ข่าวเศรษฐกิจ

4 ความเป็นไปได้ของสงครามอิสราเอล-อิหร่าน สะเทือนเศรษฐกิจแค่ไหน?

19 เม.ย. 67
4 ความเป็นไปได้ของสงครามอิสราเอล-อิหร่าน สะเทือนเศรษฐกิจแค่ไหน?

คืนวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน หลังเที่ยงคืนตามเวลาอิหร่าน สถานีโทรทัศน์ของทางการอิหร่านรายงานว่า มีโดรน 3 ลำบินสำรวจเหนือน่านฟ้าของเมืองอิสฟาฮาน ซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญของอิหร่านเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ รวมถึงฐานการผลิตขีปนาวุธขนาดใหญ่ และที่ตั้งสาธารณูปโภคด้านนิวเคลียร์อีกหลายแห่ง  หลังจากโดรนเข้ามาในน่านฟ้าทำให้ระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านเริ่มทำงานทันทีและสามารถยิงสกัดโดรนเหล่านั้นได้

อิหร่านยืนยันว่า ไม่ได้โดนยิงขีปนาวุธ เป็นเพียงแค่การโจมตีด้วยโดรน เสียงระเบิดที่ผู้คนจำนวนมากได้ยินในเมืองอิสฟาฮานของอิหร่านนั้น เกิดจากการทำงานของระบบป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านเท่านั้น  ส่วนโรงงานนิวเคลียร์ในอิหร่านยังคงทำงานเป็นปกติและไม่ได้ถูกโจมตีแต่อย่างใด

ภาพเมือง อิสฟาฮาน
ภาพจาก AFP: บรรยากาศเมือง อิสฟาฮาน ในเช้าวันที่ 19  เม.ย.67 

นักวิเคราะห์เชื่ออิสราเอลโจมตีเชิงสัญลักษณ์มากกว่าทำลายล้าง

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานโดยอ้างอิงเจ้าหน้าที่ของอิสราเอลระบุว่า การโจมตีของอิสราเอลต่ออิหร่านในวันนี้เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่มีจุดประสงค์เพื่อทำลายล้างอิหร่าน โดยอิสราเอลต้องการส่งสัญญาณแก่อิหร่านว่า อิสราเอลมีศักยภาพในการใช้อาวุธโจมตีถึงใจกลางอิหร่าน

ด้านนายนาทาน อีเชล คนสนิทของนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล กล่าวว่า "ไม่มีใครต้องการทำสงครามกับอิหร่านในตอนนี้ เราเพียงแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเราสามารถแทรกซึม และโจมตีภายในดินแดนของอิหร่านได้ แต่พวกเขาไม่สามารถโจมตีถึงดินแดนของพวกเรา ข้อความที่เราต้องการสื่อออกมามีความสำคัญมากกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และขณะนี้เรามีภารกิจที่สำคัญกว่าในฉนวนกาซาและเลบานอน" 

ส่วนนายอียาล ฮูลาตา อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของอิสราเอล กล่าวว่า "เป็นเรื่องสำคัญที่อิหร่านจะต้องเข้าใจว่า เมื่ออิหร่านโจมตีเรา เราก็มีศักยภาพในการโจมตีกลับต่อดินแดนทุกแห่งในอิหร่าน และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง เรามีกองทัพอากาศที่มีความสามารถ และสหรัฐก็อยู่ข้างเรา"

สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ได้สร้างผลกระทบในแง่ความเสี่ยงต่อราคาน้ำมันอย่างมาก ล่าสุดสหรัฐประกาศจะคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่เพื่อตัดขีดความสามารถในการส่งออกน้ำมัน ซึ่งจะทำราคาน้ำมันผันผวนและอาจปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและอาจไปไกลถึง 150  ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากสงครามอิสราเอล อิหร่าน รุนแรงเต็มรูปแบบ  

ทั้งนี้ข้อมูลจาก บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอ็กซ์ แบ่งสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน ออกเป็น 4 สถานการณ์ และจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแตกต่างกัน  โดยสถานการณ์ปัจจุบันอยู่ระหว่างสถานการณ์กลาง (Base scenario) และ สถานการณ์สงคราม เงา (Shadow war)

เครื่องบินขับไล่ F-15 ของกองทัพอิสราเอลบินเหนือตอนกลางของอิสราเอลเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2024 (ภาพโดย Menahem KAHANA / AFP)
ภาพจาก AFP : เครื่องบินขับไล่ F-15 ของกองทัพอิสราเอล
บินเหนือตอนกลางของอิสราเอลเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2024
(ภาพโดย Menahem KAHANA / AFP)

4 สถานการณ์ความรุนแรงของสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน

1.ในสถานการณ์หลัก (Base scenario) ซึ่งมีความน่าจะเป็นประมาณ 40%

สงครามจะยังจำกัดอยู่อิสราเอล และจะยุติลงในไม่ช้า หลังจากการเจรจากหยุดยิงระหว่างอิสราเอล-ฮามาชได้ข้อสรุป ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ปัจจุบันอยู่ที่ 83.9) และประมาณการเศรษฐกิจเป็นไปตามที่คาด ณ เดือน มี.ค.โดย GDP ไทยปี 2567 โต 2.7% คาดการณ์ธปท.ดดอกเบี้ยปีนี้เหลือ 2.00 % 

2.สถานการณ์สงครามเงา (Shadow war) ความน่าจะเป็น 30%

สงครามขยายตัวไปสู่การต่อสู้กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน กบฏฮูตีในเยเมน และซีเรีย ทำให้ราคาน้ำมันคงตัวในระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลง GDP สหรัฐฯเหลือ 0.0% และไทยโตเหลือ 2.5% เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5% ทําให้ Fed ลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ขณะที่ธปท. จะไม่ลดดอกเบี้ยทั้งปีนี้

3.สถานการณ์สงครามตัวแทน (Proxy war) ความน่าจะเป็น 20%

โดยสงครามขยายตัวไปสู่เลบานอน และซีเรีย รวมถึงเกิดการโจมตีทางอากาศในอิหร่านและอิสราเอล ทำให้สหรัฐกลับไปคว่ำบาตรอิหร่านอีก ครั้ง ทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เร็ล ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ หดตัวที่ - 0.5% และเศรษฐกิจไทยชะลอลง 2.3% และเงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้น 2.8% สหรัฐ 4% ซึ่งจะทําให้ Fed และ ธปท. ไม่ลดดอกเบี้ยทั้งปีนี้ 

4.สงครามจริงระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ความน่าจะเป็น 20%

สงครามจริงระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน อาจทำให้อิหร่านปิดช่องแคบเฮอร์มุช ที่เป็นทางเข้าออกอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งไปสู่ระดับ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ อาจทําให้เศรษฐกิจสหรัฐ หดตัวที่ -1.0% และเศรษฐกิจไทยชะลอลงเหลือ 2.0% และเงินเฟ้อสหรัฐเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8.0% เงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้น 2.0% ซึ่งสถานการณ์นี้ทําให้ Fed และ ธปท. ต้องเปลี่ยนมาเป็นขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งปีนี้  

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอ็กซ์ สรุปมุมมองว่า หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น จะทำให้เกิดภาวะ Stagflation นั่นคือ เศรษฐกิจชะลอลง แต่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และธนาคารกลางไม่ลดดอกเบี้ยหรือจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยแม้ว่าเศรษฐกิจจะมีปัญหาก็ตาม

สงครามอิสราเอล อิหร่าน

จับตานายกฯเศรษฐา อุ้มดีเซล ต่อหรือปล่อยตามกลไกตลาด  

ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางสัดส่วน 57%  ความเสี่ยงจากสงครามอิสราเอล-อิหร่าน จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทย กำลังจับตาอย่างใกล้ชิด 

ราคาน้ำมันในประเทศเพิ่งจะขยับขึ้น 40 สตางค์ต่อลิตร ในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮออล์ แต่ดีเซลคงที่ อย่างไรก็ตามราคาดีเซลในบ้านเราทะลุ 30 บาทต่อลิตรมาตั้งแต่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ล่าสุดราคาอยู่ที่ 30.44 บาทต่อลิตร 

ทำให้การประชุม ครม.เมื่อ 18 เมษายน ถูกจับตามองว่า กระทรวงการคลังจะเสนอขยายเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่ออีกหรือไม่ เนื่องจากการลดภาษีสรรพสามิตจะหมดอายุในวันที่19 เมษายน

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ระบุว่า  เพื่อไม่ให้มาตรการลดภาษีที่สิ้นสุดลงกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลมากนัก จึงจะเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยดูแลราคาน้ำมันเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนและไม่ให้ราคาน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงมากจนเกินไป

โดย กบน. จะพิจารณาอัตราการอุดหนุนหรือลดการชดเชยให้เป็นไปตามช่วงเวลาและจังหวะที่เหมาะสม จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศไม่ให้ผันผวนมากจนเกินไปได้

สำหรับทางเลือกในการดูแลราคาน้ำมันไม่ให้แพงจนกระทบประชาชนนั้น ไม่ว่าเลือกทางใดล้วนแต่มีผลกระทบทั้งสิ้น เช่น หากเลือกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตรนั้น ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ 2,000 ล้านบาทต่อเดือน  ส่วนหากจะใช้เงินกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนก็อาจจะทำได้ยากมาก เพราะ ขณะนี้มีสภาพติดลบมากถึง 103,620 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 56,407 ล้านบาท ส่วนบัญชีก๊าซแอลพีจี ติดลบอยู่ 47,213 ล้านบาท 

หากไม่ใช้ 2 มาตรการนี้รัฐบาลต้องนำงบประมาณกลางมาใช้อุดหนุนราคาดีเซล หรือให้กองทุนน้ำมันฯ กู้เงินเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันที่ยังสามารถกู้เงินได้ตามกรอบวงเงิน

ไทยเตรียมความพร้อมปริมาณน้ำมันสำรอง

ปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบราว 3,910 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีกราว 1,637 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูปราว 2,180 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบเฉลี่ย 33 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 14 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 20 วัน ส่วนก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 21 วัน

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ประเมินผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านอย่างใกล้ชิด โดยประเมินว่ากระทบเศรษฐกิจไทยไม่มากภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในวงจำกัดและการหาทางออกของความขัดแย้งของประเทศต่างๆ

ทั้งนี้ ประเมินว่าอิหร่านมีสัดส่วนส่งออกน้ำมันดิบเพียง 1.5% ของการส่งออกน้ำมันดิบในตลาดโลก จึงประเมินว่าหากสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ลุกลามจะไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มสูงขึ้นมากนัก

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT