การเงิน

จับตาประชุมเฟด-กนง. คาดไม่ลดดอกเบี้ยถึงก.ย. สหรัฐฯ จ้างงานยังสูง ศก.ไทยจ่อโตปลายปี

10 มิ.ย. 67
จับตาประชุมเฟด-กนง. คาดไม่ลดดอกเบี้ยถึงก.ย. สหรัฐฯ จ้างงานยังสูง ศก.ไทยจ่อโตปลายปี

นักวิเคราะห์คาด ธนาคารกลางสหรัฐฯ และไทย จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมในสัปดาห์นี้ เหตุตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ นอกภาคการเกษตรยังสูงกว่าคาด สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตในช่วงปลายปีจากภาคการท่องเที่ยว

ในสัปดาห์นี้ หน่วยงานในธนาคารกลางในหลายประเทศกำลังจะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินและดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งคณะกรรมการตลาดเสรีกลาง (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่กำลังจะจัดการประชุมในวันที่ 11-12 มิถุนายนนี้ และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำลังจะจัดการประชุมในวันที่ 12 มิถุนายน

การประชุมของธนาคารกลางเหล่านี้เป็นที่จับตามองของนักลงทุนและนักธุรกิจ เพราะในสัปดาห์ที่ผ่านมาธนาคารกลางของแคนาดาและสหภาพยุโรปได้เริ่มปรับลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ทำให้ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ มีสิทธิที่จะปรับลดดอกเบี้ยตาม ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่พร้อมกันทั่วโลก ส่งผลดีต่อตลาดหุ้นและการลงทุน

 

คาดเฟดคงดอกเบี้ย ตัวเลขจ้างงานยังสูง มีสิทธิลดปลายปี

สำหรับการประชุม FOMC ในสัปดาห์นี้ นักวิเคราะห์มองว่าเฟด จะยังคงคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ดังเดิม เพราะตัวเลขการจ้างงานเพิ่มนอกภาคการเกษตร หรือ nonfarm payrolls ของเดือนพฤษภาคมที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมายังคงสูงกว่าคาดที่ 272,000 ตำแหน่ง ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง

ตัวเลขการจ้างงานเพิ่มนี้สะท้อนว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงเติบโต เสี่ยงทำให้ภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต เพราะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนยังอยู่ที่ 3.4% สูงกว่าเป้าที่อยู่ที่ 2% อยู่พอสมควร ทำให้เฟดอาจมองว่าธนาคารกลางต้องรักษาระดับดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงอยู่เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ

ในปีนี้ นักวิเคราะห์มองว่า เฟดมีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยในปลายปี เร็วที่สุดในเดือนกันยายน โดยจากความเห็นของนักลงทุนใน Fedwatch Tool ในเดือนกันยายน มีโอกาสที่เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยประมาณ 50.8% ลดลงจาก 68.7% ก่อนที่สำนักงานสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) กระทรวงแรงงาน สหรัฐฯ จะออกมาประกาศตัวเลขจ้างงานที่สูงกว่าคาดดังกล่าวในวันศุกร์

นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้ นักลงทุนยังควรจับตามองตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สำหรับเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นอัตราชี้วัดเงินเฟ้อที่กำลังจะออกมาในวันพุธก่อนที่เฟดจะมีการประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย เพราะถ้าหากตัวเลขนี้ออกมาสูงกว่าคาด ก็มีโอกาสที่เฟดจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้

จากการคาดการณ์ของเฟดสาขาคลีฟแลนด์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังระดับอยู่ที่ 3.4% หรือระดับเดียวกับในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือนก่อนหน้า น้อยกว่า 0.3% จากรายงานในเดือนเมษายน ขณะที่ Core CPI ซึ่งติดตามราคาสินค้าทั้งหมด จะสูงขึ้น 3.6% จากปีก่อนหน้า และ 0.3% จากเดือนก่อนหน้า

แม้ตัวเลขรายงาน CPI ในเดือนพฤษภาคมจะไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเฟดในการประชุมเดือนมิถุนายน ตัวเลขนี้ย่อมส่งผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต และการตัดสินใจของเฟดในการประชุมครั้งต่อไป ซึ่งกำหนดไว้ที่วันที่ 30-31 กรกฎาคม

คาดกนง. ไม่ขึ้นดอกเบี้ยถึงปลายปี รอดูสถานการณ์และท่าทีเฟด

ในส่วนของกนง. ที่กำลังจะจัดการประชุมในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง. จะจะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% และมีแนวโน้มส่งสัญญาณไม่แตกต่างจากผลการประชุมรอบที่แล้วเพื่อรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน (policy space) ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า และรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ

นอกจากนี้ ธปท. ยังมองว่า ในสภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบัน นโยบายการเงินมีประสิทธิผลที่จำกัดในการแก้ไขปัญหา เพราะเศรษฐกิจไทยมีเชิงโครงสร้าง เช่น การสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน การเข้าสู่สังคมสูงอายุ และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องใช้นโยบายการคลังและนโยบายด้านสังคมอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหา

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปีโดยเชื่อว่า กนง. คงจะรอให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก่อน และรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจปลายปี ซึ่งคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การเบิกจ่ายของภาครัฐที่มากขึ้น และฟื้นตัวของภาคการส่งออก ที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวตามการค้าโลก 

ส่วนทางด้านของ ASL Securities มองว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในปีนี้ เพราะเงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายของกนง. ที่ 1-3% (ล่าสุดอยู่ที่ 1.54% ในพ.ค.) ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มขยับขึ้นตามทิศทางราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและราคาพลังงานที่จะขยับตามการขยายเพดานราคาน้ำมันดีเซล และในอนาคตจะมีแรงกดดันค่าเงินบาทจากแนวโน้มการคงดอกเบี้ยสูงยาวนานกว่าคาดของเฟด



 

 

อ้างอิง: Investopedia, ASL Securities

advertisement

SPOTLIGHT