Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ทองคำยังน่าลงอยู่หรือไม่  สรุปความเคลื่อนไหวทองคำครึ่งแรกของปี 2023
โดย : ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ทองคำยังน่าลงอยู่หรือไม่ สรุปความเคลื่อนไหวทองคำครึ่งแรกของปี 2023

26 ส.ค. 66
09:30 น.
|
741
แชร์

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ตลาดการเงินโลกนับว่าต้องเผชิญกับความผันผวนเป็นอย่างมาก โดยเศรษฐกิจสหรัฐที่เคยถูกคาดว่า จะต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในปีนี้ อันนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ภายในช่วงปลายปีนี้ แต่จากการเปิดเผยประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจของเฟด ในเดือนมิ.ย. นั้นระบุถึงตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ระดับ 5.50-5.75% ปรับขึ้นจากระดับ 5.00-5.25% ในเดือนมี.ค.

จากตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว สะท้อนว่าเฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง ภายในปีนี้ นับว่าเป็นการส่งสัญญาณของเฟดที่แข็งกร้าวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจึงมีปัจจัยหนุนต่อการปรับตัวขึ้น นอกจากนั้น เศรษฐกิจจีนที่ถูกคาดการณ์เป็นวงกว้างว่า จะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก หลังมีการกลับมาเปิดประเทศอย่างเป็นทางการในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณการเติบโตที่ชะลอตัวลง นับตั้งแต่ช่วงเข้าไตรมาส 2 ทำให้นักลงทุนมีมุมมองเชิงลบต่อเศรษฐกิจจีนเพิ่มมากขึ้น

มุมมองเชิงลบดังกล่าวยังทำให้เศรษฐกิจสหรัฐได้รับมุมมองเชิงบวกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับธนาคารกลางจีนมีการตอบรับกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินที่คลายตัวลง ซึ่งทำให้ค่าเงินหยวนถูกกดดดันให้ปรับตัวลง ส่งเสริมให้เงินทุนมีการไหลออก จากความต่างของผลตอบแทนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์จึงมีแรงหนุนเพิ่มเติม อนึ่ง ในช่วงครึ่งแรกของปี สถาบันการเงินรายใหญ่หลายแห่งได้มีการปรับลดประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลง แต่ในเวลานั้น ยังคงอยู่เหนือระดับเป้าหมายของทางการจีนที่ 5%

ลงทุนทองคำ

ผลกระทบต่อตลาดทองคำในช่วงครึ่งแรกของปี 2023

ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น นับเป็นปัจจัยลบต่อการถือครองทองคำ จากการมีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับการถือเงินดอลลาร์และพันธบัตรสหรัฐ ขณะที่การเติบโตที่ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน นอกจากจะช่วยหนุนเงินดอลลาร์ มีแนวโน้มทำให้ความต้องการซื้อทองคำจากจีนลดลง ซึ่งจีนเป็นประเทศที่บริโภคทองคำมากที่สุดในโลก ความต้องการซื้อที่หายไป จึงอาจสร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาทองคำโลก (World Gold Council : WGC) ยังคงชี้ว่า ความต้องการซื้อทองคำสุทธิทั้งหมดในไตรมาส 2 อยู่ที่ 1,255.2 ตัน โดยความต้องการดังกล่าวนั้นรวมจากทั้งที่เกิดขึ้นในตลาดทางการและในตลาดที่ไม่เป็นทางการ (OTC and other) ยังคงเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,204.9 ตัน ในไตรมาส 1 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 1,176.6 ตัน ในไตรมาส 2 ของปี 2022 ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นราว 4.17% และ 6.68% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี หากนับเฉพาะการซื้อขายในตลาดทางการ จะพบตัวเลขความต้องการซื้อทองคำสุทธิที่เพียง 920.7 ตัน ลดลงจากไตรมาส 2 ปี 2022 ราว 2% โดยเป็นผลมาจากความต้องการซื้อสุทธิของธนาคารกลางที่ลดลงราว 35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า แต่กระนั้น ความต้องการซื้อสุทธิของทองคำยังคงมีแรงหนุนที่ดีจากการส่วนของการลงทุนและเครื่องประดับ โดยเฉพาะความต้องการซื้อทองคำเพื่อการลงทุนในไตรมาส 2 นั้นเพิ่มขึ้นราว 20% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  

เปรียบเทียบการลงทุนในทองคำ
ตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงิน

ความต้องการลงทุนในทองคำที่เพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงิน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 นั้นตรงกับช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรง จากระดับ 0.00-0.25% ในช่วงสิ้นปี 2021 สู่ระดับ 1.50-1.75% ในเดือนมิ.ย. ปี 2022 และเฟดยังคงส่งสัญญาณต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงในรอบ 4 ทศวรรษ ที่เป็นผลมาจากทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่ส่อแววรุนแรงเช่นนั้นจึงเป็นเหตุให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำนั้นเพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งหากไม่ใช่ธนาคารกลางทีเป็นหน่วยที่ต้องดูแลเสถียนภาพทางด้านเงินเศรษฐกิจและอัตราการแลกเปลี่ยน การซื้อทองคำจึงไม่ใช่ทางเลือกที่น่าสนใจมากนัก ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แม้ว่าในช่วงเดือนมิ.ย. เฟดจะส่งสัญญาณเดินหน้าต่อสู้กลับภาวะเงินเฟ้ออย่างแข็งกร้าวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ แต่หากพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะพบความเข้มงวดที่ลดลง โดยการชะลอความเร่งและอัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งความเข้มวงวดที่ลดลงนี้นับว่าเป็นส่วนสนับสนุนการปรับขึ้นของราคาทองคำในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

นอกจากนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดไม่ปักใจเชื่อว่า เฟดจะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.50-5.75% ได้จริงตามที่ส่งสัญญาณ แม้ว่าภาวะตลาดแรงงานสหรัฐที่แข็งแกร่งจะมีส่วนสนับสนุนการดำเนินการเช่นนั้น แต่หากพิจารณาโดยภาพรวม จะพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความเปราะบางต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องด้วยความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติของภาคส่วนในเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเฉพาะภาคสถาบันการเงิน และภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์  อีกทั้งตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. และมิ.ย. นั้นมีการเพิ่มขึ้นอย่างชะลอตัวลง ทำให้ความจำเป็นที่เฟดจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงนั้นลดลง

โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ นอกจากมีส่วนกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

อนึ่ง แม้ค่าเงินดอลลาร์ถูกนับเป็นสกุลเงินปลอดภัยด้วยเช่นกัน แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐมีมุมมองเชิงลบ ทองคำจะมีความเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่าโดยเปรียบเทียบ ฉะนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐเกิดภาวะถดถอยขึ้น พร้อมการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทองคำจึงมีแนวโน้มได้รับแรงซื้อที่เพิ่มขึ้นมากกว่า เงินดอลลาร์  

ด้วยเหตุนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ราคาทองคำจึงมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้น เนื่องด้วยแนวโน้มการลดความเข้มงวดลงของเฟด ได้มีส่วนสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง หุ้นสามัญเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเทียบกับการถือสินทรัพย์ชนิดอื่น จะพบว่า ทองคำสร้างผลตอบแทนได้สูงสุดเป็นอันดับสาม รองจากผลตอบแทนจากการลงทุนในดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ และการลงทุนในดัชนีตลาดหุ้นชั้นนำ ที่ไม่นับรวมสหรัฐและแคนาดา อย่าง MSCI EAFE ตามลำดับ   

การลงทุนในทองคำ เพิ่มผลตอบแทนและช่วยลดความเสี่ยงในระยะยาว

อย่างไรก็ดี แม้ดัชนีตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ก็มากับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยในรายงานภาพรวมตลาดทองคำในช่วงกลางปีของ WGC นั้นได้มีการแสดงตัวอย่าง กลยุทธ์การลงทุน 3 รูปแบบ ได้แก่

  • รูปแบบที่ 1 ลงทุนในดัชนี S&P 500 ด้วยสัดส่วน 100%
  • รูปแบบที่ 2 กระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในดัชนี S&P 500 และหุ้นในกลุ่มใช้ป้องกันความเสี่ยงได้ อาทิ พลังงาน, การแพทย์ และการโทรคมนาคม เป็นต้น ด้วยสัดส่วน 80% และ 20% ตามลำดับ
  • รูปแบบที่ 3 กระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในดัชนี S&P 500, หุ้นในกลุ่มใช้ป้องกันความเสี่ยงได้ อาทิ พลังงาน, การแพทย์ และการโทรคมนาคม เป็นต้น และทองคำ ด้วยสัดส่วน 80%, 10% และ 10% ตามลำดับ

ผลการลงทุนจากตัวอย่างทั้ง 3 รูปแบบตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา พบว่า การลงทุนในรูปแบบที่ 3 ให้อัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยงสูงที่สุด 57.2%  โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรายปีนั้นสูงสุดที่ 8.4% และมีความเสี่ยงต่ำสุดที่ 14.6% ขณะที่การลงทุนในรูปแบบที่ 1 ให้อัตราผลตอบแทนต่อความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยรายปีต่ำที่สุด 45.3% และ 7.0% ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่สูงสุดจากทั้ง 3 รูปแบบที่ 15.5%  

ดังนั้น ทองคำนั้นยังนับว่า มีความน่าสนใจต่อการลงทุน โดยมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้น ในภาวะที่เฟดเข้าใกล้การจบรอบขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ประกอบกับสามารถใช้กระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาว

 

ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ฐิภา นววัฒนทรัพย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด

แชร์

ทองคำยังน่าลงอยู่หรือไม่  สรุปความเคลื่อนไหวทองคำครึ่งแรกของปี 2023