังหารือกับแพลตฟอร์มให้บริการส่งสินค้าและอาหาร 7 รายใหญ่ ขอให้ตรึงค่าส่งสินค้าในช่วงนี้ เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ระบุบริษัทส่งสินค้า-อาหาร พร้อมร่วมมือยันไม่มีแผนขึ้นราคา
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้หารือกับแพลตฟอร์มให้บริการส่งสินค้าและอาหาร 7 ราย ได้แก่ ไลน์แมน, แกร็บ, ฟู้ดแพนด้า, โรบินฮู้ด, ลาซาด้า, ช้อปปี้ และแอร์เอเชีย ฟู้ด ขอความร่วมมือให้ตรึงค่าบริการส่งสินค้าในช่วงนี้ เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน หลังจากที่มีข่าวว่าผู้ประกอบการเตรียมปรับขึ้นค่าบริการส่งสินค้าจากสาเหตุราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งภายหลังการหารือทั้ง 7 รายยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือ และยังไม่มีแผนจะปรับขึ้นราคาตามที่เป็นข่าว
ทั้งนี้กรมการค้าภายในได้เน้นย้ำไม่ให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นค่าบริการเพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์มีส่วนในวิถีชีวิตของประชาชนมากขึ้น และได้กำชับให้แสดงราคาสินค้าและบริการให้ชัดเจน ส่วนในกรณีที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าสินค้าหรือบริการ ต้องแสดงค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ชัดเจนด้วย
เพราะไม่เช่นนั้นจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หากประชาชนพบการกระทำความผิด หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านราคาและปริมาณ แจ้งได้ที่สายด่วนกรมโทร.1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ถ้าพบผิด จะดำเนินการตามกฎหมาย
ด้านนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ธุรกิจโลจิสติกส์ขยายขึ้นมาก เห็นได้จากเดือน ม.ค.65 มีธุรกิจที่จดทะเบียนใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 444 ราย เติบโต 39.6% เทียบเดือน ม.ค.64 โดยธุรกิจเปิดกิจการมากสุด 3 อันดับแรก คือ การขนส่งและขนถ่ายสินค้า 244 ราย เพิ่ม 26.4%, การขนส่งสินค้าทางถนน 68 ราย เพิ่ม 83.8% และกิจกรรมตัวแทน รับจัดส่งสินค้า 33 ราย เพิ่ม 32% สาเหตุเพราะผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์มากขึ้น
ประกอบกับภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) สมาชิก 15 ประเทศเปิดเสรีภาคบริการมากขึ้น โดยไทยเปิดให้สมาชิกเข้ามาลงทุนในธุรกิจบริการขนส่งเพิ่มเติม เช่น บริการเก็บสินค้าและคลังสินค้าสำหรับสินค้าแช่เย็นและแช่แข็ง เป็นต้น จึงมีสมาชิกเข้ามาลงทุนมากขึ้น
สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ในปีนี้น่าจับตามอง โดยเฉพาะการขยายการค้ากับอาร์เซ็ป และการขยายตัวของธุรกิจรองรับรถไฟจีน-ลาว ซึ่งภาครัฐจะต้องเร่งสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับวางแผนการขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศ อย่างมีประสิทธิภาพ