จากผลสำรวจของ Adobe ยักษ์ใหญ่แห่งวงการการสร้างสรรค์ ได้เผยว่า ตั้งแต่ปี 2020 ที่ผ่านมา มี ‘ครีเอเตอร์’ หรือผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์บนโลกออนไลน์ เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 303 ล้านคนทั่วโลก ไม่ใช่ครีเอเตอร์ที่เป็นบุคคลเท่านั้น แต่เจ้าของหรือตัวแทนจากหลายแบรนด์ ก็ผันตัวมาเป็นครีเอเตอร์เสียเอง เพื่อให้สื่อสารกับมนุษย์โซเชียลได้อย่างใกล้ชิด รวดเร็ว ด้วยรูปแบบที่สร้างสรรค์และหลากหลายมากขึ้น
โดย TikTok เป็นหนึ่งแพลตฟอร์มที่ทั้งได้รับอานิสงส์จาก Creator Economy และเป็นหนึ่งกลไกที่ขับเคลื่อนให้เกิดครีเตอร์หน้าใหม่มากมาย รวมถึง ‘เอ็ม ขจร เจียรนัยพานิชย์’ CEO เว็บ RAiNMaker ผู้จัดงาน iCreator Coference 2022 และ แพรว-พรรณระพี โกสิยพงษ์ เจ้าของโรงงานตัดเย็บและสกรีน และผู้ก่อตั้งเพจ ทำ – มา – หา – กิน ซึ่งทั้งคู่ ได้ให้สัมภาษณ์กับ TikTok ถึงแนวคิดของการ CEO ที่สวมหมวกครีเอเตอร์ ถึงโอกาสและการต่อยอดธุรกิจบนแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอันนี้
ขจร เจียรนัยพานิชย์ หรือ @Khajochi Blogger ชื่อดังในแวดวง IT หรือที่รู้จักกันในชื่อ แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ ผู้ก่อตั้ง MacThai MangoZero และ RAiNMaker และล่าสุดในฐานะผู้จัดงาน iCreator Coference 2022 มหกรรมรวมครีเอเตอร์แนวหน้าและแพลตฟอร์มชั้นนำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ เผยมุมมองในฐานะของคนไทยที่ก้าวเข้ามาเป็นครีเอเตอร์บน TikTok ตั้งแต่ยุคบุกเบิกว่า
"ในโลกดิจิทัลเต็มไปด้วยโอกาส คนที่มองเห็นและหยิบมาใช้ก่อนจะได้เปรียบกว่า โดยเฉพาะถ้าอยู่ในจุดที่ต้องรับผิดชอบองค์กรและทีมงาน เราต้องเป็นคนที่ก้าวก่อนคนอื่นๆ"
การอยู่ในแวดวงของเทคโนโลยีและสื่อ ทำให้ห็นเทรนด์ เห็นแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอด ทำให้รู้ว่า ถ้ามีกระแสในต่างประเทศแล้ว อีก 1-2 ปี จะมาฮิตในไทยแน่นอน ตนรู้จัก TikTok ตั้งแต่เริ่มดังที่อเมริกา พริบตาเดียวคือเข้าในมาไทย มองว่าใช้เวลาสั้นมากสำหรับการขยายฐานผู้ใช้ทั้งในไทย และทั่วโลก
ในช่วงแรกที่ คุณ ขจร เริ่มทำคอนเทนต์บน TikTok เขาได้ลองทำคอนเทนต์หลากหลายแนว รวมถึงการเต้น จนเมื่อเริ่มทำคอนเทนต์ให้ความรู้ตามความถนัด จึงเกิดการสร้างตัวตนจริงๆ กลายเป็นสิ่งที่ตรงกับความสนใจของคนอื่น ยอดวิวพุ่งขึ้นต่อเนื่อง จากหลักร้อย พัน ไปจนถึงหลักล้าน จึงค้นพบแนวทางการทำคอนเทนต์ของตัวเองว่า ‘คนดูเราเพราะเป็นเรา เพราะความรู้ที่ได้จากเรา ไม่ใช่เป็นคนอื่นหรือทำในสิ่งที่ไม่ใช่เรา’
"การสร้างช่องทางของตัวเรา แบรนด์ หรือองค์กรบนโลกดิจิทัล คนมักจะเข้าใจว่าจะต้องมีจำนวนผู้ใช้เยอะๆ ก่อน แต่สำหรับผม มองว่าคนที่เข้าไปในช่วงการเติบโตของแพลตฟอร์มนั้นได้เปรียบ เพราะช่วงการเติบโตจะพุ่งไวกว่า และที่สำคัญการสร้างช่องให้โตไปพร้อมกับแพลตฟอร์มนั้นใช้งบน้อยกว่าแน่นอน ถึงยุคที่ผู้นำต้องเป็นทั้งภาพลักษณ์และกระบอกเสียงขององค์กรแล้ว ในเมื่อช่องทางของการสื่อสารบน TikTok ง่ายและเอื้ออำนวยขนาดนี้ ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ลองใช้" ซีอีโอของ RAiNMaker กล่าวเสริม
"ทุกคนถามเราว่า มาร์เกตติ้งทีมธุรกิจของเราใครทำให้ ทีมไหนอยู่เบื้องหลัง จะเซอร์ไพรส์มั้ยถ้าบอกว่าไอเดียขยายธุรกิจของเรามาจากคอมเมนต์บน TikTok"
แพรว-พรรณระพี โกสิยพงษ์ หรือ @preaw.panrapee เป็นเจ้าของโรงงานตัดเย็บและสกรีนแห่งหนึ่ง และผู้ก่อตั้ง ทำ – มา – หา – กิน เพื่อเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เน้นรณรงค์ให้ผู้คนมาสนใจเรื่องของ Fast Fashion ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และความตั้งใจที่จะผลักดันอุตสหกรรมเสื้อผ้าให้ไปได้ไกลอย่างยั่งยืน
คุณพรรณระพี เผยว่า คอนเทนต์ช่วงแรกที่ลงในเป็น Video infographic ที่มีอยู่แล้ว เมื่อลองนำมาโพสต์ก็พบว่าคนไม่สนใจ อาจเพราะดูไม่ friendly ดูไม่เข้ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราพบตอนนั้นคือ มีกลุ่มคนให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องของขยะ และความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งตรงกับความตั้งใจของแบรนด์ ที่อยากสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของผู้คนในเรื่องนี้
“คนบน TikTok เค้าดูอะไรที่เป็นจริง จับต้องได้ เลยเริ่มเอาคอนเทนต์ที่เราทำอยู่แล้วเกี่ยวกับเบื้องหลังของแวดวงแฟชั่นมาย่อย พาไปดูเลย โรงงานผลิตเสื้อผ้าเป็นยังไง ขั้นตอนการผลิตเป็นยังไง ซื้อผ้าที่ไหน กระดุมมีแหล่งขายที่ไหน เราอยากให้คนเข้าใจที่มาที่ไปของเสื้อผ้า 1 ตัวที่ต้องผ่านกระบวนการอะไรมากมาย เพราะอยากให้คนเห็นคุณค่า"
หลังจากปรับทิศทางการสร้างคอนเทนต์บน TikTok ผลปรากฏว่า คอนเทนต์ความรู้เชิงลึกกลับมีกลุ่มคนที่ให้ความสนใจอย่างจริงจัง มี engagement ที่ดีกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ คนที่มาคอมเมนต์ส่วนใหญ่ เป็นลูกค้า และคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกับแบรนด์ เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้และตนเอง และส่งผลดีไปยังธุรกิจด้วย จนปัจจุบัน คุณพรรณะพีได้กลายเป็นครีเอเตอร์เบอร์ต้นๆ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าบน TikTok
นอกจากผลลัพธ์ในแง่ผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลดีต่อการขยับขยายธุรกิจ จากเดิมที่ทำธุรกิจแบบ B2B อย่างเดียว ปัจจุบันได้ขยายธุรกิจไปยังแบบ B2C มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดจนขยายไปเป็นสาขาที่ 2 ได้ช่วงที่ผ่านมา
"สำหรับเรา TikTok เป็นเหมือน R&D ที่รวมตัวกับทีมการตลาด ที่ช่วยสะท้อนและฉายภาพให้เราเห็นทิศทางธุรกิจที่กำลังจะเติบโต"
และนี่เป็นเพียง 2 ตัวอย่างจาก TikTok ที่สะท้อนให้เห็นว่า การที่เจ้าของธุรกิจ สามารถสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ และสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าปัจจุบัน รวมถึงว่าที่ลูกค้าในอนาคตนั้น นอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์แข็งแกร่งในแง่การสื่อสารคอนเทนต์เฉพาะทางตามที่แบรนด์เชี่ยวชาญแล้ว ยังสร้างความความน่าเชื่อถือ และจริงใจ เนื่องจากเป็นตัวตนที่สัมผัสได้ด้วยการสื่อสารสองทางผ่านช่องคอมเมนต์ ระหว่างลูกค้ากับครีเอเตอร์