Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
4 แบงก์ไทยปิดลดสาขาในลาว เสี่ยงแค่ไหน? เศรษฐกิจลาวใกล้ล้มจริงหรือ?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

4 แบงก์ไทยปิดลดสาขาในลาว เสี่ยงแค่ไหน? เศรษฐกิจลาวใกล้ล้มจริงหรือ?

3 ก.ย. 66
14:14 น.
|
1.4K
แชร์

ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เกิดข่าวสะเทือนวงการการเงินและลงทุน เมื่อสำนักงานคุ้มครองเงินฝากของ สปป.ลาว ได้ออกหนังสือแจ้งว่า 4 ธนาคารไทยในลาวได้แก่ ธนาคารทหารไทย สาขาเวียงจันทน์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสะหวันนะเขต, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สาขาเวียงจันทน์ และ ธนาคารกรุงเทพ ได้ปิดกิจการ และสิ้นสุดการเป็นสมาชิกไปเรียบร้อยแล้ว

ซึ่งเมื่อข่าวนี้ออกมา นักลงทุนหรือผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับลาวก็เกิดความตื่นตระหนก มองว่าการปิดสาขาธนาคารไทยถึง 4 แห่งพร้อมกันนั้นเป็นสัญญาณเตือนว่าประเทศลาวกำลังมีปัญหาหนัก และในอนาคตอาจจะไม่มีเงินพอทั้งสำหรับจ่ายหนี้สาธารณะ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต จนอาจจะ ‘ล้มละลาย’ ตามรอยศรีลังกาไป 

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจลาว ทำไมธนาคารของไทยจึงตัดสินใจปิดสาขาในประเทศลาว และในอนาคตเศรษฐกิจของประเทศลาวจะเป็นอย่างไรผ่านบทวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรีฯ

 

ไม่ได้ปิดพร้อมกันแค่แจ้งช้า ยันไม่มีปัญหา เป็นการปิดตามสมัครใจ

หลังจากมีข่าวออกมาจนเป็นที่พูดถึง เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ธนาคารแห่งสปป.ลาว (แบงก์ชาติลาว) ก็ได้ออกแถลงการณ์ด่วนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน และแก้ไขความเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วว่า ธนาคารไทย 4 สาขานั้น ‘เป็นการปิดโดยสมัครใจเพื่อลดสาขา’ ตามกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของแต่ละธนาคาร และแท้จริงแล้ว ‘ไม่ได้ปิดกิจการพร้อมกันทีเดียว’ แต่มีการทยอยปิดมาเรื่อยๆ ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา 

พร้อมกันนี้ยังได้ยอมรับในแถลงการณ์อีกด้วยว่า หนังสือนี้เป็นการแจ้งข่าวสารที่ไม่ได้ระวังถึงผลกระทบที่มีความละเอียดอ่อนที่จะตามมา เพราะการที่สำนักงานคุ้มครองเงินฝากออกหนังสือแจ้งการปิดกิจการของทั้ง 4 สาขาในฉบับเดียว ก็อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดไปได้ว่าทั้ง 4 แหน่งนี้ปิดกิจการกะทันหันพร้อมกันทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าจะสร้างความตื่นหนกให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ จากหนังสือแจ้งปิดกิจการดังกล่าว ธนาคารแต่ละแห่งในรายชื่อได้ทยอยปิดตัวตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมา และได้โอนเงินฝากไปยังธนาคารอื่นแล้ว ทำให้แน่ใจได้ว่าเงินฝากของลูกค้าทุกคนจะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ตามกฎระเบียบของสปป. ลาว 

โดยในหมู่ 4 ธนาคารนี้ ธนาคารแรกที่ปิดตัวไปคือ ธนาคารทหารไทย สาขานครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งได้ปิดกิจการและสิ้นสุดการเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และได้โอนเงินฝากของธนาคารไปให้ธนาคารร่วมพัฒนาเป็นผู้คุ้มครอง

แห่งที่ 2 คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาสะหวันนะเขต ซึ่งได้ปิดกิจการและสิ้นสุดการเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 และได้โอนเงินฝากไปให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขานครหลวงเวียงจันทน์ เป็นผู้คุ้มครอง

แห่งที่ 3 คือ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย สาขานครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งได้ปิดกิจการและสิ้นสุดการเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 และได้โอนเงินฝากของธนาคารไปให้ธนาคารพัฒนาลาวเป็นผู้คุ้มครอง

และแห่งสุดท้ายคือ ธนาคารกรุงเทพ สาขาปากเซ ซึ่งได้ปิดกิจการและสิ้นสุดการเป็นสมาชิกตามหนังสือแจ้งฉบับที่ 16 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2566 และได้โอนเงินฝากของธนาคารไปให้ธนาคารกรุงเทพ สาขานครหลวงเวียงจันทน์ เป็นผู้คุ้มครอง

 

กลุ่มแบงก์ไทยชี้นโนบายการเงินลาวไม่เอื้อ ลูกค้าลดลงจนไม่คุ้ม

ทั้งนี้ หลังจากหน่วยงานของลาวจะออกมาเปิดเผยว่าการปิดกิจการสาขาดังกล่าวเป็นการปรับลดสาขาตามการดำเนินธุรกิจ กลุ่มแบงก์ที่ปิดสาขาไปในลาวก็ได้ออกมาเปิดเผยเพิ่มเติมแล้วว่าสาเหตุที่ตัดสินใจปิดบางสาขาในลาวนั้น เป็นเพราะนโยบายและมาตรการทางการเงินบางอย่างของธนาคารกลางลาวทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น การค้าระหว่างประเทศทำได้ยาก ทำให้ลูกค้าในลาวที่ส่วนมากจะเป็นธุรกิจไทย ตัดสินใจม้วนเสื่อกลับไทยไป

โดยจากการรายงานของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ สิ่งที่สร้างปัญหาให้กับธนาคารไทยและทำให้การทำธุรกิจในลาวยากลำบากขึ้นมากก็คือ ค่าเงินกีบที่อ่อน และการจัดการและรักษาเสถียรภาพค่าเงินที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสำหรับธนาคารจาก 1 แสนล้านกีบเป็น 3 แสนล้านกีบต่อหนึ่งสาขา ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจที่ลาวสูงขึ้นมาก

นอกจากนี้ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา และไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด กิจกรรมทางเศรษฐกิจในลาวยังลดลง ทำให้หลายบริษัทหรือธุรกิจไทยในลาวตัดสินใจปิดกิจการกลับประเทศ และเมื่อไม่มีลูกค้าเหล่านี้แล้ว ธนาคารไทยก็มองว่าการดำเนินกิจการในพื้นที่ดังกล่าวไม่คุ้มทุน และไม่สมเหตุสมผลทางธุรกิจอีกต่อไป

ทั้งนี้ ถึงแม้จะมีการปิดสาขาธนาคารในลาว ธนาคารไทยบางเจ้ายังคงเดินหน้าทำธุรกิจในลาวต่อ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกร เพราะยังมองว่าเศรษฐกิจลาวยังมีโอกาสฟื้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจากความร่วมมือของประเทศจีน และยังมีฐานลูกค้าสำคัญซึ่งประกอบไปด้วยกิจการขนาดใหญ่และขนาดกลางของไทยในลาว ที่ยังคงต้องการบริการด้านการเงิน การโอนย้ายเงินข้ามประเทศ และบริการช่วยบริหารความเสี่ยงจากการแลกเปลี่ยนค่าเงินต่างประเทศอยู่

 

วิจัยกรุงศรีฯ เศรษฐกิจลาวมีโอกาสฟื้น แต่ปัญหาเงินเฟ้อและหนี้ยังเรื้อรัง

จากการวิเคราะห์ของธนาคารกรุงศรี GDP ของลาวมีโอกาสโตถึง 4% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 2.3% ในปีที่ผ่านมา จากการฟื้นตัวของภาคการบริการ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะปรับตัวดีขึ้นจากการลับไปของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากประเทศจีนและไทย การเข้ามาของเงินลงทุนต่างประเทศในโครงการพลังงานสะอาด และการก่อสร้างรางรถไฟเชื่อมต่อการส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยจีน

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของรายได้ในภาคส่วนเหล่านี้จะถูกกดดันโดยปัจจัยความเสี่ยงหลายประการทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทด้วยกันคือ

1. ความเสี่ยงภายนอกประเทศ เช่น 

  • หนี้ต่างประเทศที่สูง คิดเป็นถึง 68% ของ GDP
  • เงินสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำ ซึ่งอยู่ที่เพียง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมมูลค่าการนำเข้าของประเทศได้เพียงสองเดือน ทำให้รับแรงกระแทกจากวิกฤตในอนาคตได้ต่ำ
  • ความสามารถในการเจาะเข้าไปขายสินค้าหรือทำธุรกิจในตลาดอื่นที่จำกัด 
  • การขาดความสามารถในการกระจายความเสี่ยง
  • ดีมานด์สินค้าที่ลดลงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน

2. ความเสี่ยงในภาครัฐ เช่น 

  • หนี้สาธารณะที่สูง คิดเป็นถึง 110% ของ GDP
  • ปัจจัยพื้นฐานด้านการพัฒนาที่ต่ำ ทำให้มีความสามารถในการจ่ายหนี้หรือกู้หนี้ต่างประเทศเพิ่มน้อย และอ่อนแอต่อปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

3. ความเสี่ยงด้านการเงินของประเทศ เช่น 

  • รายได้และเงินทุนของธนาคารประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ
  • ค่าเงินที่มีแนวโน้มอ่อนลงเรื่อยๆ โดยในปัจจุบันเงินกีบของลาวเป็นสกุลเงินที่ราคาถูกที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีมูลค่าแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 19,647 กีบต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ (วันที่ 1 กันยายน)
  • เงินเฟ้อที่สูง โดยล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ปี 2566 อัตราเงินเฟ้อของลาวอยู่ที่ 27.8% ซึ่งถึงแม้จะลดลงมาแล้วก็ยังสูงจนยังส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนอยู่

และด้วยปัจจัยเหล่านี้เอง ลาวจึงยังไม่สามารถฟื้นตัวไปสู่ระดับก่อนโควิดได้อย่างมั่นคง เพราะไม่มีปัจจัยด้านใดเลยที่จะมาช่วยดันให้เศรษฐกิจลาวพัฒนาหรือฟื้นตัวอย่างเต็มที่ได้ นอกจากนี้ ความเสี่ยงเหล่านี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะหายไป เพราะทั่วโลกในตอนนี้มีการปรับลดการลงทุนในต่างประเทศและลดการบริโภคลง ซึ่งจะซ้ำเติมสถานะทางการเงินที่กำลังง่อนแง่นของลาวเข้าไปอีก เพราะหนี้สูงอยู่แล้ว แถมยังไม่สามารถหารายได้มาจ่ายหนี้ได้เพียงพออีก

โดยจากการคาดการณ์ของกรุงศรีฯ หนี้สาธารณะของลาวจะคงระดับสูงกว่า 100% ของ GDP อีกประมาณ 7 ปี และหนี้ต่างประเทศของลาวจะขึ้นไปสูงกว่าระดับเงินสำรองระหว่างประเทศ คือขึ้นไปอยู่ที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023-2026 ซึ่งจะทำให้ลาวมีความสามารถในการรับมือกับวิกฤตในอนาคตต่ำลงอีก 

ซึ่งเมื่อนำไปโยงกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นแล้ว นี่ทำให้ถึงแม้การตัดสินใจปรับลดสาขาของธนาคารไทยในลาวจะไม่ได้สะท้อนว่าเศรษฐกิจลาวกำลังจะล่มสลาย มันก็ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของลาวกำลังย่ำแย่ลง และอาจบ่งบอกว่าธนาคารเหล่านี้ได้ประเมินแล้วว่าเศรษฐกิจลาวยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ก็เป็นได้

 

อ้างอิง: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, Krungsri Research

แชร์
4 แบงก์ไทยปิดลดสาขาในลาว เสี่ยงแค่ไหน? เศรษฐกิจลาวใกล้ล้มจริงหรือ?