Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
5 ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 'ไทย' เสี่ยงหรือไม่? กระทบอย่างไร?
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

5 ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 'ไทย' เสี่ยงหรือไม่? กระทบอย่างไร?

4 มี.ค. 67
16:52 น.
|
1.0K
แชร์

ในไตรมาสที่ 1 หลายๆ ประเทศออกมาทยอยประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 รวมไปถึงสำหรับทั้งปีเพื่อรายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา และการคาดการณ์ในปี 2024 

โดยในปี 2023 แม้หลายๆ ประเทศ เช่น อินเดีย จะสามารถฟิ้นตัวจากการระบาดของโควิด และยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีๆ หลายๆ ประเทศกลับส่อแววชะลอ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในไตรมาสที่ 3 และ 4 กลับติดลบ ทำให้บางประเทศ อย่างเช่น ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เข้าสู่ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค’ (Technical Recession) หรือ ภาวะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 2 ไตรมาส 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นเดียวกัน ทั้งประเทศที่ GDP เป็นลบแล้วในไตรมาสที่ 3 แต่ยังไม่ประกาศ GDP ในไตรมาสที่ 4 หรือเพิ่งมี GDP เป็นลบในไตรมาสที่ 4 และเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาสแรกของปี 2024

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปดูกันว่า ในปัจจุบันมีประเทศไหนที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเรียบร้อยแล้ว หรือกำลังมีความเสี่ยง รวมไปถึงดูว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศเหล่านี้ จะีความเสี่ยงต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง

5 ประเทศเข้าภาวะถดถอยทางเทคนิค เหตุดอกเบี้ยสูง ส่งออกน้อย 

ปัจจุบัน มี 5 ประเทศในโลกแล้วที่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคอย่างเป็นทางการ นั่นก็คือ ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และ เอสโตเนีย โดยแต่ละประเทศก็มีปัญหาทางโครงสร้าง และต้องรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกแตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วจะมีปัจจัยลบที่ทำให้เศรษฐกิจซบเซาคล้ายกันคือ ภาวะดอกเบี้ยสูง และการส่งออกที่ลดลงตามดีมานด์สินค้าที่ลดลงจากสภาพเศรษฐกิจโลก

‘ฟินแลนด์’ เป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง และโด่งดังในด้านสวัสดิการ แต่พบ GDP ลดลงต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2023 เพราะส่งออกสินค้าได้น้อยลงจากดีมานด์ของคู่ค้าที่ลดลง อีกทั้ง ยังประสบกับภาวะดอกเบี้ยสูงค้างนาน และภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาข้าวของแพงขึ้น ทำให้คนกู้ยืมมาลงทุน และใช้จ่ายน้อยลงเพื่อประหยัดเงิน 

ธนาคารกลางฟินแลนด์ มองว่า ฟินแลนด์จะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปอีกสองปี เพราะประเทศคู่ค้าด้านการส่งออกมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี รัสเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันออกยังก่อสงครามกระพือภาวะเงินเฟ้อ ราคาอสังหาฯ ตกต่ำ หนี้ครัวเรือนก็ค่อนข้างอยู่ในระดับสูง ทำให้เศรษฐกิจฟินแลนด์ต้องรอปัจจัยภายนอกสงบแล้วจึงจะค่อยๆ ฟื้นตัวได้

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ มองว่า ฟินแลนด์จะสามารถกลับมาเติบโตได้ในปีนี้ หากฟินแลนด์ออกมาตรการกระตุ้นการจ้างงานและผลิตผลมากยิ่งขึ้น และลดความเข้มของนโยบายทางการเงินลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะสามารถเติบโตได้ประมาณ 0.5% ในปี 2024 เพราะตลาดแรงงานและระบบสวัสดิการทางสังคมของฟินแลนด์ยังแข็งแกร่ง

ถัดจากฟินแลนด์ ‘ไอร์แลนด์’ ก็ตกอยู่ในภาวะคล้ายกัน คือ เศรษฐกิจซบเซาลงจากการส่งออกที่ลดลงถึง 4.8% ในปี 2023 จากดีมานด์ที่ลดลง แม้จะมีอัตราการบริโภคภายในประเทศที่ค่อนข้างดี เพราะมีอัตราการจ้างงานที่สูง และมีการเพิ่มอัตราค่าแรงให้ทันกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งช่วยเสริมกำลังซื้อของผู้บริโภค

ปัจจุบันเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ขยายตัวและหดตัวในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาดีมานด์ภายนอก เช่น ภาคอุตสาหกรรมการผลิต อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังไม่คงตัวและยังเป็นปัญหาในอียู ทำให้ธนาคารกลางไอร์แลนด์ยังไม่น่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในเร็วๆ นี้

ส่วนทางด้าน ‘สหราชอาณาจักร’ และ ‘เอสโตเนีย’ ก็พบปัญหาคล้ายคลึงกัน คือ ภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูง และการส่งออกและผลิตที่ลดลง ทำให้ประชาชนไม่อยากใช้จ่าย ขณะที่บริษัทต่างๆ กู้ยืมเงินมาลงทุนน้อยลง และมีรายได้น้อยลง ซึ่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราการก่อสร้าง การจ้างงาน และรายได้ของแรงงาน และธุรกิจจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องพึ่งพาการใช้เงินของแรงงานเป็นหลัก

ขณะที่ ‘ญี่ปุ่น’ ถือว่า เป็นกรณีที่แตกต่างออกไปเพราะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก คือ -0.1% จึงไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยสูง แต่ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ และเงินเยนอ่อนที่ทำให้การนำเข้าและมูลค่าซื้อขายของเชื้อเพลิงพลังงาน และอาหารมีสูงขึ้น และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำ ทำให้คนญี่ปุ่นไม่ยอมจับจ่ายใช้สอย
341686

 

จับตา 13 ประเทศเสี่ยง GDP ติดลบแล้ว 1 ไตรมาส

นอกจาก 5 ประเทศดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันยังมีอีกอย่างน้อย 13 ประเทศที่มีความเสี่ยงจะเข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้ง 1. กลุ่มประเทศที่มี GDP เป็นลบแล้วในไตรมาสที่ 3 แต่ยังไม่ประกาศ GDP ของไตรมาสที่ 4 และ 2. กลุ่มประเทศที่เพิ่งรายงาน GDP ติดลบในไตรมาสที่ 4 ของปี 2023 ที่ผ่านมา

กลุ่มประเทศที่มี GDP ติดลบแล้วในไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 ได้แก่ เดนมาร์ก, ลักเซมเบิร์ก, มอลโดวา, เอกวาดอร์, บาห์เรน, แอฟริกาใต้ และ นิวซีแลนด์ ขณะกลุ่มประเทศที่เพิ่งรายงาน GDP เป็นลบในไตรมาสที่ 4 คือ มาเลเซีย, โรมาเนีย, ลิทัวเนีย, เยอรมนี, โคลอมเบีย รวมไปถึง ‘ประเทศไทย’ ที่เพิ่งรายงานการเติบโตของ GDP เป็น -0.6% ในไตรมาสที่ผ่านมา

ดังนั้น นักลงทุนจึงควรจับตามองการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจมีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะการส่งออก เพราะปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้ไม่ได้ดีเท่าที่ควรก็คืออัตราการส่งออกที่ฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่คาด และซบเซาลงจากดีมานด์ต่างประเทศที่ลดลง เพราะประเทศคู่ค้าของเราก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจซบเซาและยังฟื้นตัวได้ไม่ดีเช่นเดียวกัน

 

ไทยส่งออกน้อยลง ‘ญี่ปุ่น’ และ ‘มาเลเซีย’ คู่ค้าสำคัญ

ในปี 2023 ภาคการส่งออก ซึ่งเป็นภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ติดลบ 1% อยู่ที่ 284,561 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9.80 ล้านล้านบาท จากดีมานด์ที่ลดลง ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าไทยหดตัวหลายเดือน และทำให้ในภาพรวมทั้งปี ประเทศไทยขาดดุลการค้า อยู่ที่ 5,192 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดย 5 ตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยในปี 2023 ได้แก่ 

  1. สหรัฐอเมริกา มูลค่า 48,864.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.8%
  2. จีน มูลค่า 34,164.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.77%
  3. ญี่ปุ่น มูลค่า 24,669.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.05%
  4. ออสเตรเลีย มูลค่า 12,106.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.2%
  5. มาเลเซีย มูลค่า 11,874.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.3%

จากรายชื่อนี้ จะเห็นได้ว่ามีสองประเทศที่เสี่ยงเศรษฐกิจซบเซาเป็นคู่ค้าที่สำคัญของเราคือ ญี่ปุ่น และ มาเลเซีย ทำให้หากเศรษฐกิจของสองประเทศนี้ย่ำแย่ลงต่อเนื่อง อัตราการส่งออกสินค้าของไทยไปยังประเทศเหล่านี้ก็จะลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจไทยไปด้วย 

โดยเฉพาะธุรกิจผลิตสินค้าสินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม,ปศุสัตว์,ประมง) ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าอันดับ 2 ของไทย ด้วยมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 3,205.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาเลเซียเป็นผู้นำเข้าอันดับที่ 5 ด้วยมูลค่าการส่งออกทั้งหมด 1,188.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 



อ้างอิง: สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์, Trading Economics, CNN, Bloomberg, The Irish Times 

แชร์
5 ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 'ไทย' เสี่ยงหรือไม่? กระทบอย่างไร?