Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จีนส่งออก 'น้ำมันเหลือหม้อไฟหมาล่า' รีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบิน
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

จีนส่งออก 'น้ำมันเหลือหม้อไฟหมาล่า' รีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบิน

16 ก.พ. 66
16:10 น.
|
1.6K
แชร์

สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของหม้อไฟหมาล่า หรือ สุกี้หม้อไฟของจีน ก็คือ น้ำมันงาปริมาณมหาศาลที่ทำให้น้ำซุปมีความกลมกล่อมหอมอร่อยมากยิ่งขึ้น แต่ถึงจะอร่อยแค่ไหน เมื่อผ่านมือลูกค้าไปแล้ว น้ำซุปเหล่านี้ก็จะกลายเป็นของเสีย และกลายเป็นมลพิษทางน้ำได้หากจัดการไม่เหมาะสม 

istock-1401103913

จากข้อมูลของ Bloomberg แค่ในเมืองเฉิงตูเมืองเดียว น้ำซุปหมาล่าก็ผลิตน้ำมันเหลือใช้จากน้ำซุปแล้วถึง 12,000 ตันต่อเดือน ซึ่งถ้ามีตัวเลขจากทั่วประเทศ จีนอาจมีน้ำมันเหลือใช้จากน้ำซุปหมาล่าที่คนบริโภคกันเป็นหลายแสนตันต่อเดือนเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้เอง บริษัทจีนบริษัทหนึ่งจึงเกิดไอเดียนำน้ำมันเหลือใช้จำนวนมากเหล่านี้มารีไซเคิล เพื่อเปลี่ยนให้มันเป็น “เชื้อเพลิงชีวภาพ” ที่สามารถเป็นเชื้อเพลิงให้กับยานพาหนะต่างๆ รวมไปถึงเครื่องบินที่ ถือว่าเป็นยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงและปล่อยมลพิษมากที่สุดในโลก

บริษัทดังกล่าวมีชื่อว่า Sichuan Jinshang Environmental Technology ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบนำน้ำมันที่ถูกใช้แล้วมาย้อมแมวขายซ้ำให้กับร้านอาหาร ซึ่งบริษัทก็ได้รวบรวมนำน้ำมันเหลือทิ้งจากร้านอาหารต่างๆ ในเมืองมาจัดการไปตามสมควร

เมื่อปี 2016 บริษัทก็เล็งเห็นโอกาสทำธุรกิจใหม่ เพราะในช่วงนั้นโรงกลั่นในต่างประเทศ โดยเฉพาะยุโรป เริ่มมีความต้องการน้ำมันเหลือใช้ไปผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) มากขึ้น ดังนั้น บริษัท Sichuan Jinshang จึงได้เริ่มส่งออกน้ำมันที่เก็บรวบรวมได้ส่งไปให้โรงกลั่นต่างประเทศรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิง

ในปัจจุบัน Sichuan Jinshang มีคู่ค้าที่สำคัญคือ บริษัท ‘Neste Oyj’ บริษัทกลั่นและผลิตเชื้อเพลิงยั่งยืนสำหรับเครื่องบินจากฟินแลนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก , ‘BP’ บริษัทด้านพลังงานสัญชาติอังกฤษที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก และ ‘Eni S.p.A.’ บริษัทด้านพลังงานจากอิตาลี

จากข้อมูลของ Bloomberg พบว่า ชาวจีนบริโภคน้ำมันมากกว่า 41 ล้านตันต่อปี แต่มีเพียง 3 ล้านตันเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่กำลังเป็นที่ต้องการ และมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เพราะเชื้อเพลิงชีวภาพปล่อยมลพิษน้อยกว่าเชื้อเพลิงถ่านหินและปิโตรเลียม ทำให้ธุรกิจการส่งออกน้ำมันเหลือทิ้ง หรือธุรกิจโรงกลั่นรีไซเคิลน้ำมันและชีวมวลต่างๆ เพื่อเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพยังมีพื้นที่ในเติบโตอีกมากในปัจจุบัน

 

จากน้ำมันเหลือทิ้งในหม้อไฟกลายมาเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพได้อย่างไร?

จากข้อมูลของปตท. “เชื้อเพลิงชีวภาพ” คือ เชื้อเพลิงที่ได้มาจากมวลชีวภาพ (Biomass) และขยะชีวภาพ (Biowaste) ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ น้ำมันจากพืชและสัตว์ ได้แก่ น้ำมันพืชบริสุทธิ์ รวมไปถึงถึง ‘น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว’ และ ไขสัตว์ โดยผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสามารถนำมวลชีวภาพเหล่านี้มาผ่านกรรมวิธีทางเคมีเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซลได้

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะส่งน้ำมันดังกล่าวไปให้โรงกลั่นในต่างประเทศได้ ทางบริษัทต้องแยกน้ำซุป และเศษอาหารอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำมันออกมาก่อน ซึ่งเมื่อได้น้ำมันในน้ำซุปออกมาแล้ว ผลิตภัณฑ์นั้นจะถูกเรียกว่า mixed industrial oil หรือ น้ำมันอุตสาหกรรมผสม ซึ่งจะถูกนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพต่อไป

istock-1345835865

 

น้ำมันใช้แล้วกำลังเป็นที่ต้องการมากเรื่อยๆ สำหรับผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ

ตามรายงานของ Bloomberg น้ำมันใช้แล้วและมวลชีวภาพอื่นๆ กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะมีบริษัทด้านพลังงานใหญ่ๆ จำนวนมากสนใจเข้ามาทำธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นที่ต้องการมากขึ้นในธุรกิจการบินต่างๆ ที่ต่างกำลังมองหาเชื้อเพลิง และพลังงานสะอาดมาทดแทนน้ำมันจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและปิโตรเลียมที่ทำให้อุตสาหกรรมการบิน เป็นผู้ร้ายทำลายสิ่งแวดล้อมโลกอยู่

โดยองค์กรต่างๆ ที่มีความสำคัญในธุรกิจการบิน เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) ก็ได้ออกแผนสนับสนุนให้สายการบินต่างๆ ในโลกเริ่มเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงสะอาดในการทำธุรกิจแล้ว นอกจากนี้ สหภาพยุโรปเองยังได้ออกกฎให้ทุกสายการบินในยุโรปเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดให้เป็น 5% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ทั้งหมดภายในปี 2030 และค่อยๆ เพิ่มเป็น 85% ภายในปี 2050

ทั้งนี้ เมื่อมีแนวทางและกฎดังกล่าวออกมา หลายสายการบินใหญ่ๆ ของโลก เช่น British Airways, Cathay Pacific Airways และ Delta Air Lines ก็ได้ออกมาประกาศเป้าหมายแล้วว่า จะเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงสะอาดขึ้นเป็น 10% ของการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมดภายในปี 2030

เป็นที่แน่นอนว่า มีดีมานด์เพิ่มขึ้นจากฝั่งสายการบิน บริษัทพลังงานใหญ่ๆ ที่ดั้งเดิมเคยทำธุรกิจน้ำมันก็เริ่มกระโดดมาทำธุรกิจพลังงานสะอาด รวมถึง การทำเชื้อเพลิงชีวภาพกันมากขึ้น ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ Neste Oyj คู่ค้าสำคัญของ Sichuan Jinshang ที่เพิ่งประกาศในปี 2020 ที่ผ่านมาว่า จะใช้เม็ดเงินลงทุนถึง 1.9 พันล้านยูโร หรือเกือบ 7 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มความสามารถของบริษัทในการผลิตพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าจะผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ใช้สำหรับเครื่องบินให้ได้ 1.25 ล้านตันภายในปี 2026

จากการคาดการณ์ของ Bloomberg คาดว่า ในอนาคตความต้องการน้ำมันชีวภาพ หรือมวลชีวภาพอื่นๆ อาจขึ้นสูงกว่าทรัพยากรที่มีด้วยซ้ำ เพราะภายในปี 2030 ไขมันใช้แล้วของคนทั้งโลกอาจคิดเป็นเพียง 4% ของดีมานด์สำหรับมวลชีวภาพเท่านั้น ซึ่งจะทำให้น้ำมันเหลือทิ้งเหล่านี้มีคุณค่ามากในอนาคต

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเหล่านี้ พบว่า ธุรกิจเก็บและส่งออกน้ำมันพืชและสัตว์ จึงเป็นธุรกิจที่ถือได้ว่ามีศักยภาพสูงในอนาคต และประเทศที่มีประชากรบริโภคน้ำมันเป็นปริมาณอย่างจีน รวมถึงไทยที่หม้อไฟหมาล่ากำลังได้รับความนิยม ก็มีโอกาสกระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดนี้ และสร้างรายได้จากการส่งออกน้ำมันเหลือใช้เช่นเดียวกัน

 

 

ที่มา: Bloomberg, PTT Expresso








แชร์
จีนส่งออก 'น้ำมันเหลือหม้อไฟหมาล่า' รีไซเคิลเป็นเชื้อเพลิงเครื่องบิน