เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนต่อเดือนใน 77 จังหวัดทั่วไทย พบว่า โดยเฉลี่ยครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 22,372 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 21,616 บาทต่อครัวเรือน และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยไม่เคยลดลงเลยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ตัดภาพกลับมาที่รายได้… อยากชวนทุกคนสำรวจดูว่าเพิ่มขึ้นทันกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกปีหรือไม่?
ปี 2565 เป็นปีที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นผิดปกติจากหลายสิบปีที่ผ่านมา เช่นสหรัฐฯ เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งก็เพราะผลพวงจากสงครามรัสเซีย ยูเครน ที่ดันราคาน้ำมันมันพุ่งทะลุ 100 เหรียญ ค้างในระดับสูงนานเป็นเดือน แน่นอนว่า ราคาพลังงานคือต้นทุนของสินค้าและบริการเงินเฟ้อปี 65 จึงเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ ส่วนของประเทศไทยเเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 6.10 %
สำนักงานสถิติแห่งชาติมีการเก็บข้อมูลอัตราค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยแยกรายจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดพบว่า จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุดในไทยได้แก่ จ.ปทุมธานี อยู่ที่ 37,897.50 บาท ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากปี 2564 ที่จังหวัดนนทบุรีมีค่าใช้จ่ายสูงสุด 33,995 บาท นั่นทำให้ค่าใช้จ่ายสูงสุดอย่างจังหวัดปทุมธานีฃหากเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ราว 1,263 บาท
ขณะที่จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่ำที่สุดในประเทศไทยได้แก่ จ.เชียงราย อยู่ที่ระดับ 12,206.69 บาท เปลี่ยนแปลงจากปี 64 ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของค่าใช้จ่ายในบางจังหวัดสูงขึ้นอย่างชัดเจน เช่น จังหวัดกระบี่ ในปี 2565 อยู่อันดับที่ 4 ค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ 29,074 บาท เป็นระดับที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 4,841 บาทต่อครัวเรือน จากปี 2564 กระบี่มีค่าใช้จ่ายอยู่ในอันดับที่ 10 อัตรา 24,233 บาท นั่นจึงทำให้ในปี 2565 กระบี่มีค่าใช้จ่ายแซงกรุงเทพมหานครไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่หมดค่าใช้จ่ายไปกับอะไร? คำตอบคือ ค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ 58% เป็นค่าใช้จ่ายในหมวดที่ไม่ใช่อาหาร แต่เป็นการใช้ชีวิตประจำวันส่วรนอื่น เช่น ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล ส่วนอีก 42% เป็นค่าใช้จ่ายหมวดอาหาร
สถานการณ์ค่าครองชีพของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มว่าจะชอลอความร้อนแรงลงบ้างแล้ว เห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ค.66 ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาต่ำที่สุดในรอบ 21 เดือน เป็นผลมาจากราคาน้ำมัน, ค่าไฟฟ้า,ราคาสินค้าหมวดอาหาร ชะลอลงต่อเนื่อง
แต่สถานการณ์ของแพง ค่าครองชีพสูงก็ใช่ว่าจะหายไปเพราะสินค้าและบริการหลายรายการเมื่อปรับขึ้นแล้วมักไม่ได้ปรับลง แต่หลายฝ่ายมองว่าหากว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี คนไทยจะยังมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยได้อยู่ พูดง่ายๆก็คือ แม้ของจะแพงแต่เราก็ยังมีความสามารถหารายได้มาจับจ่ายได้อยู่ดี…ที่น่าเป็นห่วงคือ แล้วถ้าเศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ดีล่ะ? ก็เป็นความยากลำบากของประชาชนที่การประกอบอาชีพสร้างรายได้ไม่ดีเท่าเดิม แถมภาระค่าใช้จ่ายก็หนักขึ้นเรื่อยๆ
กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง และ สถานการณ์เศรษฐกืจโลกชะลอตัว ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2566 ถูกประเมินไว้ที่ 2.4%