อินไซต์เศรษฐกิจ

ฝีดาษลิง! สรุป 8 ข้อมูลสำคัญ ไม่ประมาท แต่ไม่ตระหนก

27 พ.ค. 65
ฝีดาษลิง! สรุป 8 ข้อมูลสำคัญ ไม่ประมาท แต่ไม่ตระหนก

โควิด 19 ยังไม่ทันจางหาย โรคระบาดใหม่อย่าง ฝีดาษลิง (Monkey Pox) ก็เริ่มสร้างความกังวลให้กับโลกอีกครั้ง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้เพิ่งจะฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิดได้ไม่นาน กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT ถอดบทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่อธิบายให้ฟังว่าฝีดาษลิง  (Monkey Pox) มีที่มาอย่างไร  ความรุนแรงของโรค รวมไปถึงสถานกาณ์ในประเทศไทยเป็นอย่างไร  เราสรุปข้อมูลที่ควรรู้เกี่ยวกับฝีดาษลิงมาให้ 8 ข้อดังนี้

 

1. ที่มาโรคฝีดาษลิง

ฝีดาษลิง  หรือคุณหมอยง ขอเรียกว่า ฝีดาษวานรในคน   เพื่อให้เกีรติกับ ศาตรารย์นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ  ท่านเป็นผู้ตั้งชื่อนี้ไว้ ดังนั้นสามารถเรียกได้หลายแบบ ฝีดาษลิง ถูกค้นพบครั้งแรกในลิง จากห้องปฏิบัติการ เลยเป็นที่มาของการตั้งชื่อว่า  Monkey Pox  

 

แม้จะพบในลิงครั้งแรก แต่จากหลักฐานการติดเชื้อจากลิงสู่คนน้อยมากๆ  โดยเมื่อ 20 ปีก่อน เคยเกิดการระบาดของฝีดาษลิง  ไปสู่คน  แต่เป็นเพราะคนไปติดมาจากสัตว์ตระกูลฟันแทะที่เป็นโรคนี้  เช่นในกรณีที่เคยระบาดในสหรัฐอเมริกา พบฝีดาษลิงในหนู ไจแอนท์ แกมเบรียน (giant gambian rat) ซึ่งถูกนำเข้าไปเป็นสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ ต่อมาร้านขายสัตว์เลี้ยงนำ ไจแอนท์ แกมเบรียน ไปเลี้ยงใกล้กับสัตว์เลี้ยงพื้นเมือง ที่ชื่อ แพรรีด็อก (Prairie dog) ซึ่งเป็นสัตว์ตระกูลหนู เมื่อคนนำ แพรรีด็อก มาเลี้ยงจึงเกิดการติดเชื้อฝีดาษลิงขึ้นในตอนนั้น โดยพบผู้ติดเชื้อประมาณ 30 คนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว  

 แพรรีด็อก
แพรรีด็อก


หลังจากนั้นฝีดาษลิง ก็พบผู้ป่วยอยู่เรื่อยๆทุกปี แต่พบเป็นลักษณะรายบุคคล ไม่ใช่การะบาดในวงกว้าง เป็นโรคที่มักพบในฝี่งแอฟฟริกา และเป็นโรคประจำถิ่นของแอฟริกา   

 

2. สถานการณ์ฝีดาษลิงในปัจจุบัน

ตั้งแต่รายงานพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2565 ถึงปัจจุบัน ประมาณกว่า 20 วัน พบการระบาดของฝีดาษลิงแล้วใน 22 ประเทศผู้ป่วยทั้งหมด 301 ราย พบมากที่สุดในยุโรป เชื่อว่า จุดศูนย์กลางครั้งแรก พบที่เปน และระบาดไปที่อังกฤษ ในรายงานพบผู้ป่วย 71 ราย โดยสถานกาณ์ฝีดาษลิงยังมีแนวโน้มที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก  ที่น่าสังเกตุคือ ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดเป็นผู้หญิงเพียงแค่ 1 รายเท่านั้น ที่เหลือเป็นผู้ชาย

 

3. สายพันธุ์ฝีดาษลิงที่พบเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก  

สายพันธุ์ของฝีดาษลิงที่มักพบในแอฟริกามี 2 กลุ่มหลัก คือแอฟฟริกากลาง พบมากในคองโกและแอฟริกาตะวันตก  พบมากในกาน่า  โดยสายพันธุ์ คองโก รุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ กาน่า   จากหลักฐานที่ผ่านมาพบว่า กรณีเกิดระบาดของฝีดาษลิงในสหรัฐฯเป็นสายพันธุ์ตะวันตก หรือกาน่า  ส่วนการระบาดในครั้งนี้ก็เป็นสายพันธุ์ตะวันตกเช่นเดียวกัน

 

4. อาการและความรุนแรงของฝีดาษลิง

การระบาดของฝีดาษลิงในครั้งนี้ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต  อาการของโรคฝีดาษลิงที่เด่นชัด คือ ตุ่ม ฝีหนอง ที่มือ ในอดีตที่คนเอาสัตว์ฟันแทะมาเลี้ยงพอเอาหนูหรือสัตว์มาเกาะที่คอ ก็จะเป็นตุ่มหนองคล้ายฝีที่คอ  มันแตกต่างจากโรคฝีดาษคน หรือ ไข้ทรพิษ ที่มีตุ่มขึ้นที่ลำตัว   ที่น่าสนใจคือ การรบาดในครั้งนี้พบผู้ป่วยมีตุ่มขึ้นที่มือ และยังพบผู้ป่วยตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ  และทวารหนักด้วย ทำให้ทางการหลายประเทศเกิดข้อสงสัยว่า หรือมันจะสามารถระบาดได้ผ่านทางเพศสัมพันธุ์?  

 

ฝีดาษลิง
ภาพจาก AFP มือของผู้ถูกตรวจสอบโรค ฝีดาษลิง ใน คองโก 

 

5. เป็นได้แค่ครั้งเดียวในชีวิต และหายได้เองใน 2-4 สัปดาห์

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง อธิบายต่อว่า ตามปกติฝีดาษลิงจะหายได้เองภายใน 2 – 4 อาทิตย์  อาการอาจจะเป็นมากกว่าในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง การรักษาต้องป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย และโรคแทรกซ้อน  ถือว่า ความรุนแรงของฝีดาษลิงน้อยกว่าไข้ทรพิษมาก  การจะบอกว่า ผู้ป่วยหายแล้วคือ ดูจากตุ่มหนอง ที่มือได้ตกสะเก็ด หรือ ยุบหายไป  และข้อมูลพบว่า คนหนึ่งคนจะเป็นโรคฝีดาษได้แค่ครั้งเดียวในชีวิต  ส่วนความสามารถในการแพร่กระจายโรคฝีดาษลิงน้อยกว่าโควิดอย่างมโหฬาร   ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยในแต่ลประเทศที่พบเป็นหลักสิบรายเท่านั้น แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องหาว่าสาเหตุว่ามันกระจายออกมาได้อย่างไร

 

6. ยังไม่พบ ฝีดาษลิงในประเทศไทย

ขณะนี้ยังไม่พบโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย  ส่วนความเสี่ยงของโรคนี้ในประเทศไทย หากกรณีที่มาจากลิง ยืนยันว่า ไมพบลิงในประเทศไทยเป็นฝีดาษลิงแน่นอน  ความเสี่ยงอื่นๆที่ควรเฝ้าระวัง คือ  ผู้ที่เดินทางมาจากศูนย์กลางการระบาด หรือ ประเทศที่พบโรค รวมไปถึง การนำเข้าสัตว์ต่างถิ่น ในตระกูลสัตว์ฟันแทะ ดังนั้นคนที่เลี้ยงสัตว์ในกลุ่มนี้จึงต้องพึงระวัง เพราะโรคนี้อยู่ในสัตว์ฟันแทะและสัตว์ไม่แสดงอาการเด่นชัด  แต่มันจะกลายเป็นพาหะนำไวรัสาติดคนได้เช่นกัน  ดังนั้น ในปัจจุบันไทยยังไม่มีพบผู้ป่วยและยังไม่ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคระบาดแต่อย่างใด

  

7. สนามบินสุวรรณภูมิเริ่มคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่จากจากกองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ตั้งด่านตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ สกัดโรคฝีดาษลิงแล้วโดยเฝ้าระวังเป็นพิเศษใน 3 ประเทศหลัก เช่น อังกฤษ สเปน โปรตุเกส ที่พบการระบาด

ส่วนในประเทศเอง นายแพทย์จักรรัฐ วงศ์พิทยาอานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า แจ้งทุกจังหวัดเพิ่มการเฝ้าระวังให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่มาคลินิกผิวหนัง หากเจอผู้เดินทางเสี่ยง จะขอส่งตรวจเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง และจะทราบผลใน 24-48 ชั่วโมง

ด้าน ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า ขณะนี้ที่ศูนย์จีโนมฯ กำลังพัฒนาการตรวจด้วยเทคโนโลยี Massarrar genotyping ที่สามารถตรวจหาเชื้อได้ภายใน 24 ชั่วโมง โดยจะตรวจหารหัสพันธุกรรมของไวรัส ที่ก่อโรคฝีดาษลิงจำนวน 40 ตำแหน่ง โดยคาดว่า จะใช้เวลาราว ๆ 2 สัปดาห์ น่าจะพัฒนาสำเร็จ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับหากพบการระบาดของโรคฝีดาษลิงในไทย

 

8. เป็นโรคทีมีวัคซีนป้องกัน คนไทยที่เคยปลูกฝีมาแล้วถือว่ามีภูมิในระดับหนึ่ง  

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ อธิบายว่า  คนไทยที่เกิดก่อน พ.ศ. 2517 เชื่อว่าเคยผ่านการปลูกฝีแล้ว ซึ่งนั่นคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลุ่มฝีดาษ ซึ่งสามารถเป็นภูมิป้องกันฝีดาษลิงได้ดีด้วยเช่นกัน หากติดเชื้อก็จะมีอาการไม่มากนัก  ซึ่งการปลูกฝีในประเทศไทย ได้ยกเลิกไปใน พ.ศ. 2523  เพราะองค์การอนามัยโลก ในขณะนั้นระบุว่าไม่มีโรคฝีดาษแล้ว   ทั้งนี้ในปัจจุบันมีบริษัทเอกชนทำการพัฒนาวัคซีนฝีดาษวานรแล้ว  และเริ่มใช้แล้วในสหรัฐอเมริกา และยุโรป  ดังนั้นจึงเบาใจได้ว่า มียาและวัคซีนที่รักษาอยู่ ไม่เหมือนกรณีโควิด 19 ที่ไม่มียาและวัคซีนมาก่อนเลย  

 

ตรวจหาเชื้อฝีดาษลิง
ภาพจาก AFP การตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิง


เมื่อได้ข้อมูลทั้ง 8 ข้อแล้วแม้ว่าจะมำให้เราสบายใจขึ้นได้บ้างเพราะอย่างน้อย ฝีดาษลิงก็เป็นโรคที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในทางการแพทย์ยังสามารถตรวจวินิฉัย รักษา ป้องกัน ได้มากกว่าโควิด 19  แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่ควรประมาท คงต้องจับตาและเฝ้าระวังกันต่อไป และคุณหมอ ยง ทิ้งท้ายว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังรุกป่า ไปยุ่งกับสัตว์ นำเข้าสัตว์แปลก ๆจากต่างถิ่นก็ยังมีโอกาสที่อนาคตยังมีโรคระบาดใหม่ๆเกิดขึ้นได้อีกแน่นอน  

 

 

 

advertisement

SPOTLIGHT