10 ข้อต้องรู้ รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการแล้ววันนี้
1.เส้นทางแบ่งเป็น 2 ช่วง บางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน ทั้งหมด 13 สถานี
ช่วง 1 สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร รวม 9 สถานี
ช่วง 2 สายสีแดงอ่อน บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร รวม 4 สถานี
2.เวลาให้บริการตั้งแต่ 5.30 – 24.00 น.
เส้นทาง บางซื่อ-รังสิต :
- เที่ยวแรกจากบางซื่อ เริ่มเดินรถเวลา 05.30 น.
- เที่ยวแรกจากรังสิต เริ่มเดินรถเวลา 05.30 น.
- เที่ยวสุดท้ายจากบางซื่อ เวลา 24.00 น.
- เที่ยวสุดท้ายจากรังสิต เวลา 24.00 น.
เส้นทาง บางซื่อ-ตลิ่งชัน :
- เที่ยวแรกจากบางซื่อ เริ่มเดินรถเวลา 05.35 น.
- เที่ยวแรกจากตลิ่งชัน เริ่มเดินรถเวลา 05.35 น.
- เที่ยวสุดท้ายจากบางซื่อ เวลา 24.00 น.
- เที่ยวสุดท้ายจากรังสิต เวลา 24.00 น.
3.ราคาค่าโดยสาร 12 – 42 บาท
ราคาเริ่มต้นที่ 12 บาท สูงสุดที่ 42 บาท
เช่น หากนั่งจากตลิ่งชัน ไป รังสิต ราคาสูงสุดคือ 42 บาท
อัตราค่าโดยสารคิดตามระยะทางกิโลเมตรละ 1.50บาท
4.รถไฟใช้ความเร็วสูงสุด 120 ก.ม./ชั่วโมง วิ่งจากบางซื่อไปรังสิตใช้เวลา 25 นาที
บางซื่อ-รังสิต : ระยะทาง 26 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 25 นาที
บางซื่อ-ตลิ่งชัน : ระยะทาง 15 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที
สำหรับตัวรถไฟที่ใช้วิ่งบนสายสีแดงนี้ เป็นรถไฟยี่ห้อ HITACHI จากญี่ปุ่น
5.วิ่งให้บริการ วันละกี่เที่ยว ?
สายบางซื่อ – รังสิต จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า – เย็น 07.00 – 09.30 น. และ 17.00 – 19.30 น. จะใช้ความถี่ 12 นาที
ช่วงนอกเวลาเร่งด่วน จะใช้ความถี่ 20 นาที
ความสามารถในการเดินรถ รวม 138 เที่ยว/วัน
ส่วนสายบางซื่อ – ตลิ่งชัน จะใช้ความถี่ 20 นาทีตลอดระยะเวลาการให้บริการ
ความสามารถในการเดินรถ รวม 112 เที่ยว/วัน
6.ทำไมต้องมีรถไฟฟ้าสายสีแดง ?
โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ผู้ที่รับผิดชอบของโครงการนี้ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนแม่บทระบบรางของประเทศไทย เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการรถไฟฟ้าสู่ย่านชานเมืองให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น แก้ปัญหาความล่าช้าของระบบรถไฟเดิม รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาการจราจรจากชานเมืองเข้าสู่ตัวเมืองด้วย
7.กว่าจะเปิดให้บริการได้ใช้เวลานานมากกว่า 14 ปี
โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 และ สามารถทดลองเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 รวมระยะเวลาจากวันที่ ครม.อนุมัติ ถึงวันที่ทดลองเปิดให้บริการ มากกว่า 14 ปี ส่วนถ้านับจากวันที่เริ่มก่อสร้างถึงวันที่เปิดทดลองให้บริการ ใช้เวลา เกือบ 9 ปี
8.ขนาดความกว้างรางรถไฟฟ้า 1 เมตร ต่างจากรถไฟฟ้าสีอื่น อยู่ที่ 1.435 เมตร
รางรถไฟขนาดความกว้าง 1 เมตร รฟท.ต้องการให้รถไฟชานเมืองและรถไฟทางไกลซึ่งใช้ราง 1 เมตร สามารถใช้รางร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ เพราะในอนาคตจะมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงออกไปชานเมืองไกลขึ้นจากเดิมอีก โดยระบบรางของรถไฟฟ้าสายสีแดงได้ยกระดับขึ้น แต่ได้ทำคู่ขนานไปกับเส้นรางรถไฟแบบเก่าเดิมทำให้ระบบเดิมก็ยังวิ่งขนส่งสินค้าได้
9.สายสีแดงในอนาคตจะขยายออกไปอีก จากปัจจุบันถือเป็นระยะแรก
สายสีแดงเข้ม บางซื่อ-รังสิต จะขยายออกไปอีก 4 สถานี จนถึง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ส่วนสีแดงอ่อน บางซื่อ- ตลิ่งชัน จะขยายออกไปอีก 6 สถานี ถึง ศาลายา และ จะมีตลิ่งชัน ไป ศิริราช อีก 3 สถานี และยังมี บางซื่อ-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง อีกด้วย
ขณะที่สถานีกลางบางซื่อ จะเป็นจุดเชื่อมต่อของการขนส่งระบบรางแบบครบวงจรในอนาคต ทั้งรถไฟฟ้าชานเมือง รถไฟทางไกล รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยรถไฟฟ้าสายสีแดง สามารถเชื่อต่อ กับ MRT สายสีน้ำเงินในปัจจุบันได้
10.มูลค่าการลงทุน เมกะโปรเจ็ค
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ รังสิต และ บางซื่อตลิ่งชัน นี้ใช้เงินลงทุนไป จำนวน 108,833 ล้านบาท
แต่ในอนาคตรถไฟฟ้าสายสีแดงจะมีการต่อขยายออกไป อีก 4 โครงการ มูลค่าการลงทุนส่วนนี้ 79,322 ล้านบาท ส่งผลให้วงเงินลงทุนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงทั้งระบบ หรือทั้ง 2 ระยะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 188,155 ล้านบาท
(อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 26 ต.ค. 2564 รฟท.มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน ครั้งที่ 1 โครงการศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ครั้งที่ 1)
ที่มาข้อมูล รวบรวมจากการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม
https://www.bangkokbiznews.com/news/968896
http://www.bangsue-rangsitredline.com/
https://mgronline.com/business/detail/9640000101666