ไลฟ์สไตล์

เงินเดือนไม่ใช่ความลับ กฏใหม่สหรัฐฯ ประกาศหางาน 'ต้อง' ระบุค่าจ้าง

30 ม.ค. 66
เงินเดือนไม่ใช่ความลับ กฏใหม่สหรัฐฯ ประกาศหางาน 'ต้อง' ระบุค่าจ้าง

เรามักจะได้รับการกำชับจากฝ่าย HR หรือหัวหน้างานว่า “เงินเดือนเป็นความลับ” ที่ไม่ควรให้เพื่อร่วมงานล่วงรู้เด็ดขาด เพราะถ้าหากรู้ว่าเราได้น้อยกว่าเพื่อนร่วมงานก็จะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ จนไม่มีกำลังใจในทำงาน หรือถ้าได้มากกว่าเพื่อนร่วมงานก็อาจทำให้เราเป็นเป้าของความอิจฉา 

แต่สำหรับรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ ธรรมเนียม “เงินเดือนคือความลับ” อาจกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว เพราะหลายเมืองในสหรัฐฯได้ออกกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องระบุเงินเดือน ตั้งแต่ตอนประกาศรับสมัครงานหรือในระหว่างขั้นตอนรับสมัครงาน เพื่อเพิ่มความโปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ

ในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา 3 รัฐในสหรัฐฯ คือ แคลิฟอร์เนีย, วอชิงตัน และโรดไอแลนด์ ได้เริ่มบังคับใช้กฎหมายชุดใหม่ที่เรียกรวมๆ ว่า “Salary Transparency Law” หรือ “กฎหมายความโปร่งใสด้านเงินเดือน” โดยได้ออกมาสมทบกับหลายๆ รัฐและเมืองที่ได้ออกกฎหมายในลักษณะนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2021 เช่น 

  1. รัฐโคโลราโด แมรีแลนด์  และคอนเนคติกัต 
  2. เมืองซินซินนาติ และโตเลโด รัฐโอไฮโอ 
  3. เทศมณฑลเวสต์เชสเตอร์ และเมืองอีทากา รัฐนิวยอร์ก 
  4. เมืองเจอร์ซีซิตี้ รัฐนิวเจอร์ซี

โดยรัฐ เขตเทศทณฑล และเมืองทั้งหมดในรายชื่อนี้ล้วนแต่มีกฎหมายบังคับให้นายจ้างเปิดเผยช่วงเงินเดือนอย่างชัดเจนในประกาศรับสมัครงาน หรือต้องเปิดเผยช่วงเงินเดือนในระหว่างสัมภาษณ์งานหากผู้สมัครถาม เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างเสียเปรียบในขั้นตอนการต่อรองเงินเดือน รวมไปถึงลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เพราะในอดีตลูกจ้างบางกลุ่ม เช่น ลูกจ้างผู้หญิง และลูกจ้างผิวดำ มักถูกกดรายได้ให้ต่ำจากเลือกปฏิบัติทางเพศ และทางเชื้อชาติที่ยังคงเป็นปัญหาในสหรัฐฯ และหลายๆ ที่ทั่วโลก 

istock-1399523780

เพราะฉะนั้น การประกาศช่วงรายได้ที่ชัดเจนจะทำให้ผู้สมัครงานทุกคนรู้เป็นพื้นฐานก่อนว่าหากตัดสินใจสมัครไปแล้ว เงินเดือนที่เรียกจากบริษัทได้จะอยู่ในช่วงใด และมั่นใจได้ว่าจะได้รับโอกาสให้ต่อรองเงินเดือนในช่วงเดียวกับผู้สมัครคนอื่น ไม่ว่าตัวผู้สมัครจะมีเพศ หรือเชื้อชาติใดก็ตาม

 

Gen Z เน้นความโปร่งใส ถึง 85% จะไม่สมัครงานกับบริษัทที่ไม่เปิดเผยค่าจ้าง

ความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมการทำงานนี้สะท้อนค่านิยมที่เปลี่ยนไปของประชากรวัยทำงาน ที่มองว่าการรู้ช่วงเงินเดือนของบริษัทและเพื่อนร่วมงาน เพื่อต่อรองค่าจ้างที่เป็นธรรมให้ตัวเองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และมองว่าวัฒนธรรมการปกปิดเงินเดือนเป็นความลับเป็นแผนของบริษัทที่ต้องการกดเงินเดือนพนักงานให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะต่ำได้ เพราะถ้าหากพนักงานไม่รู้ช่วงเงินเดือน ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง หรือไม่มีประสบการณ์ในการต่อรองค่าแรง พนักงานคนนั้นจะไม่มีข้อมูลมากพอที่จะใช้ต่อรองเงินเดือนที่เหมาะสมให้กับตัวเองได้

โดยจากการสำรวจความเห็นของนักศึกษาจบใหม่ หรือนักศึกษาที่กำลังจะจบในปีนี้ของ Adobe ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 85% กล่าวว่าพวกเขาจะไม่สมัครงานกับบริษัทที่ไม่เปิดเผยช่วงเงินเดือนในประกาศสมัครงาน เพราะถือว่าจงใจปกปิดข้อมูลที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของพนักงาน และไม่มีความโปร่งใส รวมไปถึงไม่มีความจริงใจที่จะให้รายได้ที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับความสามารถแก่พนักงานทุกคน

istock-1368965716

Vaishali Sabhahit หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการพนักงานประสิทธิภาพสูงของ Adobe กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่ หรือ Gen Z เติบโตขึ้นมาในโลกยุคของอินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย ทำให้การแชร์ข้อมูลส่วนตัวเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันกลายเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติและทำได้ง่ายกว่าในยุคเก่า

นอกจากนี้ เนื่องจากคน Gen Z โตมาในยุคที่มีพนักงานถูกเลิกจ้าง หรือลดเงินเดือนอย่างไม่เป็นธรรมจำนวนมากในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เด็กรุ่นใหม่จึงเห็นความสำคัญในการสร้าง “อำนาจในการต่อรอง” ซึ่งวิธิหนึ่งที่จะทำให้มีการให้ค่าจ้างที่เป็นธรรมได้คือ “การบังคับให้นายจ้างตั้งเงินเดือนแข่งกันเอง” เพราะถ้าหากเสนอเงินเดือนต่ำกว่าบริษัทอื่นสำหรับตำแหน่งงานที่มีความรับผิดชอบคล้ายกัน แน่นอนว่าย่อมเสียโอกาสที่จะได้คนมีความสามารถสูงมาทำงานด้วย เพราะคนเหล่านั้นจะรู้ทันทีว่าตัวเองมีทางเลือกที่ดีกว่า

โดยจากการสำรวจเดียวกัน ทีมงาน Adobe ยังพบอีกว่า Gen Z จะไม่เลือกทำงานกับบริษัทที่ให้ค่าจ่างไม่เป็นธรรม ไม่ให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและทำงาน และไม่มีสวัสดิการสังคมที่น่าดึงดูดใจมากพอ สะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมากกับสิทธิในการใช้ชีวิตและทำงานของตัวเอง และไม่มองว่าตัวเองมีสถานะรองในตลาดแรงงาน และต้องก้มหัวยอมรับค่าตอบแทนที่นายจ้างเสนอให้เสมอไป

เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานที่น่าจะทำให้ฝ่ายบุคคลยุคเก่าในพื้นที่ที่มีกฎหมายนี้ปวดหัวกันไม่น้อย เพราะการแข่งขันเพื่อดึงตัวพนักงานความสามารถสูงน่าจะเข้มข้นขึ้นอีกหลายเท่าตัว รวมไปถึงอาจทำให้บริษัทต้องเสียเงินจ่ายค่าตอบแทนมากขึ้นเพื่อดึงพนักงานใหม่ และรักษาพนักงานเก่าให้อยู่ต่อ

อย่างไรก็ตาม เมื่อแรงงานยุคใหม่มีมุมมองเกี่ยวกับทำงานที่เปลี่ยนไปแล้ว บริษัทต่างๆ ย่อมต้องปรับตัวหากต้องการคนยุคใหม่ที่มีความสามารถเข้ามาเป็นกำลังให้กับธุรกิจ ซึ่งการปรับตัวนี้อาจไม่ได้มีแค่การเปิดเผยช่วงเงินเดือนให้มีความโปร่งใสแก่ผู้สมัครงานทุกคนเท่านั้น แต่รวมไปถึงการทำงานแบบ hybrid หรือให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือภายนอกออฟฟิศในบางวัน ที่ชาว Gen Z ถึง 40% บอกว่าเป็นสภาพการทำงานที่พวกเขาต้องการด้วย

 

ที่มา: CNBC, Business Insider

 

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT