กลยุทธ์ Netflix ‘ขึ้นราคา - ปิดจ๊อบสายหาร’ มาถูกทาง ดันรายได้บริษัทพุ่งแซงคาดการณ์บริษัท เริ่มขึ้นราคาระลอกใหม่แล้วในสหรัฐ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ตั้งเป้ารายได้ไตรมาสสุดท้ายพุ่งอีก 11%
Netflix กลับมาผงาดอีกครั้งในสมรภูมิตลาดสตรีมมิ่งที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด หลังในปีที่ผ่านมาได้ตัดสินใจ ‘กำจัดสายหาร’ ปิดช่องผู้ใช้ที่แชร์รหัสกับเพื่อน หรือคนในครอบครัว จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มสำหรับการเปิดบัญชีย่อย, เพิ่มรูปแบบแพ็คเกจรายเดือนราคาถูกแบบมีโฆษณา (ราคาถูกกว่าแพ็คเพจปกติถึง 55%) และขยับราคาค่าสมาชิกขึ้น ล้อไปกับผู้เจ้าอื่นในตลาด ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ ส่งผลให้ Netflix มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 8.8 ล้านคนในไตรมาสที่ผ่านมา จากที่ในเดือนเมษายน 2022 เคยประสบปัญหาผู้ใช้งานหายไปกว่า 2 แสนคน
พร้อมได้เดินหน้าขึ้นราคาบริการในแพ็คเกจเบสิก (จาก 9.99 ดอลลาร์/เดือน เป็น 11.99 ดอลลาร์/เดือน) และแพ็คเกจพรีเมียม (จาก 19.99 ดอลลาร์/เดือน เป็น 22.99 ดอลลาร์/เดือน) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา เริ่มแล้วในสหรัฐ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส
กลยุทธ์ปรับราคาของ Netflix ไม่เพียงส่งผลต่อจำนวนผู้ใช้ แต่ยังทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ผ่านมา ดันบริษัทมีรายได้ถึง 8.54 พันล้านดอลลาร์ (3.11 แสนล้านบาท) ทะลุคาดการณ์ของบริษัทที่ 8.52 พันล้านดอลลาร์ โตขึ้น 8%จากปีก่อน ด้านกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ Earnings per share (EPS) ทำไปถึง 3.73 ดอลลาร์ เกินคาดการณ์นักวิเคราะห์ที่ 3.49 ดอลลาร์ และสูงกว่าผลงานปีก่อนที่ 3.10 ดอลลาร์ สะท้อนความสามารถในการเอาชนะใจทั้งผู้ใช้บริการและนักลงทุน โดย Netflix คาดว่าจะสามารถปิดจบไตรมาสสุดท้ายที่ 8.69 พันล้านดอลลาร์ (3.17 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 11%
จากผลงานในไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า Netflix ตัดสินใจได้ถูกต้องในเรื่องกลยุทธ์ราคา อีกทั้งยังปูทางสำหรับช่องทางรายได้ใหม่ๆ คือ การโฆษณาและการแชร์รหัสแบบเสียเงิน โดยนอกจาก Netflix คู่แข่งคนสำคัญอย่าง Disney Plus ได้เพิ่มความเข้มงวดในเรื่องการแชร์รหัสผ่าน และเตรียมเพิ่มแพ็คเกจสมาชิกแบบมีโฆษณาในเดือนพฤศจิกายนนี้
สิ่งนนี้ชี้ให้เห็นว่า การดึงดูดผู้ชมให้มาสมัครแพลตฟอร์มด้วยคอนเทนต์ออริจินัลที่หาชมไม่ได้ในแพลตฟอร์มอื่น ไม่ได้เป็นกลยุทธ์หลักของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอีกต่อไป หากต้องการสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ และสร้างกำไรให้บริษัท
ที่มา : Finance Yahoo, Forbes, CNBC