จบไปแล้วสำหรับงาน ‘Thailand Bitcoin Conference 2024’ หรือ ‘TBC2024’ ที่ได้รวมกูรูชั้นนำของไทย ถกปัญหาภาวะเงินเฟ้อ เงินออมด้อยค่า รวมทั้ง แชร์มุมมองอนาคต ‘บิทคอยน์’ (Bitcoin) อีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของระบบการเงินไทย ภายใต้แนวคิด ‘Bitcoin Fixes This’
SPOTLIGHT ได้สรุปหัวข้อที่น่าสนใจจากงาน TBC2024 มาไว้ในบทความนี้
ดร. ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกา ชํานาญการพิเศษ ประจำกองกฎหมายการเงิน การคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ทิพย์สุดา ถาวรามร อดีตรองเลขาธิการ ก.ล.ต., และสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คริปโตมายด์ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ร่วมให้มุมมองว่า “กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบิตคอยน์ และสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเกิดขึ้นจากกระแสความนิยมของ ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งเป็นการระดมทุนผ่านการออกเหรียญดิจิทัลใหม่ๆ”
เมื่อบิทคอยน์เข้าสู่ตลาดในช่วงที่เป็น Bull Market ครั้งแรก และมีราคาพุ่งสูงขึ้นถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ได้สร้างความสนใจให้กับนักลงทุนชาวไทยเป็นอย่างมาก ส่งผลให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความรู้ และข้อมูลที่โปร่งใสแก่ประชาชนเกี่ยวกับสินทรัพย์ประเภทนี้
การลงทุนในบิทคอยน์ และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ในช่วงแรก ดำเนินการผ่านผู้ให้บริการ หรือตัวกลางโดยส่วนใหญ่ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความจำเป็นในการออกกฎหมาย เพื่อกำกับดูแลกิจกรรมเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม การนำกฎหมายหลักทรัพย์มาใช้กับสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัล ยังไม่มีลักษณะที่ชัดเจนว่า เป็นตราสารหรือไม่? กฎหมายจึงมุ่งเน้นไปที่การกำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนผ่านการออกเหรียญดิจิทัลใหม่ๆ มากกว่า
สำหรับการซื้อขายบิทคอยน์เพื่อการลงทุนส่วนบุคคลนั้น กฎหมายไม่ได้ห้าม แต่ก็ยังไม่มีการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้บิทคอยน์ และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น มีสถานะเป็น ‘สินทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง’ หรือหมายความว่า เมื่อมีการซื้อขายหรือโอนสินทรัพย์เหล่านี้ จะต้องมีการชำระภาษีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำธุรกรรมที่มีมูลค่าสูง
ปัจจุบัน บิทคอยน์ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกมากขึ้น และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับบิทคอยน์ต่อเนื่อง เช่น ‘Bitcoin ETF’ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับ Bitcoin ในฐานะสินทรัพย์ที่น่าลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ได้เริ่มศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในระบบการชำระเงิน
ส่วนอนาคตของบิทคอยน์ และสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยมีความน่าสนใจ โดยภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่วนภาครัฐมีการกำกับดูแล และส่งเสริมให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดการยอมรับบิทคอยน์ในวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ ทั้งสามมองว่า รัฐบาลอาจต้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ปัญหาเงินเฟ้อ’ ทำให้ค่าเงินลดลง และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เงินเฟ้อกลับเป็นตัวการที่ขโมยความมั่งคั่งของผู้คนไปอย่างเงียบๆ แม้ผู้คนจะทำงานหนักแค่ไหน พยายามเก็บออมเงินจำนวนมาก แต่บางครั้ง ก็ดูไม่ถึงฝันสักที
ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า ผู้ก่อตั้ง Chitbeer กล่าวว่า “ในอดีต การออมเงินเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เสมือนการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับอนาคต แต่ปัจจุบัน โครงการต่างๆ อภิมหาโปรเจกต์การเงิน ไม่ได้เกิดจากการออมเงิน กลับเกิดขึ้นจากเงินที่ผลิตมาใหม่ ทำให้การออมกลายเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเงินเฟ้อ ที่เปรียบเสมือนอาชญากรรม มะเร็งร้ายทำลายความมั่นคงของมนุษยชาติ”
ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันนี้ ขณะที่โลกพัฒนา แต่คนถูกผลักดันให้ต้องเป็นหนี้เพิ่ม ประชาชนก็ต้องดิ้นรนตามหาการลงทุนที่มีผลตอบแทนมากกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งผลตอบแทนสูง มักมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูง การลงทุนหลายอย่างจึงเข้าใกล้การพนันขึ้นเรื่อยๆ
ดร.วิชิต ระบุว่า “ระบบการเงินจึงต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง และมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เงินของเราต้องไม่อนุญาตให้ใคร ใช้เงินเพื่อบีบบังคับผู้อื่นได้ ซึ่ง ‘บิทคอยน์’ (Bitcoin) มีศักยภาพในการสร้างองค์กรสายพันธุ์ใหม่ สามารถสร้างเครือข่ายมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 12 ปี และเชื่อว่าในอนาคต บิตคอยน์จะเป็น Generational Wealth ต่อไป”
ส่วน ดร.บิ๊ก ณปภัช ปิยไชยกุล ผู้เชี่ยวชาญจากช่องยูทูบชื่อดัง The BIG Secret และ พิริยะ สัมพันธารักษ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหาร โฉลก ดอท คอม ต่างมีมุมมองความคิดเห็นว่า “สังคมปัจจุบัน ถูกออกแบบมาเพื่อให้เราทำงานหนักขึ้นเรื่อยๆ แม้จะทำมากกว่า 1 งาน แต่ก็ไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินได้อย่างยั่งยืน”
การเกษียณอายุ กลายเป็นความฝันที่ไกลเกินเอื้อม และโรคภัยไข้เจ็บ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่คุกคามความสุขในชีวิต หรือพูดง่ายๆ สังคมปัจจุบันจึงเปรียบเสมือน ‘ทาสในเรือนหนี้’ ด้วยระบบการเงินแบบเดิม ที่มุ่งเน้นการสร้างเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ทำให้เงินเสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็ว และเงินออมสูญเสียมูลค่าไปตามเวลา
สิ่งนี้ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากมีอาชีพเสริม นั่นก็คือ ‘นักลงทุนมือสมัครเล่น’ เพื่อรักษาเงินที่หามาได้ ซึ่ง 99% ของคนในตลาดทุน ‘ขาดทุน’ แต่ก็กระโดดเข้ามาเพื่อหวังจะเป็น 1% ในการเอาตัวรอดได้ เงินที่เก็บมาจึงเป็นการเอาไปให้กับคนที่เก่งกว่าในตลาด
คำถามที่ตามมา คือ “แล้วบิทคอยน์จะช่วยให้เราหลุดพ้นสภาวะถูกกดขี่ในระบบนี้ได้อย่างไร?” ทั้งสองมองว่า “บิทคอยน์ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่มีนโยบายทางการเงินที่แข็งแกร่ง มั่นคงและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เราสามารถคำนวณได้ว่า ต้องมีบิทคอยน์เท่าไหร่ถึงจะเกษียณได้? ยิ่งเวลาผ่าน ไปยิ่งกำไรมากขึ้น บิทคอยน์ได้คืนเวลาที่ถูกขโมยไปให้กลับมา โดยการเดินทางของบิทคอยน์ยังต้องพิสูจน์ต่อไป”
โฉลก สัมพันธารักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและพาร์ทเนอร์ CDC ChalokeDotCom และ พิริยะ สัมพันธารักษ์ ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงในสมัยใหม่ อาจจะมีความเจริญทางด้านจิตใจ รู้จักพอก็จะมีความสุข ซึ่งคำว่าพอของแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่เมื่อ ‘พอ’ แล้วความสุขจะเท่ากัน แต่โลกในปัจจุบันมักจะวนกับเรื่อง ‘เงิน’ ที่เป็นปัญหา เพราะเราไม่รู้ว่า เงินมันเสื่อมค่าไปเท่าไหร่? เมื่อความมั่นใจไม่มี ไม่ว่าเท่าไหร่ก็ไม่มีวันพอ”
แต่เมื่อหลายคนรู้จักการลงทุนในบิทคอยน์ ทำให้มีเวลามากขึ้น ได้ทำงานที่รัก ทำในสิ่งที่ชอบ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ทำงานที่สร้างผลประโยชน์ให้กับผู้คนมากขึ้น และความพอจะเกิดขึ้นได้ถ้าเงินไม่เสื่อมค่า
ทั้งนี้ บิทคอยน์ในอีก 5-10 ปี จะมีการพัฒนาต่อยอดเป็น Layer และจะมีระบบเป็น Trading Account ผู้คนจะเริ่มเข้าใจมากขึ้น ซึ่งภายใน 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเริ่มมีการแบ่งบัญชีของบิทคอยน์ เป็นการออมทรัพย์การลงทุน และการเล่นเก็งกำไร โดยกลยุทธ์จะแบ่งเป็น Mindset (90%), Money Management (9%), และ Trading Strategy (1%) การลงทุนก็จะเห็นกำไรมากขึ้น