Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดสถิติ มีเงินเท่าไหร่ถึงมีความสุข? พบอิหร่านแพงสุด ไทยต้องมี 109,262 บาท/เดือน
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

เปิดสถิติ มีเงินเท่าไหร่ถึงมีความสุข? พบอิหร่านแพงสุด ไทยต้องมี 109,262 บาท/เดือน

18 ก.ย. 66
12:52 น.
|
3.5K
แชร์

เงินซื้อความสุขได้ไหม? คำถามนี้อาจมีคำตอบแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน เพราะสำหรับคนที่ยังมีเงินไม่พอใช้ซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน คำตอบนี้อาจจะเป็นใช่ แต่สำหรับคนที่มีทรัพย์สินรวยล้นฟ้าอยู่แล้วยังไม่สามารถหาความสุขได้ คำตอบนี้ก็อาจจะเป็นไม่

ดังนั้น ความสุขกับเงินจึงมีความเกี่ยวข้องกันในระดับหนึ่ง เพราะถึงจะไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง มันก็สามารถซื้อสิ่งที่บันดาลความสุขให้กับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ อาหาร บ้าน รถ หรือแม้แต่ความสบายใจที่มีเงิน

แน่นอนว่าในแต่ละที่ ระดับเงินที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขนี้ ก็แตกต่างกันไปอีก เพราะค่าครองชีพและความมั่นคงในการใช้ชีวิตในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน นิยามชีวิตที่เรียกว่า “ดี” ของแต่ละคนในแต่ละวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกันไปอีก

แถมรายได้สูงก็ไม่ได้แปลว่า ชีวิตจะดีเสมอไป เพราะจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัย Purdue และ Gallup World Poll ที่สำรวจความเห็นจากคน 1.7 ล้านคนจาก 164 ประเทศ พบว่า

ระดับ ‘รายได้ที่ทำให้ประชาชนของแต่ละประเทศมีความพึงพอใจสูงสุดในการใช้ชีวิต (satiation point)’ เฉลี่ยอยู่ที่ 60,000- 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,141,190 - 2,676,487 บาทต่อปีเท่านั้น และถ้าหากน้อยหรือมากกว่านี้ก็จะไม่มีความสุขเท่า

ทั้งนี้ ตัวเลขนี้ก็เป็นเพียงตัวเลขเฉลี่ยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าคนทั้งโลกจะรู้สึกว่าเงินในระดับนี้สามารถซื้อความสุขสูงสุดในสังคมที่ตัวเองอยู่ได้ทั้งหมด

ดังนั้น เพื่อหาระดับรายได้ที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนแต่ละประเทศขึ้นมา S Money บริษัทให้บริการแลกเปลี่ยนเงินจากออสเตรเลีย จึงนำ satiation point  ในแต่ละประเทศมาจาก Gallup World Poll ซึ่งอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนกลับมาเป็นค่าเงินท้องถิ่นผ่าน Purchasing Power Parity ของแต่ละประเทศจาก IMF และนำมาคำนวณค่าครองชีพและระดับเงินเฟ้อในแต่ละประเทศและเมือง

จากข้อมูลนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมา ก็คือสิ่งที่ S Money นิยามว่า Price of Happiness หรือ ‘ราคาของความสุข’ ในแต่ละประเทศ ประเทศไหนมีราคาของความสุขเท่าไหร่กันบ้าง? อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เงินซื้อความสุขได้ไม่เท่ากันในแต่ละที่? ทีม SPOTLIGHT ชวนไปหาคำตอบกัน

 

ความสุขราคาสูงในอิหร่าน-นอร์เวย์ แต่ด้วยคนละเหตุผล

จากการคำนวณของ S Money 5 ประเทศที่ต้องมีรายได้สูงถึงจะใช้ชีวิตในระดับที่มีความสุขสูงสุดได้ คือ อิหร่าน เยเมน ออสเตรเลีย ซิมบับเว และนอร์เวย์ โดยระดับ ‘รายได้ที่ทำให้ประชาชนของแต่ละประเทศมีความพึงพอใจสูงสุดในการใช้ชีวิต (satiation point)’ ของแต่ละประเทศมีดังนี้

  1. อิหร่าน 8,553,095 บาท ต่อปี หรือ 712,758 บาท ต่อเดือน
  2. เยเมน 6,142,385 บาท ต่อปี หรือ 511,865 บาท ต่อเดือน
  3. ออสเตรเลีย 4,324,398 บาท ต่อปี หรือ 360,366 บาท ต่อเดือน
  4. ซิมบับเว 4,220,075 บาท ต่อปี หรือ 351,673 บาท ต่อเดือน
  5. นอร์เวย์ 4,198,038 บาท ต่อปี หรือ 349,836 บาท ต่อเดือน

สิ่งที่น่าสนใจจากข้อมูลนี้ คือ แทนที่จะเป็นประเทศรายได้สูงที่ขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ประเทศที่ได้อันดับหนึ่งอย่าง ‘อิหร่าน’ กลับเป็นประเทศที่คนมีรายได้ไม่สูงนัก

โดยจากข้อมูลของ World Bank ระบุว่า  คนอิหร่านมีรายได้ต่อหัวหรือ GDP per capita เพียง 4,091.21 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีต่อคน หรือราว 145,919 บาท ซึ่งห่างไกลมากจากระดับรายได้ของ S Money ที่อยู่ที่ 239,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 8,553,095 บาท

ขณะที่ ประเทศอันดับ 3 หรือ 5 ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงและมีชื่อเสียงในด้านสวัสดิการรัฐและสิทธิมนุษยนชนอย่าง ‘ออสเตรเลีย’ และ ‘นอร์เวย์’ นั้น 

ความแตกต่างระหว่าง satiation point และ GDP per capita กลับไม่ได้แตกต่างนัก คือ satiation point ต่อ GDP per capita ที่ 121,191 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 60,443 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับออสเตรเลีย และ 117,724 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 89,154 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับนอร์เวย์

ตัวเลขนี้สะท้อนอะไร? สิ่งหนึ่งที่ S Money ระบุไว้ในผลการศึกษา คือ บ่งบอกว่าแต่ละประเทศนี้มี satiation point ที่สูงด้วยสาเหตุแตกต่างกัน 

โดย ออสเตรเลีย กับ นอร์เวย์มี satiation point สูงเพราะค่าครองชีพในประเทศเหล่านี้สูง และประชาชนมีคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วด้วยระบบประกันสังคม และสวัสดิการรัฐต่างๆ ประชาชนในประเทศ อย่าง อิหร่านและเยเมนต้องการระดับรายได้ที่สูงเพื่อมีชีวิตที่มีความสุขเพราะระบบสวัสดิการของรัฐไม่ดี ทำให้ประชาชนต้องการรายได้จำนวนมากเพื่อสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิต 

ดังนั้น ระดับ satiation point จึงสัมพันธ์กับทั้งระดับค่าครองชีพในประเทศ สภาพสังคมและประสิทธิภาพของระบบสวัสดิการสังคม และวัฒนธรรมและค่านิยมของคนในประเทศ

964973

ไทยติดอันดับ 54 พบต้องมีเงินถึง 109,262 บาท/เดือน

ย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทยกันบ้าง จากผลการศึกษาของ S Money ไทยเราถือได้ว่า อยู่ในกลุ่มต้นๆ ของโลก ด้วยระดับ satiation point ที่ 36,745 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,311,153 บาทต่อปี 109,262 บาท ต่อเดือน ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะ GDP per capita ของไทยอยู่ที่เพียง 7,066.19 ต่อปี หรือ  251,938 บาทเท่านั้น

แต่แม้จะเป็นระดับที่สูงเกินกว่า คนส่วนใหญ่ในประเทศจะเอื้อมถึง เมื่อมาคิดถึงสภาพความเป็นอยู่ในประเทศไทยก็ไม่น่าแปลกใจนักที่คนไทย จึงคิดว่า ต้องการรายได้ในระดับนี้จึงจะมีความสุขได้ นั่นก็เป็นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้นทุนในการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ ระบบขนส่งสาธารณะค่อนข้างแพง น้ำสะอาดต้องซื้อดื่ม นอกจากนี้ยังมี “ความเหลื่อมล้ำ” สูง ทำให้ประชาชนเกิดการเปรียบเทียบวิถีชีวิตกันได้ง่าย

จากหนังสือ The Psychology of Money หรือ “จิตวิทยาว่าด้วยเงิน” ของ Morgan Housel มนุษย์จะรู้สึกว่าตัวเองรวยหรือจน หรือมีความสุขกับสภาพชีวิตของตัวเองได้หรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับรายได้เพียงอย่างเดียว เพราะถึงแม้คนคนนั้นจะมีรายได้สูงเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ในสังคม คนนั้นก็อาจจะยังรู้สึก “จน” ได้หากไปอยู่ในสังคมที่มีแต่คนที่รวยกว่า และมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากกว่า

ดังนั้น ในประเทศที่คนส่วนใหญ่รายได้ต่ำ แต่มีคนส่วนหนึ่งรายได้สูง และมีการเข้าถึงสื่อที่ฉายภาพชีวิตหรูหราตามระบบทุนนิยม ประชากรส่วนมากจะมีความพึงพอใจในการใช้ชีวิตต่ำ และคิดว่าจะต้องมีรายได้ที่สูงจึงมีความสุขในชีวิตได้ เพราะผูกความสุขไว้ที่วัตถุและอำนาจในการซื้อสินค้าต่างๆ 

 

เงินอาจซื้อความสุขไม่ได้ ความสัมพันธ์และเพื่อนต่างหากที่สำคัญ

กลับมาที่คำถามว่าเงินซื้อความสุขได้หรือไม่? คำถามนี้ก็คงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะสำหรับคนที่มองว่าการมีเงินซื้อของเท่าไหร่ก็ได้มาปรนเปรอตัวเองเป็นความสุข คำตอบก็คงเป็นใช่

อย่างไรก็ตาม Marc Schulz รองผู้อำนวยการของ Harvard Study of Adult Development กล่าวว่า เงินไม่สามารถซื้อความสุขได้ แต่มันเป็นเพียงเครื่องมือที่สามารถให้ความรู้สึกปลอดภัย และทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองสามารถควบคุมความเป็นไปในชีวิตของตัวเองได้เท่านั้น และสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขจริงๆ แล้วคือ “เพื่อน” หรือการที่เรารู้สึกว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีหรือมีความหมายกับคนรอบข้าง

ดังนั้น เมื่อมาปรับใช้กับการใช้ชีวิตหรือการทำงาน สถานที่ทำงานเรามองหาไม่ควรเป็นสถานที่หรืองานที่ทำให้เรามีรายได้สูงที่สุด แต่เป็นงานที่ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมีความหมาย และเป็นที่ทำงานที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างมากที่สุด

ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่น่าคิด เพราะคนในสังคมส่วนมากจะมองว่าถึงแม้จะงานจะเครียดและทำลายสุขภาพจิตมากแค่ไหน หากรายได้สูงพอก็คุ้มที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจและเวลาในชีวิตลงไป เพราะมันทำให้มีเงินไปซื้อของหรือซื้อความมั่นคงที่ต้องการได้

แต่ถ้าหากมองลึกไปลงไป จะพบว่าตอนที่เราอยากได้ของ หรืออยากได้เงิน สิ่งที่เราอยากได้จริงๆ ไม่ใช่ของหรือเงิน แต่เป็นการเข้าถึงประสบการณ์ หรือความมั่นคงที่ทำให้เรามีภาพลักษณ์ สถานะ สังคม มีเพื่อน มีความสัมพันธ์ ให้เรามี “sense of belonging” ในสังคมใดสังคมหนึ่งมากขึ้น 

ดังนั้น หากเราไม่ทำทุกอย่างให้สมดุล และมุ่งแต่หาเงินโดยไม่คิดสานสัมพันธ์กับคนรอบตัวแล้ว สุดท้ายเราอาจจะพบว่าตัวเองมีเงิน มีสิ่งของ ที่ไม่เติมเต็มความต้องการด้านอื่นของเราเลย

 

ที่มา: S Money 

 

แชร์

เปิดสถิติ มีเงินเท่าไหร่ถึงมีความสุข? พบอิหร่านแพงสุด ไทยต้องมี 109,262 บาท/เดือน