อินไซต์เศรษฐกิจ

'เวียดนาม' กับตำแหน่ง 'ประเทศผู้ส่งออกกาแฟ' เป็นอันดับ 2 ของโลก

25 ต.ค. 65
'เวียดนาม' กับตำแหน่ง 'ประเทศผู้ส่งออกกาแฟ' เป็นอันดับ 2 ของโลก

ระยะนี้อาจจะได้ข่าวความปั่นป่วนในตลาดการลงทุนของเวียดนามบ่อย ทั้งตลาดหุ้นร่วง คนแห่ถอนเงินที่ธนาคาร นักธุรกิจชื่อดังโดนจับ และอื่นๆอีกมากมาย ปัจจัยเหล่านี้คงจะต้องตามดูแนวทางการแก้ปัญหาของทางการเวียดนามต่อไป นักลงทุนน่าจะได้ต่หวังว่าจะไม่ทำให้ ดาวรุ่ง แห่งอาเซียนดวงนี้กลายเป็นดาวร่วงในอนาคต 

แต่วันนี้ ทีมงาน SPOTLIGHT พามาดูจุดแข็งสำคัญของเวียดนามอีกเรื่องที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นดาวรุ่งติดต่อกันมาหลายสิบปีแล้ว และเป็นตัวพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเวียดนามจากในอดีตมีประชาชนยากจนเป็นจำนวนมาก ใ
ห้หลุดพ้นจากความยากจนได้จริงๆ สิ่งนั้นก็คือ “การส่งออกกาแฟ” ของเวียดนาม 

 เมล็ดกาแฟที่ต้นกาแฟ

เวียดนามเป็นประเทศที่ส่งออกกาแฟมากเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยส่งออกกาแฟไปกว่า 80 ประเทศทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.3% ในตลาดโลก โดยตลาดยุโรป กาแฟเวียดนามครองส่วนแบ่งประมาณ 16% เลยทีเดียว พันธุ์กาแฟที่นิยมปลูกมากที่สุดคือ พันธุ์ Robusta แต่เวียดนามก็ขยายและพัฒนาพันธุ์กาแฟ Arabica ด้วย 

อุตสาหกรรมกาแฟของเวียดนามมีรายได้จากการส่งออกกาแฟมูลค่ากว่า 135,888 ล้านบาท ในปี 2021 ซึ่งคิดเป็น 3% ของ GDP ประเทศ และ 10% ของการส่งออกสินค้าเกษตร นี่คืออุตสาหกรรมหลักของประเทศที่ช่วยให้คนสามารถมีงานทำ ตัวเลขการส่งออกล่าสุดจากกรมศุลากรของเวียดนามพบว่า การส่งออกกาแฟสำหรับ 12 เดือน ในรอบการผลิตที่สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา (2021-2022) เวียดนามส่งออกกาแฟปริมาณ 1.73 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13.1% จากปีก่อน และมากที่สุดในรอบ 4 ปี คิดเป็นรายได้เข้าประเทศราว 3 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.14 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37%

จากแนวโน้มการส่งออกกาแฟของเวียดนาม คาดว่า มูลค่าจะสูงถึง 214,560 ล้านบาท ภายในปี 2030 และจะมีการลงทุนปลูกต้นกาแฟใหม่ 107,000 เฮกตาร์ ภายในปี 2025 

ขณะที่ข้อมูลจาก Statista อ้างอิงข้อมูลเดือนมกราคม 2022 เวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกกาแฟอันดับ 2 ของโลกรองเพียงบราซิลที่อยู่ในอันดับ 1   อันดับ 3 เป็นโคลัมเบีย อันดับ 4 อินโดนีเซีย และ อันดับ 5 ฮอนดูรัส  

เวียดนามส่งออกกาแฟมากเป็นอันดับ2ของโลก


เทียบความสำคัญของการส่งออกกาแฟเวียดนาม ได้กับการส่งออกข้าววของประเทศไทย  ซึ่งทั้งกาแฟและข้าวก็เป็นสินค้าที่ทั้งไทยและเวียดนามแข่งขันกัยอยู่ในตัว มูลค่าการข้าวของไทยปี 2564 มีปริมาณ 6.11 ล้านตัน  เพิ่มขึ้น 6.7%  มูลค่า 1.07 แสนล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าส่งออกข้าวของไทยปีที่แล้ว น้อยกว่ามูลค่าการส่งออกกาแฟของเวียดนาม แถมเวียดนามส่งออกข้าวเป็นอันดับ 3 ของโลก 6.24 ล้านตันเมื่อปีที่แล้วอีกด้วย 

ขณะที่การส่งออกกาแฟของไทยก็เรียกได้ว่าเราติด TOP 20 ของโลกเช่นกัน โดยเฉพาะไม่กี่ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกาแฟของไทยเติบโตขึ้นมาก ข้อมูลพบว่า ไตรมาสแรก (ม.ค. – มี.ค. 2565) ไทยส่งออกกาแฟสำเร็จรูป มูลค่า 27.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.85% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การส่งออกเมล็ดกาแฟดิบ มีมูลค่า 0.14 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 36.36% และส่งออกเมล็ดกาแฟคั่ว มูลค่า 0.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 25% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และแคนาดา แต่ไทยก็นำเข้ากาแฟ จากเวียดนามด้วยเช่นกัน 

ดังนั้นหากเทียบกาแฟ ต่อ กาแฟ อาจจะเรียกได้ว่า ไทยยังห่างกับเวียดนามหลายช่วงตัวเช่นกัน แต่ถ้าเทียบส่งออกข้าว เวียดนามจ่อก้นไทยตลอดเวลาก็ว่าได้ 

 

ประวัติศาสตร์กาแฟเวียดนามอันยาวนาน และ ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ

ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการแฟของเวียดนามมีมานานนับร้อยปี โดยราวปี 1857 เมล็ดกาแฟถูกนำเข้ามายังเวียดนามครั้งแรกโดยประเทศฝรั่งเศส  และพบว่าเวียดนามมีสภาพแวดล้อมในพื้นที่ราบสูงตอนกลางของประเทศเหมาะสำหรับการเพาะปลูกพืชต่างประเทศจำนวนมาก จึงเริ่มมีการนำกาแฟสายพันธุ์ Arabica เข้ามาก่อนในปี 1905 จากนั้นได้มีการแนะนำพันธุ์ Robusta ให้ชาวเวียดนามปลูกควบคู่กันไป และ มีการตั้งโรงงานแปรรูปกาแฟครั้งแรกในปี 1950 แต่การเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟก็ต้องชะงักลงไป เมื่อเกิดสงครามขึ้นในเวียดนาม เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในปี 1975 ฝ่ายรัฐบาลได้หันมาใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบนารวม ซึ่งระบบนี้ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก 

หลังจากนั้น 11 ปี ภาครัฐจึงได้ปรับนโยบายเกษตรแบบใหม่ และหันมาพึ่งพา อุตสาหกรรมกาแฟอีกครั้ง โดยกว่า 70% ของพื้นที่เพาะปลูกของภาครัฐอยู่ที่เมือง ดั๊กลั๊ก, ซาลาย และ กอนตูม ต่อมาเมื่อประเทศมีการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศใช้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ลดการแทรกแซงจากภาครัฐ ทำให้เศรษฐกิจมีความเสรี และ พัฒนาได้มากขึ้นอุตสาหกรรมกาแฟเริ่มโดดเด่นมากขึ้น ในช่วงปี 1995 และ 1999 อุตสาหกรรมกาแฟของเวียดนามก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ย 20-30% ต่อปี และทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 2.6 ล้านคน

กาแฟเวียดนาม

ทั้งนี้ตามยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟของเวียดนาม ในปี 2573 เวียดนามจะเพิ่มสัดส่วนกาแฟคั่ว และกาแฟสำเร็จรูปให้มากขึ้นเป็น 30-40%  จากปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นเมล็ดกาแฟ ทั้งนี้เพื่อขยายมูลค่าส่งออกเป็น 5,000 – 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ดังนั้นนโยบายที่ผลัดกันให้ตามเป้าหมาย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ 4 ด้าน
1.สร้างตราสินค้ากาแฟเวียดนาม
2. เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์กาแฟ
3. นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ ในการผลิตและการแปรรูปกาแฟ
4.เร่งเพาะปลูกต้นกาแฟใหม่ทดแทนต้นเดิมที่อายุมากแล้วพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

แม้ว่า อุตสาหกรรมกาแฟ จะสร้างรายได้ให้กับเวียดนามมาอย่างยาวนาน แต่ก็ใช่ว่าระหว่างทางเวียดนามจะไม่เจออุปสรรคเลย สินค้าเกษตรที่ยังต้องอาศัยธรรมชาติ ก็ยังมีความผันผวนในแง่การผลิตอยู่เป็นระยะ และที่สำคัญคือ เวียดนามต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมกาแฟต่อไปในอนาคตอีกมากเช่นกัน 


ที่มา 

https://www.bnomics.co/industry-coffee-production-in-vietnam-agricultural-market

https://www.statista.com/statistics/268135/ranking-of-coffee-exporting-countries/

https://www.ditp.go.th/contents_attach/161779/161779.pdf

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT