ไลฟ์สไตล์

กรีซสวนกระแส Work-Life Balance ผ่านกม.เพิ่มชม.ทำงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ

11 ก.ค. 67
กรีซสวนกระแส Work-Life Balance ผ่านกม.เพิ่มชม.ทำงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลกรีซได้มีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานใหม่ที่กำหนดให้เพิ่มชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ โดยมีผลบังคับใช้กับบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจแบบให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ยกเว้นธุรกิจบริการด้านอาหารและการท่องเที่ยว

กฎหมายดังกล่าวทำให้ชั่วโมงทำงานของกรีซจากเดิมอยู่ที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มเป็น 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้แรงงานของบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจแบบให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง จำเป็นต้องเลือกระหว่างการทำงานเพิ่ม 2 ชั่วโมงต่อวัน หรือการเข้ากะเพิ่ม 8 ชั่วโมง

แต่การเลือกในกรณีหลังจะทำให้วันทำงานของแรงงานขยายออกไปเป็น 6 วันต่อสัปดาห์ หลายคนจึงมองว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตส่วนตัวของแรงงาน นอกจากนี้ ยังเป็นการสวนกระแสประเทศอื่น ๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่พยายามลดชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบ Work-Life Balance

ทำไมกรีซต้องเพิ่มชั่วโมงทำงาน?

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Kyriakos Mitsotakis ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่เน้นการส่งเสริมธุรกิจ (Pro-Business) โดยนายกรัฐมนตรีของกรีซพยายามโต้แย้งว่า กฎหมายแรงงานใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานล่วงเวลาอย่างเหมาะสม และช่วยจัดการกับปัญหาแรงงานนอกระบบ โดยเขาเน้นย้ำว่ากฎหมายนี้ “เป็นผลดีต่อแรงงาน” (Worker-Friendly) และ “มุ่งเน้นการเติบโตอย่างลึกซึ้ง” (Deeply Growth-Orientated)

ในขณะที่ Niki Kerameus รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมของกรีซ ชี้แจงว่า กฎหมายแรงงานใหม่นี้ไม่ได้กระทบกับชั่วโมงทำงานเดิมของกรีซที่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เป็น “มาตรการพิเศษ” สำหรับบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจแบบให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงเพิ่มโอกาสให้แรงงานได้รับค่าจ้างมากขึ้นอีกด้วย

รัฐมนตรีของกรีซยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปมีข้อกำหนดที่คล้ายกันกับกรีซในเรื่องวันทำงานเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ ดังนั้น กฎหมายแรงงานใหม่ของรัฐบาลจึงไม่ได้ทำอะไรที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ เลย

ทั้งนี้ ยังมีอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจจากฝ่ายที่สนับสนุนกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมองว่าการเพิ่มชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์เป็นความพยายามของรัฐบาลในการกระตุ้นการผลิตและเพิ่มการจ้างงานในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง ภายหลังวิกฤตหนี้สาธารณะที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2009 และสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในปี 2018 แต่ผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็ยังคงหลงเหลือจนถึงปัจจุบัน

กรีซมีชั่วโมงทำงานยาวนานที่สุดในยุโรป

Giorgos Katsambekis อาจารย์ด้านการเมืองยุโรปและการเมืองระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยลัฟบะระ (Loughborough University) ประเทศอังกฤษ มองว่า การเพิ่มชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ของกรีซเป็นความถดถอยครั้งใหญ่ โดยเขาให้เหตุผลว่าในช่วงเวลาปกติ แรงงานกรีซมีชั่วโมงทำงานที่ยาวนานที่สุดในสหภาพยุโรปอยู่แล้ว

มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับ John O’Brennan ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของสหภาพยุโรป มหาวิทยาลัยเมย์นูธ (Maynooth University) ประเทศไอร์แลนด์ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม X โดยระบุว่า “ชาวกรีกมีชั่วโมงต่อสัปดาห์ยาวนานที่สุดในยุโรปแล้ว และตอนนี้พวกเขากำลังถูกบังคับให้ทำงานในวันที่ 6 เพราะการตัดสินใจของรัฐบาล มันช่างเป็นเรื่องไร้สาระ และขัดแย้งกับประเทศที่เจริญแล้วส่วนใหญ่ ซึ่งพยายามลดชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์”

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี ได้รายงานข้อมูลจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ซึ่งระบุว่าแรงงานชาวกรีกมีชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์ยาวนานกว่าแรงงานในสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป โดยในปี 2022 แรงงานชาวกรีกทำงานโดยเฉลี่ย 1,886 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของแรงงานชาวอเมริกันที่ 1,811 ชั่วโมง และค่าเฉลี่ยของแรงงานในสหภาพยุโรปที่ 1,571 ชั่วโมง

ปฏิกิริยาของแรงงานชาวกรีก

เมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว แรงงานชาวกรีกส่วนหนึ่งได้ออกมาประท้วงผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและในพื้นที่สาธารณะ โดยส่วนหนึ่ง ระบุว่า แรงงานอาจต้องทำงานหนักเกินไป บางส่วนอาจได้รับค่าตอบแทนที่ไม่ยุติธรรม และส่วนหนึ่งแสดงความกังวลว่าอาจมีการขยายข้อบังคับของกฎหมายนี้ไปยังธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในอนาคต แม้ว่าในช่วงแรกจะบังคับใช้เฉพาะบริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจแบบให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อกระตุ้นการผลิตและเพิ่มการจ้างงานในประเทศ โดยมีผลลัพธ์เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นอาจเป็นเพียงประโยชน์ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ แต่อาจส่งผลเสียระยะยาว เช่น สุขภาพของแรงงานที่ย่ำแย่ ไปจนถึงการย้ายถิ่นฐานของแรงงานออกนอกประเทศ เพื่อหลีกหนีจากกฎหมายเพิ่มชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์

แรงงานจำเป็นต้องมี Work-Life Balance ?

แนวทางการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงเวลานี้ เพราะหลายคนหันมาให้ความสำคัญกับ Work-Life Balance หรือความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมากขึ้น ในปี 2023 Royal Society of Biology ประเทศอังกฤษ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ หลังจากทดลองให้พนักงานใน 61 บริษัท ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 6 เดือน

โดยผลลัพธ์พบว่าแรงงานมากกว่า 70% บอกว่าการทำงานรูปแบบนี้ช่วยให้ภาวะหมดไฟลดลง และบริษัท 18 แห่งที่เข้าร่วมการทดสอบบอกว่าจะใช้นโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นการถาวร ในขณะที่อีก 56 แห่ง บอกว่าจะขยายเวลาการทำงานแบบนี้ต่อไปอีก

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์จะอยู่ที่เท่าไร หลักการสำคัญคือแรงงานควรได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม สอดคล้องกับความสามารถ และมีความปลอดภัยในการทำงานทั้งในด้านร่างกาย รวมถึงจิตใจอีกด้วย

ที่มา : CNBC, CNBCRoyal Society of Biology

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT