ข่าวเศรษฐกิจ

27 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง  ‘ลอยตัวค่าเงินบาท’ บทเรียนราคาแพงของไทย

2 ก.ค. 67
27 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง   ‘ลอยตัวค่าเงินบาท’  บทเรียนราคาแพงของไทย

ย้อนกลับไปเมื่อ 27  ปีก่อน วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หนทางสู่เผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม  วิกฤตการณ์ที่รู้จักกันในชื่อ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" นี้ ได้สร้างบาดแผลทางเศรษฐกิจที่ลึกและส่งผลกระทบยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน 

บทความนี้ SPOTLIGHT จะพาคุณย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้ง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ การลงทุนที่เกินตัว ภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ความเปราะบางของสถาบันการเงิน ไปจนถึงการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวิกฤตการณ์

นอกจากนี้ เราจะพาคุณไปสำรวจมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ ทั้งในช่วงที่เกิดวิกฤตและช่วงหลังวิกฤต รวมถึงบทเรียนสำคัญที่ประเทศไทยได้รับจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอยในอนาคต แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่าสองทศวรรษ แต่บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำความเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และการวางรากฐานเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

2 กรกฎาคม 2540 ถือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับพายุเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เมื่อรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และจำต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF วิกฤตการณ์นี้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย

จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์เกิดจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทอย่างรุนแรง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่สมดุลในภาคเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตการณ์ มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ ตัวอย่างเช่น การก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรูหรา โรงแรม และโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด การลงทุนที่มากเกินไปนี้ นำไปสู่ภาวะฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ และส่งผลให้เกิดการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินของไทยในขณะนั้นที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ แม้จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน แต่กลับส่งผลให้ผู้กู้และผู้ให้กู้ประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป เนื่องจากเชื่อมั่นว่าค่าเงินบาทจะไม่ผันผวน ทำให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของระยะเวลาของตราสารทางการเงินในภาคธนาคาร เช่น การกู้ยืมเงินระยะสั้นมาลงทุนในโครงการระยะยาว และปริมาณเงินตราต่างประเทศในงบดุลของภาคเอกชน

นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนวิกฤตการณ์ หรือที่เรียกกันว่า "ยุคฟองสบู่" ยังส่งผลให้ภาคธนาคารขาดความสามารถในการประเมินความเสี่ยง และการกำกับดูแลสินเชื่อก็ขาดความรัดกุม เนื่องจากสถาบันการเงินจำนวนมากปล่อยกู้โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเกิดปัญหาสภาพคล่องจากการถอนเงินลงทุนจากต่างประเทศ สถาบันการเงินหลายแห่งจึงต้องประสบภาวะล้มละลาย หรือถูกสั่งปิดกิจการ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและประชาชนทั่วไป

เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งได้อย่างไร?

ปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยต้องเผชิญกับพายุร้ายทางเศรษฐกิจที่โหมกระหน่ำจนยากจะต้านทาน วิกฤตการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นผลจากปัจจัยหลายประการที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน เสมือนรอยร้าวเล็กๆ ที่ค่อยๆ กัดกร่อนโครงสร้างทางเศรษฐกิจจนในที่สุดก็พังทลายลง  โดยมี  มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

6 ปัจจัยที่พาเศรษฐกิจไทยสู่ วิกฤตต้มยำกุ้ง

วิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 หรือที่เรียกกันว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่เป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งนำไปสู่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

1.การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง : ในช่วงปี 2530-2539 เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับขาดดุลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสูงถึง 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงก่อนวิกฤตการณ์ ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงความไม่สมดุลระหว่างการนำเข้าและส่งออก โดยประเทศไทยนำเข้าสินค้าและบริการมากกว่าส่งออก ส่งผลให้ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศมากขึ้น และเสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุนเมื่อเกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การส่งออกที่หดตัวลงอย่างรุนแรงในปี 2539 จากที่เคยขยายตัวสูงถึง 24.82% ในปีก่อนหน้า ยิ่งตอกย้ำถึงความเปราะบางของภาคการส่งออกของไทย

2.ปัญหาหนี้ต่างประเทศ : การเปิดเสรีทางการเงินในช่วงปี 2532-2537 ทำให้ภาคธุรกิจไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ประเทศไทยประกาศรับพันธะสัญญาข้อที่ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในปี 2533 และอนุญาตให้จัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) ในปี 2535 สถาบันการเงินไทยจำนวนมากจึงกู้ยืมเงินตราต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำมาปล่อยกู้ในประเทศ ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 65% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ณ สิ้นปี 2540 หนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ภาระหนี้จึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

3.การลงทุนเกินตัวและภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ : ในช่วงปี 2530-2539 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างรวดเร็ว ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดภาวะฟองสบู่จากการเก็งกำไรและการลงทุนที่เกินความเป็นจริง มีการสร้างอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และโครงการที่อยู่อาศัยจำนวนมากเกินความต้องการของตลาด เมื่อฟองสบู่แตก ราคาอสังหาริมทรัพย์ร่วงลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดหนี้เสียจำนวนมากในระบบสถาบันการเงิน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

4.ความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถาบันการเงิน : เนื่องจากสถาบันการเงินหลายแห่งปล่อยสินเชื่อโดยขาดการประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบ และขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น การปล่อยกู้ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง หรือการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำ ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สูงถึง 52.3% ของสินเชื่อทั้งหมดในเดือนพฤษภาคม 2542 สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของระบบสถาบันการเงินในขณะนั้น

5.ความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย : การเปิดเสรีทางการเงินโดยที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ และขาดมาตรการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ และเปิดช่องให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาท นอกจากนี้ การขาดความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

6.การโจมตีค่าเงินบาท (currency attack) : เมื่อนักลงทุนต่างชาติมองเห็นสัญญาณความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย พวกเขาจึงเริ่มโจมตีค่าเงินบาทด้วยการเทขายเงินบาทจำนวนมาก ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และนำไปสู่การประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในที่สุด

นโยบายและมาตรการแก้ไขวิกฤตต้มยำกุ้ง: การต่อสู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

วิกฤตการณ์ทางการเงินที่ถาโถมเข้าใส่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2540 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อกอบกู้สถานการณ์และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำ โดยสามารถแบ่งช่วงเวลาการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1: การดับไฟในขณะที่ยังลุกลาม (2 กรกฎาคม – พฤศจิกายน 2540)

ในช่วงแรกของวิกฤต รัฐบาลต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในการปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เพื่อให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาด นอกจากนี้ ยังได้ขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยลงนามในข้อตกลงเงินกู้เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2540 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

มาตรการเร่งด่วนอื่นๆ ในช่วงนี้ ได้แก่ การปิดสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาถึง 58 แห่ง และการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสียและฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบการเงิน นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดภาระทางการเงินของรัฐ

ระยะที่ 2: การเยียวยาและสร้างภูมิคุ้มกัน (พฤศจิกายน 2540 – ธันวาคม 2543)

หลังจากผ่านพ้นช่วงวิกฤต รัฐบาลได้มุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจและเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงิน โดยใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท รวมถึงการฟื้นฟูสถาบันการเงินที่เหลืออยู่ โดยมีเพียง 2 แห่งที่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ ส่วนที่เหลือต้องเข้าสู่กระบวนการชำระบัญชี

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง เช่น การกู้เงินจากญี่ปุ่นตามแผนมิยาซาว่าจำนวน 53,000 ล้านบาท การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 10% เหลือ 7% และการลดภาษีน้ำมัน 23,800 ล้านบาท รวมถึงการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบเพื่อส่งเสริมการส่งออก

มาตรการอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนร่วมกับบรรษัทการเงินระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนในการปรับโครงสร้างหนี้ การเพิ่มทุนให้กับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการสนับสนุนให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ปล่อยกู้เพื่อซื้อบ้านจำนวน 5,000 ล้านบาท

บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ

วิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งใหญ่ที่สั่นสะเทือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2540 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ได้กระตุ้นให้เกิดการทบทวนและปฏิรูปเชิงโครงสร้างครั้งสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอยในอนาคต หนึ่งในบทเรียนสำคัญที่ได้รับคือ ความจำเป็นในการสร้างกลไกป้องกันความเสี่ยงทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและรับมือกับผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบการเงิน

แนวคิดริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative: CMI): ความร่วมมือเพื่อเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค

ในปี พ.ศ. 2542 ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (อาเซียน 10 ประเทศ, จีน, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้) ได้ร่วมกันจัดตั้ง "แนวคิดริเริ่มเชียงใหม่" หรือ CMI ซึ่งเป็นข้อตกลงจัดตั้งกองทุนเพื่อการกู้ยืมทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาขาดดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น CMI เป็นบทเรียนสำคัญที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ปี 2540 ที่หลายประเทศต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยไม่มีทางเลือกอื่น

CMI เริ่มต้นจากการเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในรูปแบบทวิภาคี แต่ต่อมาได้พัฒนาเป็นรูปแบบพหุภาคีในชื่อ “มาตรการริเริ่มเชียงใหม่พหุภาคี” (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) โดยมีวงเงินสูงถึง 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเสริมสภาพคล่องและเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจาก IMF

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน + 3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO): ด่านหน้าในการเฝ้าระวังและเตือนภัย

ในปี พ.ศ. 2559 กลุ่มประเทศอาเซียน+3 ได้จัดตั้ง AMRO ขึ้นอย่างเป็นทางการในฐานะองค์การระหว่างประเทศ ณ ประเทศสิงคโปร์ AMRO มีหน้าที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจ ประเมินแนวโน้ม ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการเงิน และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ประเทศสมาชิก รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของ CMIM การจัดตั้ง AMRO ถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

การริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Markets Initiative: ABMI) ทางเลือกในการระดมทุน

วิกฤตการณ์ปี 2540 ได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางของประเทศที่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศ กลุ่มประเทศอาเซียน+3 จึงได้ริเริ่มโครงการ ABMI ในปี พ.ศ. 2546 เพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรในภูมิภาค โดยเน้นการออกพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของตลาดพันธบัตร ABMI ช่วยเพิ่มช่องทางในการระดมทุนระยะยาวให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในภูมิภาค

หลักเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน

บทเรียนสำคัญอีกประการหนึ่งจากวิกฤตต้มยำกุ้ง คือ การตระหนักถึงคุณค่าของหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด หลักเศรษฐกิจพอเพียงเน้นความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจขณะนี้มองว่า ไทยจะเป็น “ต้มยำกุ้ง” หรือไม่  

SPOTLIGHT ได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของผู้บริหารในวงการเงิน การลงทุน ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน ทั้งคุณชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และน.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ให้มุมมองถึงสถานการณ์การเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 มีโอกาสเกิดขึ้นอีกหรือไม่

โดยผู้บริหารทั้ง 3 ท่าน ได้มีมุมมองในทางเดียวกันว่า โอกาสที่จะเกิดเหตุการณืในอดีตมีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากประเทศไทยได้เรียนรู้จากความเจ็บปวดในอดีตได้มีมีการวางแนวทางการป้องกันและแก้ไข เพื่อไม่ให้อดีตซ้ำรอย

บล.บัวหลวงมองเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ไม่ย้อนรอยอดีต

ในมุมมองของ คุณชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ได้แสดงมุมมองในเรื่องนี้กับ SPOTLIHT ว่า ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินจะให้ความสำคัญกับหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ในปัจจุบันสถาบันการเงินให้ความสำคัญกับ กระแสเงินสดในบริษัทมีเพียงพอในการนำมาชำระหนี้หรือไม่มากกว่า 

ปัจจุบันอัตราหนี้สินต่อทุนของบริษัทไทยส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 1 เท่า ถ้าเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่ประมาณ 6-7 เท่า ภายหลังจากที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท และปัจจุบันบริษัทสามารถระดมเงินทุนได้จากแหล่งอื่น นอกเหนือจากการกู้เงิน อาทิเช่น การออกหุ้นกู้

อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นการเติบโตในอัตราที่ช้าลง เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปัจจุบัน GDP ไทยโตเฉลี่ยประมาณ 3% เมื่อเทียบกับช่วงลอยตัวค่าเงินบาท หรือวิกฤตต้มยำกุ้งที่ 6-7%ภาคธุรกิจเองมีการขยายตลาดมาทั้งในและตลาดต่างประเทศ ไม่ได้ขยายไปตลาดต่างประเทศเหมือนเช่นช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง

กรุงไทยชี้ไทยเสถียรภาพทางการเงินแข็งแกร่ง มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวกับ SPOTLIGHT ว่า “เศรษฐกิจไทยมีโอกาสน้อยมากที่จะซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจาก เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยมีหนี้ต่างประเทศในระดับต่ำ ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็อยู่ในระดับสูง ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดานักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี”

ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน จะเห็นได้ว่า เศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและอาจกลับมาขยายตัวได้ราว 3% โดยเฉลี่ย (อ้างอิงคาดการณ์ของ IMF จนถึงปี 2029) ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดก็มีแนวโน้มกลับมาเกินดุลมากขึ้น ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจก็มีความระมัดระวังในการกู้ยืมมากขึ้นและมีการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยที่ดีขึ้นชัดเจน

ในด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน จะเห็นได้ว่า บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ได้ทำให้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาแนวทางและยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุด ฐานะการเงินของสถาบันการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี มีเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระดับที่เพียงพอตามเกณฑ์สากล และสถาบันการเงินก็มีความระมัดระวังในการปล่อนสินเชื่อ ซึ่งช่วยคุมไม่ให้ NPL สูงเกือบ 50% เหมือนในช่วงวิฤตต้มยำกุ้ง

ประเมินเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ได้ซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่น ความเสี่ยงผลกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความเสี่ยงสงครามการค้า 

รวมถึง ความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศ อย่าง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง และปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรัง ทำให้เรามองว่า บรรดาผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยให้เต็มที่ เพื่อจะได้ทุ่มเวลาให้กับการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท 

ทั้งนี้  Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองว่า ปัจจุบันเครื่องมือในการปิดความเสี่ยงดังกล่าวมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ทางผู้ประกอบการเองก็ควรพัฒนากลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงให้ดียิ่งขึ้น เช่น ในส่วนของการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทางผู้ประกอบการก็สามารถประยุกต์ใช้กลยุทธ์ Option ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงได้

กรุงศรีชี้นโยบายการเงินไทยเน้นดูแลเสถียรภาพ จากบทเรียน วิกฤตต้มยำกุ้ง

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหาร ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “SPOTLIGHT” ได้กล่าวถึงนโยบายการเงินของไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยนโยบายและการเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวภายใต้การจัดการ (Managed Float) ว่า เป็นการมุ่งเน้นการดูแลเสถียรภาพของระบบและเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว ถือเป็นการถอดบทเรียนสำคัญครั้งประวัติศาสตร์จากวิกฤติสถาบันการเงิน โดยกลไกตลาดสามารถสะท้อนพื้นฐานของค่าเงินและเศรษฐกิจได้ดีกว่า แม้อาจได้รับความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำเป็นระยะก็ตาม 

“ ขณะนี้สถานะด้านการต่างประเทศของไทยแข็งแกร่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงปี 40 หากพิจารณาจากทุนสำรองระหว่างประเทศและหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ความแข็งแกร่งดังกล่าวช่วยประคองค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง แต่ในอนาคตอาจต้องระวัง เมื่อเรามีแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงท่ามกลางขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศถดถอย”

แนวโน้มค่าเงินบาทปีนี้มีโอกาสแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

กรุงศรี มองค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มแข็งค่าเล็กน้อย โดยให้น้ำหนักสำคัญไปที่ผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยสูงยาวนานต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น และเอื้อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)สามารถลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์เข้าสู่วัฎจักรขาลง อย่างไรก็ดี ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ขาดความโดดเด่นจะจำกัดการแข็งค่าของเงินบาท รวมถึงความเสี่ยงด้านสงครามการค้าในระยะข้างหน้า

วิกฤตต้มยำกุ้ง ถือเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับประเทศไทย แม้เวลาจะผ่านมาถึง 27  ปีแล้ว ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนั้นยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง การเรียนรู้จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ จึงไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราเข้าใจถึงสาเหตุและป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอย แต่ยังช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต


ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย

advertisement

SPOTLIGHT